ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)เตรียมกำหนดทิศทางการแปรรูป หลังมีความชัดเจนทั้งโครงสร้างการบริหาร และการแสวงหากำไร ก่อนจะยกระดับบทบาทตลาดทุนให้ท้นกระแสโลกาภิวัฒน์ โดยคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ มีมติจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศเข้ามาศึกษารูปแบบที่เหมาะสมกับตลาดหุ้นไทย
"ตลาดหลักทรัพย์ยังมีความกังวลว่าการแปรรูปอาจจะก่อให้เกิดความเสี่ยงทางด้านธุรกิจ นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการเข้ามาแสวงหาผลกำไรจากการแปรรูป งานพัฒนาตลาดทุนที่จะต้องดำเนินการจะไปอยู่กับหน่วยงานใด"นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท. กล่าว
ปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจตลาดหลักทรัพย์รุนแรงมากขึ้นมีหลายประเด็น เช่น แนวโน้มการดึงบริษัทข้ามชาติจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นทางเลือกอีกทางของบริษัทที่ต้องการสร้างสภาพคล่องและสร้างมูลค่าของบริษัทให้สูงขึ้น รวมถึงการสร้างธุรกรรมข้ามตลาด(Cross Border Trading)จากเดิมที่เคยกระจุกตัวอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันได้เข้ามาในตลาดหุ้นเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ทางด้านผู้ลงทุน กองทุนทางการเงินขนาดใหญ่และสถาบันตัวกลางในธุรกิจหลักทรัพย์จะมีบทบาทมากขึ้น ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องเร่งปรับตัวตามกระแสการเพิ่มประสิทธิภาพ โดยการขยายธุรกิจให้มีความครบวงจร และการควบคุมในเรื่องต้นทุนของธุรกรรมที่เกิดขึ้น ในขณะเดียวกันจะต้องปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อจะทำให้จากที่เป็นผู้ควบคุมต้องการเป็นผู้อำนวยการให้ธุรกิจในตลาดทุนเติบโตได้เร็วขึ้น และต้องพยายามลดการปกป้องธุรกิจหลักทรัพย์ในประเทศ
ประเด็นที่ค่อนข้างเป็นห่วง คือ การทำธุรกรรมระหว่างบริษัทหลักทรัพย์มากขึ้นโดยไม่ต้องผ่านตลาดหลักทรัพย์ที่ควรจะเป็นศูนย์กลางสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ ในส่วนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนและสินค้าในตลาดทุนที่เปลี่ยนไป จะได้เห็นการขยายตัวของนักลงทุนเก็งกำไร (เฮดจ์ฟันด์) กองทุนส่วนบุคคล อย่างมาก จนในที่สุดสินค้าในตลาดหลักทรัพย์ฯจะไม่ใช่เพียงหุ้นของบริษัทจดทะเบียน แต่จะมีหลักทรัพย์ใหม่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นตราสารอนุพันธ์, ETF ซึ่งถือว่าเป็นสินค้าที่ต้องเร่งสร้างขึ้นเพื่อเพิ่มความน่าสนใจ
นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้บริหารสถาบันวิจัยเพื่อตลาดทุน กล่าวถึงภาพรวมของตลาดหุ้นไทยพบว่าผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึงต.ค.มีผลตอบแทนประมาณ 33.5% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค ขณะที่หากพิจารณผลตอบแทนตั้งแต่ปี 2543ถึงปัจจุบันพบว่าตลาดหุ้นสร้างผลตอบแทนให้ถึง 491%
ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไหลเข้าของเงินจากต่างประเทศ ซึ่งในปีที่ผ่านมามียอดซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติกว่า 8.8 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีนี้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยประมาณ 1.1 แสนล้านบาท ทำให้มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปสูงกว่าระดับ 7 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 91% เมื่อเทียบกับจีดีพีของประเทศ
ทั้งนี้ แม้ว่ามาร์เกตแคปจะปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่หากพิจารณาถึงเดือนกันยายนพบว่า ตลท.มีขนาดมาร์เกตแคปอยู่ในอันดับ 35 เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นทั่วโลก ขณะที่จำนวนบริษัทจดทะเบียนซึ่งอยู่ที่ 520 บริษัทจัดอยู่ในอันดับที่ 22 เมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาค
"สัดส่วนน้ำหนักของตลาดหุ้นไทยในดัชนี MSCI Asia Ex Japan ตลาดหุ้นไทยมีน้ำหนักเพียง 2% ซึ่งถือว่าอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำมาก"นายกอบศักดิ์กล่าว
สำหรับพฤติกรรมต่อการลงทุนในตลาดหุ้นของประชาชนในประเทศพบว่านักลงทุนที่ลงทุนในหุ้นรวมถึงกองทุนมีเพียง 9% ขณะที่มากกว่า 90% ของประชากรในประเทศที่ยังไม่สนใจที่จะลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ โดยสัดส่วนบัญชีนักลงทุนต่อจำนวนประชากรไทย ณ สิ้นปี 2548 อยู่ที่ประมาณ 0.44% แสดงให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ยังเลือกที่จะลงทุนผ่านการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์แม้ว่าจะได้รับอัตราผลตอบแทนในระดับที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับผลตอบแทนจากตลาดทุน
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/นิศารัตน์/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--