(เพิ่มเติม) THAI เจรจากู้แบงก์เสริมสภาพคล่องหลังไร้สัญญาณจากภาครัฐ,มั่นใจมีกำไรปี 66

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 1, 2021 18:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) THAI เจรจากู้แบงก์เสริมสภาพคล่องหลังไร้สัญญาณจากภาครัฐ,มั่นใจมีกำไรปี 66

นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยว่า บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินภาคเอกชนเพื่อขอวงเงินสินเชื่อใหม่ 25,000 ล้านบาท คาดว่าจะสรุปและเบิกเงินกู้งวดแรกได้ในต้นปี 65

ทั้งนี้ เป็นไปตามแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทกำหนดให้มีการกู้วงเงินสินเชื่อใหม่ 50,000 ล้านบาท โดยส่วนหนึ่งจะมาจากภาครัฐ หรือเงินที่รัฐสนับสนุน หรือวงเงินที่รัฐค้ำประกัน จำนวน 25,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเป็นรูปแบบใด จึงต้องเจรจาขอกู้จากสถาบันการเงินเอกชนก่อน

(เพิ่มเติม) THAI เจรจากู้แบงก์เสริมสภาพคล่องหลังไร้สัญญาณจากภาครัฐ,มั่นใจมีกำไรปี 66
"ตามแผน เงินใหม่จากภาครัฐจะเข้ามา 25,000 ล้านบาท แต่ยังไม่มีความชัดเจน ผู้บริหารแผนฯ จึงเดินหน้าหาเงินกู้ใหม่จากสถาบันการเงินเอกชน 25,000 ล้านบาท ก็ได้นำมาใช้ในการดำเนินธุรกิจต่อ แต่งบดุลจะไม่ดีเท่าไร"นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

ปัจจุบัน THAI มีสภาพคล่องราว 6,500 ล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า เหตุผลที่สถาบันการเงินเอกชนจะปล่อยเงินกู้ใหม่ให้กับบริษัท เนื่องจากบริษัทสามารถลดต้นทุนออกไปได้มากแล้ว และผลการดำเนินงานก็ดีขึ้น หากกลับมาทำการบินได้จะเป็นสายการบินที่ทำกำไรได้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ หากเจ้าหนี้ปล่อยให้การบินไทยล้มละลาย โอกาสได้คืนหนี้คงไม่ถึง 10% แต่หากปล่อยสินเชื่อใหม่ก็จะมีโอกาสได้คืนทั้งหนี้เดิมและหนี้ใหม่ นอกจากนี้ การบินไทยก็ยังมีสินทรัพย์ที่สามารถนำไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้ ได้แก่ สำนักงานใหญ่ สำนักงานในต่างประเทศ และที่สำคัญ เจ้าหนี้สามารถแปลงหนี้เป็นทุน โดยมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 2.54 บาท ต่ำกว่ามูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) ที่ระดับ 10 บาท/หุ้น

ในส่วนภาครัฐ ควรพิจารณาให้ดีว่าสมควรจะนำเงินมาให้กับการบินไทยหรือไม่ เพราะไม่เช่นนั้นจะเสียโอกาสที่จะมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาต่ำ โดยยอมรับว่าหากได้รับเงินในส่วนภาครัฐจะทำให้งบดุลของบริษัทดูดี และส่วนผู้ถือหุ้นจะกลับมาเป็นบวก จากที่ติดลบไปมาก ซึ่งจะทำให้หุ้น THAI มีโอกาสกลับมาซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ ผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ THAI กล่าวเสริมว่า วงเงินสินเชื่อใหม่ที่ได้รับจากสถาบันการเงินเอกชน 25,000 ล้านบาท จะนำไปคืนค่าตั๋วโดยสารค้างจ่าย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นลูกค้าต่างประเทศ จำนวน 12,000 ล้านบาท ซึ่งหากไม่จ่ายคืนจะมีผลกระทบต่อการขายตั๋วและเอเย่นต์ขายตั๋ว และจ่ายค่าชดเชยให้กับพนักงานที่สมัครใจลาออก จำนวน 4,000 ล้านบาท

ส่วนที่เหลือก็เพียงพอที่ดำเนินธุรกิจได้ตามแผน เพราะค่าใช้จ่ายที่สำคัญลดลงไปมาก โดยเฉพาะค่าเช่าเครื่องบินได้เจรจาทำสัญญาใหม่ (LOI) แล้ว 54 ลำ บริษัทจะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าตายตัวที่ 28,000 ล้านบาท/ปี แต่ให้จ่ายค่าเช่าตามชั่วโมงบินไป 2 ปีนับตั้งแต่ 14 ก.ย.63 จนถึงสิ้นปี 65 ทำให้บริษัทลดภาระลงและมีเวลาเพียงพอปรับตัวพลิกฟื้นธุรกิจ โดยคาดว่าเงินกู้ใหม่น่าจะลงตัวในเดือน ธ.ค. 64 และพร้อมจะเบิกจ่ายเงินงวดแรกได้ตั้งแต่เดือน ม.ค.65 เป็นต้นไป

ในฝั่งภาครัฐ กระทรวงการคลัง ที่เป็นผู้ถือหุ้นเดิมมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนในราคาหุ้นละ 2.54 บาทหากได้เงินทุนใหม่จากภาครัฐ 25,000 ล้านบาทก็จะทำให้ปรับโครงสร้างทุนได้ตามแผน แต่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเข้ามาในรูปแบบใด อย่างไรก็ตาม หากรัฐเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนเต็มจำนวนก็จะมีสัดส่วนถือหุ้นไม่เกิน 40% ดังนั้น การบินไทยก็คงเป็นบริษัทเอกชน จะไม่กลับมาเป็นรัฐวิสาหกิจอีก

"เป็นสิทธิของภาครัฐที่จะเข้ามามีบทบาทให้เงินกู้ใหม่ 25,000 ล้านบาทและ/หรือการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนก็ให้ภาครัฐเป็นผู้ตัดสินใจ เราค่อนข้างมั่นใจว่ากิจการการบินไทยดีขึ้น และราคาหุ้นเราก็น่าจะดี... ในส่วนคณะผู้ทำแผนฯก็มีตัวแทนจากภาครัฐที่มาจากกระทรวงการคลัง มองเห็นความสำคัญของภาครัฐที่มีส่วนธุรกิจสายการบินแห่งชาติในสายการบินไทยนี้อยู่ แผนงานเรามีเป้าหมายหลัก ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ บทบาทภาครัฐจะมีส่วนสำคัญแม้ว่าเราไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจ การที่ภาครัฐมีบทบาทการบินไทยในฐานะผู้ถือหุ้นสำคัญก็ยังคงมีความสำคัญ ได้เห็นเราเป็นสายการบินแห่งชาติ คาดว่าไม่เกินเดือน 6 แต่ต้องมีความชัดเจนก่อนที่ทำส้ญญาเงินกู้กับภาคเอกชน น่าจะเป็นกลางปี 65 ก็น่าจะมีการปรับโครงสร้างทุนได้เรียบร้อยในปีหน้า"นายศิริ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์ ยังกล่าวอีกว่า ผลการดำเนินงานของ THAI คาดว่าจะค่อยๆ ดีขึ้นตามการฟื้นตัวของธุรกิจการบิน ซึ่งในงวด 6 เดือนแรกปี 64 มีผลขาดทุนลดลง โดยในปี 65 คาดว่าคงขาดทุนลดลง หรืออาจมีกำไร ขึ้นกับสถานการณ์การบินว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้เร็วแค่ไหน และในปี 66 เชื่อมั่นว่าบริษัทจะกลับมามีกำไร

โดยในปี 65 บริษัทจะรับมอบเครื่องบินใหม่ โบอิ้ง 777-300ER เข้ามาอีก 3 ลำซึ่งสั่งก่อนเข้าแผนฟื้นฟูฯ และจะเพิ่มความถี่ แต่ไม่เพิ่มจุดหมายปลายทาง โดยในระยะสั้น ช่วง 1-2 ปีจะใช้เครื่องบิน 58 ลำทำการบินก่อนที่จะขยายฝูงบิน ที่จะหาเช่าเครื่องบินเพิ่มขึ้นต่อไป ส่วนตารางบินฤดูหนาว (พ.ย. 64- มี.ค.65) ได้ปรับเพิ่มทำการบินจาก 10 เที่ยวบิน/สัปดาห์เป็น 32 เที่ยวบิน/สัปดาห์ โดยลอนดอน แฟรงเฟิร์ต โตเกียว ปรับมาบินทุกวันแล้ว

ส่วนค่าใช้จ่ายในช่วงนี้ก็ยังมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับพนักงานที่ต้องจ่ายเงินชดเชยซึ่งจะหมดในเดือน ก.ค. 65 ก็เชื่อว่าผลประกอบการจะเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ

ขณะเดียวกัน บริษัทก็ยังเดินหน้าขายเครื่องบินจำนวน 42 ลำ คาดว่าจะได้รับเงินทั้งหมด 8,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้ได้เซ็นสัญญาขายออกไปแล้ว 11 ลำ โดยอยู่ขั้นตอนการอนุมัติของ รมว.คมนาคม คาดว่าจะบันทึกรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/64 บางส่วนและที่เหลือไตรมาส 1/65

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เริ่มแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัทสามารถลดค่าใช้จ่ายกว่า 48,000 ล้านบาท ซึ่งค่าใช้จ่ายจำนวนดังกล่าวคิดเป็น 77% ของเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแผนปฏิรูปธุรกิจ โดยมีโครงการสำคัญๆ ครอบคลุมด้านต่างๆ และส่งผลให้ปรับลดต้นทุนการดำเนินงานได้อย่างมีนัยสำคัญ อาทิ ด้านบุคลากร 16,000 ล้านบาท ด้านประสิทธิภาพฝูงบินและการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง 12,000 ล้านบาท การเจรจาปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินและซ่อมบำรุงเครื่องยนต์ 11,300 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพการจัดซื้อจัดจ้าง 1,100 ล้านบาท ด้านการปรับปรุงกระบวนการปฏิบัติการบิน 719 ล้านบาท ด้านการเพิ่มประสิทธิภาพฝ่ายช่าง 802 ล้านบาท และด้านอื่นๆ 3,200 ล้านบาท

ปัจจุบัน บริษัทมีพนักงานทั้งสิ้น 14,900 คน จากปี 62 ที่มีจำนวนบุคลากรรวมแรงงานภายนอกจำนวน 29,500 คน ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายบุคลากรลดลงจากเดือนละกว่า 2,600 ล้านบาท เหลือเดือนละกว่า 600 ล้านบาท จำนวนผู้บริหารทุกระดับลดลงในสัดส่วน 35% ส่งผลให้ประสิทธิภาพและความคล่องตัวในการทำงานสูงขึ้น

จากจำนวนพนักงานที่ลดลง ทำให้บริษัทสามารถกระชับพื้นที่ทำงานในส่วนของสำนักงานใหญ่และพื้นที่สำนักงานสาขาในต่างจังหวัด สามารถนำพื้นที่ว่างและไม่ได้ใช้งานมาหาประโยชน์ในการสร้างรายได้และเสริมสภาพคล่องทั้งโดยการให้เช่าและจำหน่าย อาทิ การให้เช่าอาคารสำนักงานใหญ่ การจำหน่ายอาคารและที่ดินสำนักงานหลักสี่ หลานหลวง ภูเก็ต และที่ดินเปล่าในจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ยกระดับระบบประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ยกเลิกและปรับลดสิทธิประโยชน์ของผู้บริหารและพนักงาน อาทิ ยกเลิกสิทธิบัตรโดยสารกรรมการบริษัทฯ และพนักงานเกษียณ การจ่ายภาษี สิทธิการปรับชั้นโดยสาร (Upgrade) พนักงาน ค่าพาหนะผู้บริหาร ค่ารักษาพยาบาล โดยปรับให้เป็นไปตามสิทธิประกันสังคม เงินชดเชยวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ใช้ไม่หมดภายในระยะเวลาที่ระเบียบฯ กำหนด (Vacation Compensation) ปรับเปลี่ยนโครงสร้างค่าตอบแทนรวมถึงหลักเกณฑ์การคำนวณค่าทำงานล่วงเวลา ลดสิทธิบัตรโดยสารพนักงาน เป็นต้น

ในส่วนการปรับโครงสร้างหนี้ บริษัทขยายเวลาการชำระหนี้ออกไป 5-7 ปี โดยการพักชำระหนี้ เงินต้นและดอกเบี้ย 2-3 ปี ปรับลดภาระหนี้ในส่วนดอกเบี้ยตามภาระผูกพันเดิมเหลือร้อยละ 1.5 ปรับลดภาระผูกพันตามสัญญาเช่า/เช่าซื้อเครื่องบิน และเพิ่มทางเลือกในการชำระหนี้ ตามกรอบการดำเนินการที่ได้ระบุไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ

ทั้งนี้ หนี้สิน 1.1 แสนล้านบาท ประกอบด้วย หนี้หุ้นกู้ 7 หมื่นล้านบาท และหนี้ธนาคาร 4 หมื่นล้านบาท

นายปิยสวัสดิ์ กล่าวอีกว่า ในเดือนต.ค.64 บริษัทมีรายได้จากการดำเนินงานสูงสุดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อเดือนเม.ย.63 สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นฟูของธุรกิจการบิน โดยระหว่างเดือน เม.ย.63-ต.ค.64 บริษัทมีรายได้จากเที่ยวบินขนส่งสินค้าทางอากาศ รวมกว่า 10,000 ล้านบาท รายได้จากหน่วยธุรกิจการบินในการให้บริการลูกค้ากว่า 80 สายการบินเป็นเงินรวม 4,800 ล้านบาทและมีแผนงานขยายธุรกิจ Master Franchise ร้าน Puff & Pie ไปทั่วประเทศ

จากการเปิดประเทศตามนโยบายรัฐบาล บริษัทได้ปรับเพิ่มเส้นทางบินที่ให้บริการเริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค.64-26 มี.ค.65 โดยภายในไตรมาสที่ 1/65 จะมีเส้นทางบินในทวีปเอเชีย 19 จุดบิน ในทวีปยุโรป 9 จุดบิน ในทวีปออสเตรเลีย 1 จุดบิน และภายในประเทศโดยสายการบินไทยสมายล์ 14 จุดบิน ด้วยบริการเต็มรูปแบบ (Full Services)


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ