นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการ แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดปริมาณการขายเฉลี่ยปี 65 จะเติบโตดีกว่าปีนี้ที่มีเป้าหมายเฉลี่ย 4.17 แสนบาร์เรล (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) /วัน เนื่องจากบริษัทจะเริ่มรับรู้ปริมาณการขายจากโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และโครงการ G2/61 (แหล่งบงกช) ประกอบกับการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ รวมถึงการรับรู้ปริมาณขายของโครงการซาบาห์แปลงเอชในประเทศมาเลเซียเข้ามาเต็มปี
ขณะที่ในปีนี้ล่าสุด บริษัทปรับเพิ่มเป้าปริมาณขายเฉลี่ยมาอยู่ที่ระดับ 4.17 แสนบาร์เรล/วัน จากเดิมคาดทำได้ 4.12 แสนบาร์เรล/วัน หลังมองว่าในช่วงไตรมาส 4/64 ปริมาณการขายจะปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/64 เนื่องจากไม่มีการปิดซ่อมบำรุงตามแผนงาน ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยของทั้งปีจะอยู่ที่ประมาณ 5.7 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู และต้นทุนต่อหน่วยที่ระดับ 28-29 เหรียญสหรัฐ รวมถึงอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA Margin) อยู่ที่ระดับ 70-75%
ส่วนทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกในปัจจุบันที่ยังอยู่ในระดับสูง เป็นไปตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น หลังเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มฟื้นตัว ขณะที่กำลังการผลิตของกลุ่มโอเปกพลัสยังทรงตัว แต่คาดภายในช่วงต้นปี 65 จะเห็นราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลงสู่ระดับ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล หลังคาดว่าดีมานด์และซัพพลายจะเริ่มกลับเข้าสู่สมดุล หลังจากกลุ่มโอเปกพลัสจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิต
ด้านทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) คาดว่าจากราคาน้ำมันที่อยู่ระดับสูงในปัจจุบัน จะทำให้ราคา LNG ปีหน้าอยู่ที่ระดับ 5.5-6.0 เหรียญสหรัฐ/ล้านบีทียู เนื่องจากจะมีบางโครงการจะปรับราคาก๊าซฯตามสัญญา และบริษัทจะมีปริมาณการขายจากโครงการ G1-G2 เพิ่มเข้ามา ซึ่งเป็นราคาที่ต่ำกว่า จึงทำให้คาดว่าราคาจะอยู่ในระดับที่คาดการณ์ไว้ได้ อย่างไรก็ตามคาดว่าราคา Spot LNG จะปรับตัวลดลงมาสู่ระดับปกติตั้งแต่ช่วงกลางปี 65 เป็นต้นไป
นายธนัตถ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการจัดทำแผนลงทุน 5 ปีฉบับใหม่ โดยจะเปิดเผยรายละเอียดในช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ คาดว่าจะสะท้อนฐานะการเงินและการเดินหน้าโครงการต่างๆของบริษัทฯ มากขึ้น
ด้านความคืบหน้าโครงการโรงไฟฟ้า Gas-to-Power ขนาด 600 เมกะวัตต์ (MW) ในเมียนมา ยังเดินหน้าตามแผนงาน แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเข้าพื้นที่ทำได้เพียงส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยปัจจุบันสัดส่วนรายได้จากโครงการในเมียนมาคิดเป็น 10-12% ของรายได้รวม