ทริสฯ คงอันดับเครดิตองค์กร RS ที่ BBB+ แนวโน้ม Stable

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday November 4, 2021 14:43 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ. อาร์ เอส (RS) ที่ระดับ "BBB+" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่"

อันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนความแข็งแกร่งในธุรกิจสื่อและบันเทิงของบริษัทและความสามารถในการใช้ความแข็งแกร่งดังกล่าวพัฒนาและสร้างการเติบโตให้แก่ธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทได้ อันดับเครดิตยังคำนึงถึงแผนของบริษัทในการลดภาระหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในช่วงที่ผ่านมาและที่กำลังจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตดังกล่าวก็ถูกลดทอนลงจากการที่บริษัทมีประสบการณ์ที่จำกัดในธุรกิจพาณิชย์ แรงกดดันจากผลกระทบของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) และภาวะเศรษฐกิจ รวมถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องในธุรกิจสื่อ

ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต

  • ธุรกิจพาณิชย์ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่ส่งผลต่อความต้องการจับจ่ายใช้สอยและกำลังซื้อของผู้บริโภคในช่วงหลายไตรมาสที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าผลประกอบการจากธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นหลังจากที่สถานการณ์ของโรคโควิด-19 เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น รวมถึงแผนการตลาดและการเปิดตัวสินค้าใหม่ ๆ

ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทจะเติบโตเล็กน้อยในปี 2564 และจะเติบโตประมาณ 10%-20% ต่อปีในช่วงปี 2565-2566 โดยการเติบโตนั้นคาดว่าจะมาจากการที่บริษัทออกผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เป็นหลัก โดยในครึ่งแรกของปี 2564 บริษัทได้เปิดตัวสินค้าใหม่ ได้แก่ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม (Food Supplement) และเครื่องดื่มเสริมอาหาร (Functional Drink) แต่ยอดขายของผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 ประเภทได้รับผลกระทบจากความต้องการจับจ่ายใช้สอยที่ซบเซา ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่ายอดขายจะปรับตัวดีขึ้นในปีหน้าจากการคาดการณ์ว่ากิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น

นอกจากนี้ บริษัท ยังวางแผนจะเปิดตัวสินค้าใหม่อีกหลายประเภท ได้แก่ อาหารสัตว์เลี้ยง (Pet Food) และผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชงและกัญชา ซึ่งกิจกรรมทางการตลาด และการสร้างแบรนด์โดยรวมน่าจะช่วยกระตุ้นยอดขายสินค้าของบริษัทได้ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงทางด้านรายได้จากธุรกิจพาณิชย์ของบริษัทยังขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจ ความสามารถของบริษัทในการสร้างแบรนด์ ความสามารถ ในการแข่งขัน รวมถึงการกำหนดสถานะทางการตลาดของตนเองเพื่อสู้กับคู่แข่งอีกด้วย

  • ธุรกิจสื่อช่วยส่งเสริมกลยุทธ์ "Entertainmerce" ธุรกิจสื่อของบริษัทจะต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่องจากการแข่งขันที่รุนแรง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อ และภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอซึ่งจะส่งผลกดดันต่อค่าใช้จ่ายด้านโฆษณาเช่นเดียวกับผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ในอุตสาหกรรม อย่างไรก็ดี ภายใต้บริบทของกลยุทธ์ "Entertainmerce" นั้น ธุรกิจสื่อถือว่ามีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจพาณิชย์และส่งเสริมภาพรวมธุรกิจของบริษัท

รายได้จากธุรกิจสื่อของบริษัทในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 7% อยู่ที่ 638 ล้านบาท ซึ่งโดยหลักมาจากรายได้การจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนท์ไปยังแพลตฟอร์มออนไลน์ (Over-The-Top Platform -- OTT) ต่าง ๆ และรายได้ค่าโฆษณาที่เพิ่มขึ้นจากเรทติ้งรายการทีวีที่สูงขึ้น

ทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้จากธุรกิจสื่อของบริษัทจะอยู่ที่ 1-1.1 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566 โดยอัตราค่าโฆษณาจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันของสื่อทุกรูปแบบและจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบางต่อไป แม้ว่าอาจจะปรับตัวดีขึ้นบ้างหลังจากสถานการณ์ของโรคโควิด 19 คลี่คลาย อย่างไรก็ตาม รายได้โฆษณาที่ลดลงน่าจะได้รับการชดเชยบางส่วนจากการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนท์บนแพลตฟอร์มออนไลน์

  • ความสามารถในการทำกำไรอ่อนตัวลงในปี 2564 แต่จะปรับดีขึ้นในปีหน้า ภายใต้สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งประมาณการว่ารายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 3.7 พันล้านบาทในปี 2564 และปรับตัวดีขึ้นเป็น 4.2-4.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 และคาดว่าบริษัทจะมีอัตรากำไรขั้นต้นที่ระดับประมาณ 50%-53% ในช่วงปี 2564-2566 อย่างไรก็ดี อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) จะอ่อนแอลงในปีนี้จากการที่บริษัทมีค่าใช้จ่ายการตลาดและค่าใช้จ่ายในการสร้างแบรนด์สินค้าใหม่ที่เพิ่งเปิดตัว โดยคาดว่า EBITDA Margin คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 18% ในปี 2564 และที่ระดับ 21%-23% ในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งจะทำให้บริษัทมี EBITDA อยู่ที่ประมาณ 680 ล้านบาทในปี 2564 และประมาณ 0.9-1.2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566
  • ภาระหนี้เพิ่มสูงขึ้น ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุน ในไตรมาสแรกของปี 2564 บริษัทได้เข้าลงทุนในสัดส่วน 35% ใน บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด (Chase) คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 920 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนจะเข้าลงทุนใน บริษัท สเปเชียลตี้ โฮลดิ้ง จำกัด (SPG) ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 ในสัดส่วน 33% คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 675 ล้านบาท โดยบริษัทใช้เงินกู้จากธนาคารในการลงทุน ซึ่งการลงทุนขนาดใหญ่ดังกล่าวแม้ว่าจะช่วยส่งเสริมภาพรวมของธุรกิจของบริษัท แต่ก็ทำให้ภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงขึ้นมาก อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ในระดับสูงดังกล่าวจะเป็นระยะชั่วคราวตามแผนการลดภาระหนี้ของบริษัท

สมมติฐานพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่า อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 4.2 เท่าในปี 2564 และจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2 เท่าหรือต่ำกว่าในปี 2566 ทริสเรทติ้งยังประมาณการว่าบริษัทจะมีการควบรวมและซื้อกิจการเพิ่มเติมในปี 2565 มูลค่าประมาณ 500 ล้านบาท ในขณะที่เงินลงทุนในสินทรัพย์จะอยู่ที่ประมาณ 170-300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566

ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับการชำระคืนก่อนจำนวน 1.6 พันล้านบาทจากหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยทั้งหมดจำนวน 1.9 พันล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนหนี้ที่มีสิทธิ์ได้รับกำรชำระคืนก่อนเทียบกับหนี้สินรวมประมาณ 82% ซึ่งสูงกว่าระดับเพดานที่ 50% ทำให้ทริสเรทติ้งมองว่าเจ้าหนี้ของบริษัทที่ไม่มีหลักประกันจะมีความเสียเปรียบเจ้าหนี้ที่มีสิทธิ์สูงกว่าตามข้อกำหนดทางการเงินของเงินกู้ที่ระบุให้บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนให้ต่ำกว่า 2.5 เท่านั้น ณ เดือนมิถุนายน 2564 บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 1.76 เท่าซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทน่าจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดทางการเงินดังกล่าวได้ตลอดช่วงระยะเวลาประมาณการ

  • สภาพคล่องเพียงพอ ทริสเรทติ้งประเมินว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้าโดยพิจารณาจากแหล่งเงินทุนและความต้องการใช้ โดยแหล่งเงินทุนหลักจะมาจากเงินสดในมือที่บริษัทมีอยู่ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 200 ล้านบาทและเงินทุนจากการดำเนินงานที่คาดว่าจะมีอีกประมาณ 550 ล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระจำนวน 100 ล้านบาทและมีแผนการลงทุนอีกประมาณ 150-200 ล้านบาท และการลงทุนใน SPG ประมาณ 675 ล้านบาทนั้น บริษัทจะใช้เงินกู้จากธนาคารในการลงทุน

สมมติฐานกรณีพื้นฐาน

  • รายได้รวมของบริษัทจะอยู่ที่ 3.7 พันล้านบาทในปี 2564 และ 4.2-4.8 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566
  • EBITDA Margin คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 18% ในปี 2564 และที่ระดับ 21%-23% ในช่วงปี 2565-2566
  • เงินลงทุนจะอยู่ที่ประมาณ 170-300 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2564-2566
  • เงินลงทุนใน SPG จะอยู่ที่ประมาณ 675 ล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 และการควบรวมกิจการจะอยู่ที่ประมาณ 500 ล้านบาทในปี 2565

แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะสามารถรักษาสถานะทางธุรกิจและมีผลการดำเนินงานที่ดีอย่างต่อเนื่องต่อไป นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดหวังว่าบริษัทจะยังคงรักษาวินัยทางการเงินโดยไม่เพิ่มภาระหนี้จนสูงเกินไปในการขยายธุรกิจ

ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากบริษัทสามารถเพิ่มกระแสเงินสดจากการดำเนินงานได้โดยไม่ทำให้โครงสร้างเงินทุนอ่อนแอลงอย่างมีสาระสำคัญ ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากผลการดำเนินงานหรือสถานะทางการเงินของบริษัทถดถอยลงเกินกว่าที่ทริสเรทติ้งประมาณการไว้อย่างมีนัยสำคัญ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ