นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม พร้อมด้วย นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคมและคณะผู้บริหารกระทรวงคมนาคม การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) โดย นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ ประธานคณะกรรมการ และนายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ.และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) โดยนายปลิว ตรีวิศวเวทย์ ประธานกรรมการบริหาร นายพงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล กรรมการบริหาร เพื่อหารือความเป็นไปได้ในการกำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนจากกรณีการปรับขึ้นอัตราค่าผ่านทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ตามสัญญาสัมปทานในวันที่ 15 ธ.ค.64
อนึ่ง ภายใต้สัญญาสัมปทาน ในวันที่ 15 ธ.ค.64 ค่าผ่านทางศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครปรับขึ้นดังนี้ รถ 4 ล้อ ปรับขึ้นจาก 50 บาทเป็น 65 บาท รถ 6-10 ล้อ ปรับขึ้นจาก 80 บาท เป็น 105 บาท และรถมากกว่า 10 ล้อ ปรับขึ้นจาก 115 บาท เป็น 150 บาท
นายศักดิ์สยาม เปิดเผยหลังการหารือว่า เนื่องจากในปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอันเป็นผลกระทบมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนผู้ใช้ทางพิเศษ ผลการประชุมครั้งนี้ เห็นควรให้ กทพ.และ BEM กำหนดมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ซึ่งนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้แสดงความห่วงใยต่อกรณีการปรับค่าผ่านทางดังกล่าว จึงขอให้ทาง BEM พิจารณาให้ความร่วมมือกับภาครัฐ และช่วยเหลือประชาชนโดยการออกมาตรการส่งเสริมการตลาด หรือชะลอการขึ้นค่าผ่านทางไว้ก่อน
ทั้งนี้ ผู้แทนจาก BEM ได้ตอบรับแนวทางดังกล่าว โดยจะออกเป็นลักษณะของการส่งเสริมการตลาด (Promotion) ในรูปแบบผู้ใช้ทางที่ใช้คูปองชำระค่าผ่านทาง จะได้อัตราราคาเดิม เป็นระยะเวลา 1 ปี (15 ธ.ค.64-15 ธ.ค.65) โดยทาง BEM จะทำหนังสือยืนยันมาตรการดังกล่าวแจ้งมายัง กทพ.เพื่อประชาสัมพันธ์ผู้ใช้ทางพิเศษในช่วงดังกล่าวต่อไป
ที่ประชุมฯ ยังได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบริเวณหน้าด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษบนทางพิเศษของ กทพ.ที่อยู่ในการกำกับดูแลตามสัญญาสัมปทานของ BEM จำนวน 3 สายทาง ประกอบด้วย ทางพิเศษสายศรีรัช ทางพิเศษสายอุดรรัถยา และทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร โดยการนำเทคโนโลยีระบบจัดเก็บค่าผ่านทางพิเศษอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (Multi-Lane Free Flow : M-Flow) มาใช้ ทั้งนี้ ได้มีข้อสรุปให้ กทพ. จัดทำ action plan ให้ชัดเจนเพื่อเร่งรัดการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อให้บริการในระบบขนส่งสาธารณะ โดยทางบริษัท BEM ยินดีให้ความสนับสนุนกระทรวงคมนาคมในการพัฒนาระบบตั๋วร่วมเพื่อใช้ในระบบขนส่งสาธารณะที่กระทรวงคมนาคมดำเนินการอยู่ โดยในระยะแรก ได้มีการพัฒนาระบบ EMV Contactless ซึ่งเป็นการหักเงินผ่านระบบบัตรเครดิตและบัตรเดบิตของธนาคาร ทั้งในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน และระบบรถไฟฟ้าสายสีม่วง พร้อมบูรณาการร่วมกับรถโดยสารของ ขสมก. และทางพิเศษ และจะได้มีการขยายผล ให้ครอบคลุมระบบขนส่งสาธารณะของกระทรวงคมนาคม รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนรับทราบในระยะต่อไป