นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) เปิดเผยว่า โรงงานในกลุ่ม KTIS อีก 3 โรงงาน ได้แก่ โรงงานผลิตเอทานอล ของบริษัท เคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด (KTBE) โรงงานผลิตเยื่อกระดาษและบรรจุภัณฑ์ชานอ้อย ของบริษัท เอ็นไวรอนเม็นท์ พัลพ์ แอนด์ เปเปอร์ จำกัด (EPPCO) และโรงงานผลิตวัสดุปรับปรุงดินและปุ๋ยอินทรีย์ ของบริษัท เคทิส ปุ๋ยชีวภาพ จำกัด (KTBF) ได้รับการรับรอง "IPHA" (Industrial and Production Hygiene Administration) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ออกโดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ภายใต้ความร่วมมือของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม และสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ที่รับรองความสะอาดในกระบวนการผลิตและความสะอาดถูกสุขอนามัยของผลิตภัณฑ์
การได้รับการรับรอง IPHA ของ 3 โรงงานดังกล่าวซึ่งอยู่ในสายธุรกิจชีวภาพของกลุ่ม KTIS ครั้งนี้เป็นส่วนเพิ่มเติมจากโรงงานน้ำตาลทั้ง 3 แห่งของกลุ่ม KTIS ซึ่งได้การรับรอง IPHA ไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งมาตรฐาน IPHA ดังกล่าวมีการกำหนดมาตรการควบคุม ติดตาม และป้องกันการปนเปื้อนของโควิด-9 ในสถานที่ประกอบการ กระบวนการผลิต และบุคลากร ด้วย
นายณัฎฐปัญญ์ กล่าวว่า โรงงานเอทานอลของกลุ่ม KTIS (KTBE) มีกำลังการผลิตสูงสุด 230,000 ลิตรต่อวัน หรือ 75.9 ล้านลิตรต่อปี เป็นโรงงานที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงด้วยกระบวนการกลั่นกรองสิ่งเจือปนถึง 7 หอกลั่น สามารถผลิตและจำหน่ายเอทานอลที่ได้มาตรฐานสำหรับนำไปใช้ในอุตสาหกรรม (Industrial Alcohol) รวมถึงนำไปใช้เป็นส่วนผสมของอาหารและยา ถูกสุขลักษณะอนามัยตามมาตรฐาน GMP และไม่มีสารปนเปื้อนที่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค ตามมาตรฐาน HACCP
สำหรับโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อย มีกำลังการผลิตประมาณ 1 แสนตันต่อปี โดยผลิตภัณฑ์ที่ผลิตและจำหน่าย มีทั้งที่นำไปทำกระดาษ คือ เยื่อกระดาษแห้ง และเยื่อกระดาษเปียก และยังมีเยื่อชานอ้อยที่นำมาผลิตบรรจุภัณฑ์ชนิดต่างๆ เช่น กล่อง จาน หลอดชานอ้อย เป็นต้น ซึ่งผลิตภัณฑ์เหล่านี้ล้วนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ย่อยสลายง่าย และลดการตัดต้นไม้ได้ 100% ทั้งนี้ โรงงานเยื่อกระดาษชานอ้อยของกลุ่ม KTIS นี้ มีมาตรฐานการผลิตในระดับสากลอยู่แล้ว เช่น ISO9001, ISO14001, ISO22000 และ GMP/HACCP จึงเชื่อมั่นได้ในมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูง เมื่อได้รับการรับรอง IPHA เพิ่มเติม ก็ยิ่งทำให้มั่นใจในมาตรฐานด้านการป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโควิด-19 ได้มากขึ้นไปอีก
ส่วนการผลิตวัสดุปรับปรุงดินและปุ๋ยอินทรีย์นั้น เป็นการนำผลพลอยได้จากการผลิตของโรงงานในเครือมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตามนโยบาย Zero Waste เช่น นำกากตะกอนหม้อกรอง (Filter cake) ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากกระบวนการผลิตน้ำตาล มาผลิตเป็นวัสดุปรับปรุงดินและปุ๋ยอินทรีย์ ทั้งชนิดผงและชนิดเม็ด พร้อมทั้งขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์ภายใต้แบรนด์ "พญาคชสาร" จำหน่ายให้ชาวไร่อ้อยในราคาที่เป็นธรรม ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีของชาวไร่อ้อยได้เป็นอย่างดี
"ก่อนหน้านี้โรงงานในกลุ่ม KTIS ได้รับมาตรฐานและรางวัลต่างๆ มาแล้วมากมาย เช่น มาตรฐาน Bonsucro ที่สะท้อนการเติบโตอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน รวมถึงรางวัล VIVE CLAIM LEVEL AWARD ซึ่งเป็นโปรแกรมระดับโลกสำหรับภาคธุรกิจที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนามาตรฐานความยั่งยืนขององค์กรและสังคมรอบข้าง และยังได้รับรางวัลโรงงานน้ำตาลดีเด่น และรางวัลอ้อยรักษ์โลกต่อเนื่องกันหลายปี เพราะกลุ่ม KTIS ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย เช่น การดูแลพนักงาน การอยู่ร่วมกับชุมชน ความปลอดภัยในการทำงาน การอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน และการรักษาสิ่งแวดล้อม เน้นการนำสิ่งเหลือใช้กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้ทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้ว วัสดุเหลือใช้จากการผลิตต่างๆ รวมถึงการติดตั้งระบบบำบัดเพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนรอบๆ โรงงาน" นายณัฎฐปัญญ์ กล่าว