บลจ.พรินซิเพิล ออกกองทุนใหม่รับเศรษฐกิจเวียดนามแกร่งเปิดขาย IPO 10–17 พ.ย.

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 4, 2021 11:05 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บลจ.พรินซิเพิล ออกกองทุนใหม่รับเศรษฐกิจเวียดนามแกร่งเปิดขาย IPO 10–17 พ.ย.

นายศุภกร ตุลยธัญ, CFA ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมเปิดตัว "กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม ไทย ออพพอร์ทูนิตี้"หรือ Principal Vietnam Thai Opportunity Fund (PRINCIPAL VTOPP) ในวันที่ 10?17 พ.ย. 64 นี้ โดยกองทุน PRINCIPAL VTOPP มีนโยบายลงทุนโดยตรงในหุ้นเวียดนาม อีกทั้งขยายโอกาสการลงทุนเพิ่มเติมในบริษัทไทยและบริษัทต่างชาติที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนามและได้รับประโยชน์จากการเติบโตไปกับเศรษฐกิจเวียดนาม

บริษัทได้วางกลยุทธ์การลงทุนตรงและเลือกหุ้นแบบ High Conviction ที่มีศักยภาพเป็นรายตัว เน้นสร้างผลตอบแทนแบบ Total Return รวมถึงมีความได้เปรียบในการวิเคราะห์หุ้นลงทุน โดยทีมบริหารกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญทั้งทีมไทยและเวียดนาม รวมถึงระดับภูมิภาค เพื่อคัดเลือกธุรกิจและบริษัทที่มีศักยภาพดี โดยเฉพาะนักวิเคราะห์การลงทุนชาวเวียดนาม ทำให้เราได้ข้อมูลจริงและทันสถานการณ์ภายในประเทศ

"ด้วยกลยุทธ์การลงทุนของกองทุน PRINCIPAL VTOPP ในการลงทุนหุ้นคุณภาพเวียดนาม และการคัดเลือกหุ้นบริษัทชั้นนำระดับโลกและไทยที่มีการขยายการลงทุนในเวียดนามและมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี ประกอบกับจุดแข็งของประเทศเวียดนามที่มีเศรษฐกิจที่เติบโต มีศักยภาพการเป็นฐานการผลิตของโลก กระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้าต่อเนื่อง มีการเติบโตของสังคมเมือง (Urbanization) สะท้อนรายได้ประชากรที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งมีการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ได้ดีและพร้อมที่จะกลับมาเปิดประเทศ ดังนั้น เราเชื่อว่า กองทุนเปิดพรินซิเพิล เวียดนาม ไทย ออพพอร์ทูนิตี้ (PRINCIPAL VTOPP) เป็นหนึ่งกองทุนที่น่าสนใจที่จะสามารถสร้างผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับนักลงทุนได้ในอนาคต" นายศุภกร กล่าว

นายศุภกร กล่าวว่า เวียดนามถือเป็นประเทศที่น่าสนใจต่อการลงทุนในตลาดหุ้น เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจมีศักยภาพที่จะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาวจึงเป็นโอกาสการลงทุนภายใต้ธีมหลัก ได้แก่ 1. เวียดนามมีศักยภาพเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของโลก เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกระแสเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก จากการลงทุนโดยตรงและได้รับประโยชน์จากการเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของบริษัทชั้นนำระดับโลก 2. การขยายตัวของสังคมเมือง (Urbanization) ส่งผลให้ประชากรมีรายได้เพิ่มขึ้นและสนับสนุนการบริโภคในภาคเอกชนมีแนวโน้มเติบโตได้ดี และ 3. ตลาดหุ้นเวียดนามมีโอกาสถูกนำไปคำนวณในดัชนี MSCI Emerging Markets ในอีก 5 ปีข้างหน้า

โอกาสการเติบโตของเวียดนามได้รับการสนับสนุนจาก 4 ปัจจัย ได้แก่ 1. GDP ที่จะเติบโตได้ดีในระยะข้างหน้า 2. นโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 3. การเคลื่อนย้ายฐานการผลิตของบริษัทต่างชาติ และ 4. การเพิ่มขึ้นของประชาชนชั้นกลาง

ปัจจุบันเวียดนามถือเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ของโลกที่ได้รับประโยชน์จากสงครามทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และดึงดูดความสนใจจากบริษัทต่างชาติด้วยข้อตกลงสิทธิประโยชน์ทางการค้าระหว่างประเทศที่มีอยู่มาก เช่น CPTPP และ RCEP เป็นต้น รวมถึงมีแรงงานที่มีทักษะด้วยค่าแรงที่ต่ำกว่าอีกหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนส่งผลให้เวียดนามมีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment หรือ FDI) ต่อ GDP ในอัตราที่สูงกว่าประเทศอื่นๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และจีน เป็นต้น นอกจากนี้สัดส่วนภาคการผลิตต่อ GDP ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้อีกในอนาคต

ขณะที่รัฐบาลเวียดนามมีนโยบายให้ความสำคัญกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเป็นลำดับแรกจากแผนพัฒนาพลังงานแห่งชาติของเวียดนาม (PDP) ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการผลิตพลังงานนับจากปี 63-68 มีอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 13.2% โดยเน้นไปที่การลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก ด้านอัตราการจ้างงานในภาคการผลิตและบริการก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก สนับสนุนให้เกิดการขยายตัวของสังคมเมืองอย่างรวดเร็วและกลายเป็นประเทศที่มีชนชั้นกลางเติบโตเร็วที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในภูมิภาคอาเซียน มีสัดส่วนการบริโภคของภาคเอกชนต่อ GDP อยู่ที่ 68% สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน (รองจากฟิลิปปินส์ที่สัดส่วน 73% ต่อ GDP) จึงทำให้ธุรกิจค้าปลีกเติบโตอย่างรวดเร็วจากที่มีมูลค่าตลาดรวม 2.5 ล้านล้านบาทในปี 53 เป็น 3.3 ล้านล้านบาท ในปี 63 และกำลังเปลี่ยนผ่านจากร้านค้าแบบดั้งเดิมสู่ร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด) ส่งผลให้เวียดนามมีโอกาสก้าวสู่เศรษฐกิจที่มีรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income)

"เวียดนามเป็นหนึ่งในประเทศที่มี GDP เติบโตเร็วที่สุดในภูมิภาคเอเชีย และเป็นฐานการผลิตแห่งใหม่ในภูมิภาคเอเชียที่น่าจับตามอง โดยมีบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่ชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมไฮเทคเข้าไปลงทุนหลายราย อาทิ LG, Panasonic, FOXCONN, Samsung Electronics, Hoya ฯลฯ และมีผู้ประกอบการไทยที่ขยายการลงทุนไปในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง" นายศุภกร กล่าว

นอกจากหุ้นเวียดนามที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีในช่วงปีที่ผ่านมา ยังมองเห็นโอกาสการลงทุนในบริษัทระดับโลก เอเชียและไทยที่ดำเนินธุรกิจในเวียดนาม จะได้รับประโยชน์จาก FDI และสิทธิพิเศษต่างๆ เช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษี การผ่อนคลายกฎระเบียบการค้าการลงทุนหลายๆ ด้านจากภาครัฐ ทำให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการบริหารจัดการต้นทุนที่ต่ำ และการขยายกิจการให้เติบโต โดยบริษัทเหล่านี้ได้เริ่มเข้าไปลงทุนและขยายธุรกิจการดำเนินงานมากว่า 10 ปี และเป็นบริษัทชั้นนำระดับโลก เช่น Samsung Electronics หนึ่งในผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก ที่มีฐานการผลิตหลักด้านอุปกรณ์และโทรศัพท์มือถืออยู่ในเวียดนาม

โดยเตรียมกลับมาผลิตอย่างเต็มรูปแบบในเดือนพฤศจิกายน 64 และเตรียมที่จะผลิตชิปให้กับเทสล่า, Hoya บริษัทเทคโนโลยีทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกที่มีกำลังการผลิตสินค้าในเวียดนามคิดเป็นสัดส่วน 17% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ในขณะที่ยังมีบริษัทสัญชาติไทยที่ขยายการลงทุนในเวียดนามอย่างต่อเนื่อง เช่น เอสซีจี เคมิคอลส์ ที่ลงทุนโครงการปิโตรเคมีครบวงจร, บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง ที่มีสัดส่วนรายได้จากเวียดนามคิดเป็น 12% ของยอดขายในปีที่ผ่านมา, บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ ที่กำลังดำเนินการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งที่ 2 ในเวียดนาม เป็นต้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ