นายชาคริต เมธิกุลชนันทร์ กรรมการผู้จัดการ บมจ. ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) (SPPT) คาดว่า รายได้จากการขายและผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/50 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลของการขาย High Season ของธุรกิจฮาร์ดดิสก์ (HDD) ซึ่งบริษัทฯ คาดว่าลูกค้าใหม่ที่ได้ติดต่อและได้จัดทำสินค้าตัวอย่างส่งไปให้พิจารณาคงจะได้ข้อสรุปและมีคำสั่งซื้อเพิ่มเข้ามา เพื่อเสริมให้เกิดรายได้เพิ่มมากขึ้น
สำหรับผลประกอบการของบริษัทและบริษัทย่อย ไตรมาส 3/50 มีกำไรสุทธิ จำนวน 19.1 ล้านบาท ลดลงจากงวดบัญชีเดียวกันของปีก่อนจำนวน 30.6 ล้านบาท หรือลดลงอัตราร้อยละ 61.5 % ซึ่งลดลงเป็นอย่างมาก อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิต และบริษัทฯ ยังต้องรับภาระผลการขาดทุนของบริษัทย่อยอีกจำนวน 1 ล้านบาท
รายได้รวมของไตรมาส 3/50 จำนวน 177.8 ล้านบาท ลดลงจากงวดบัญชีเดียวกันของปีก่อนจำนวน 2.4 ล้านบาท หรือลดลง 1.4 % ประกอบด้วยรายได้จากการขายและบริการไตรมาส 3/50 จำนวน 162.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.3 % การเพิ่มขึ้นของรายได้เกิดจากรายการขายของกลุ่มธุรกิจ CE & E และ กลุ่มธุรกิจ Others จำนวน 22.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจำนวน 14.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 178.4 % จากปีก่อน รายได้จากกลุ่มธุรกิจฮาร์ดดิส (HDD)ไตรมาส 3/50 จำนวน 139.6 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 12.5 ล้านบาท หรือลดลง 8.2 % เป็นไปตามนโยบายของบริษัทที่จะกระจายความเสี่ยงไปในธุรกิจอื่นๆ
แต่รายได้จากกลุ่มธุรกิจ HDD เพิ่มขึ้น 40.6 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 41 % จากไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลขายของธุรกิจ HDD ที่เป็นช่วง High Season ในครึ่งหลังของปีปริมาณการผลิตและคุณภาพของสินค้าที่ผลิตได้จากโรงงานแห่งที่ 2 ที่จังหวัดสิงห์บุรีได้ปรับตัวดีขึ้น ยอดรายได้จากกลุ่ม CE&E และกลุ่มธุรกิจอื่นได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากจากปีก่อน มีมูลค่าเท่ากับ 13 % ของมูลค่าจากรายได้จากการขายโดยรวมและจะมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและอย่างต่อเนื่องนับจากนี้ไป
ส่วนรายได้อื่นซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากการขายเศษวัตถุดิบที่เกิดจากขบวนการผลิต ได้แก่ ทองเหลือง และสเตนเลส ไตรมาส 3/50 จำนวน 15.4 ล้านบาท ลดลงจากงวดบัญชีเดียวกันของปีก่อน 4.6 ล้านบาท หรือลดลง 22.8 % เนื่องจากปริมาณการผลิตไตรมาส 3/50 ลดลงจากปีก่อน 8.7 ล้านชิ้น หรือลดลง 17 % อันเนื่องจากการจัดสรรกำลังการผลิตของกลุ่มธุรกิจ HDDไปผลิตกลุ่มสินค้าอื่น ราคาขายโดยเฉลี่ยของเศษวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นมากจากปีก่อนจึงสามารถชดเชยกับการลดลงของปริมาณการผลิตได้ในบางส่วน
ต้นทุนขายในไตรมาส 3/50 และไตรมาส 3/49 จำนวน 141.1 ล้านบาท และ 114.7 ล้านบาทหรืออัตรา 86.8 % และ 71.6 % ตามลำดับเมื่อเปรียบเทียบกับรายได้จากการขายและบริการ ต้นทุนขายเพิ่มขึ้นอย่างมากในไตรมาส 3/50 สาเหตุหลักเกิดจากต้นทุนวัตถุดิบของทองเหลืองและสเตนเลสปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 60 % และ 12 % จากเมื่อครึ่งหลังของปีก่อน ค่าใช้จ่ายในการผลิตเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการเปิดดำเนินการสายงานการผลิตโรงงานแห่งที่ 2 ที่จังหวัดสิงห์บุรี เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พนักงานเป็นพนักงานใหม่ยังขาดความชำนาญในการผลิต ประสิทธิภาพในการผลิตยังคงต้องปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง ต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยปรับตัวสูงขึ้นมากจึงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่งเพื่อปรับตัวเพื่อลดต้นทุนต่อหน่วยลงเพื่อให้ได้ปริมาณกับขนาดของการผลิตที่เหมาะสมและประหยัด (Economy of Scale) อัตรากำไรขั้นต้นลดลงค่อนข้างมากจากปีก่อนที่ 28 % คงเหลือเพียง 13 % เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการผลิตและต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและบริษัทฯ ยังไม่สามารถขอปรับขึ้นราคาขายสินค้าได้ทันกับต้นทุนการผลิตสินค้าที่เพิ่มขึ้น
ด้านค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารไตรมาส 3/50 และไตรมาส 3/49 จำนวน 16.1 ล้านบาท และ 13.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.0 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 22.8 %จากปีก่อน เนื่องจากได้รวมค่าใช้จ่ายของบริษัทย่อยด้วยค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เป็นเงินเดือนค่าจ้างและรถรับส่งพนักงาน อัตราร้อยละของการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง เนื่องจากบริษัทฯ ยังไม่สามารถรับรู้รายได้จากบริษัทย่อยได้ในรอบระยะบัญชีนี้
--อินโฟเควสท์ โดย พรเพ็ญ ดวงเฉลิมวงศ์/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--