โบรกเกอร์ต่างเชียร์ "ซื้อ" หุ้นธนาคารไทยพาณิย์ (SCB) มองส่ง บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) ธุรกิจโบรกเกอร์เข้าลงทุนใน Bitkub สัดส่วน 51% มูลค่า 1.78 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นดีลที่มี Valuation เหมาะสม และเข้ามาเสริมศักยภาพให้กับ SCB ในการต่อยอดธุรกิจสู่สินทรัพย์ดิจิทัล การเข้าซื้อหุ้นของ Bitkub เป็นทางเลือกที่ดีในการขยายธุรกิจได้รวดเร็วมากขึ้น และได้ผลตอบแทนเข้ามาเร็วด้วยเช่นกัน
ในแง่ของผลการดำเนินงานในปี 65 จะเริ่มเห็นกำไรของ Bitkub เข้ามาราว 1 พันล้านบาทที่จะเข้ามาเสริมกำไรของ SCB และยังได้ฐานลูกค้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับทางเลือกการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลที่เข้ามาเสริมทางเลือกให้การกระจายการลงทุนของลูกค้า SCBS ได้มากขึ้น ซึ่งเสริมศักยภาพให้กับธุรกิจโบรกเกอร์และการปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัลของ SCB อย่างชัดเจน
หุ้น SCB ปิดเช้าที่ 133.00 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาท (+0.38%) ขณะที่ดัชนี SET บวก 0.01%
ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 160 หยวนต้า ซื้อ 154 เคทีบีเอสที ซื้อ 150 เอเชียเวลท์ ซื้อ 150 ธนชาต ซื้อ 150 ทรีนีตี้ ซื้อ 146 แลนด์ แอนด์ เฮาส์ ซื้อ 144 เอเซีย พลัส ซื้อ 140 กสิกรไทย ซื้อ 139 ทิสโก้ ซื้อ 136 ยูโอบี เคย์เฮียน ซื้อ 133
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ดีลการเข้าลงทุนใน Bitkub ของ SCBS ถือว่าเป็นดีลที่ดีในเชิงกลยุทธ์และแผนการลงทุน ที่จะทำให้ศักยภาพของ SCBS เข้ามารุกในธุรกิจที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลได้เร็วขึ้นกว่าการพัฒนาขึ้นมาเอง ซึ่งหากต้องมีการพัฒนาระบบต่างๆ ขึ้นมาเองอาจจะต้องใช้เวลากว่า 1-3 ปี อีกทั้งยังต้องมีการสร้างแบรนด์ให้คนรู้จัก ซึ่งต้องใช้วลาอีกพอสมควร
"ดีลดังกล่าวถือเป็นการสร้างทางลัดในการเข้าไปสู่ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ที่เป็นแบรนด์ที่มีคนรู้จักมาก และมีฐานผู้ใช้บริการที่มีมาร์เก็ตแชร์มากที่สุดในประเทศ และยังสามารถต่อยอดการบริการอื่นๆเพิ่มเติมให้กับ SCBS ได้ในอนาคต"นายกรกช กล่าว
ในแง่ของมูลค่าการเข้าลงทุนสัดส่วน 51% ใช้เงินลงทุน 1.78 หมื่นล้านบาท ถือว่าเป็นมูลค่าการลงทุนที่เหมาะสมและยังมองว่าไม่แพงมาก เพราะหากเมื่อเทียบกับกำไรของ Bitkub ที่รายงานออกมา 9 เดือนที่ 1.5 พันล้านบาท ถือว่ามี Valuation ที่เหมาะสม และยังมีโอกาสที่จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีกในอนาคต เป็นการใช้สภาพคล่องในมือหลักแสนล้านบาทในการสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ที่มากขึ้นกว่าธุรกิจเดิม และหากมองในแง่ของประโยชน์ที่ได้มาสู่ผู้ถือหุ้นก็เป็นการ Unlock Value เงินลงทุนและความเชี่ยวชาญของ SCB และนำไปสู่กระบวนการต่อไป อีกทั้งยังทำให้ภาพของ SCB เป็น First mover ในธุรกิจดิจิทัลที่ชัดเจนมากขึ้น
ด้านนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า การเข้าลงทุนใน Bitkub ของ SCB โดยให้ธุรกิจโบรกเกอร์ คือ SCBS เข้าลงทุนนั้น มองว่ามูลค่าในการลงทุนที่ SCBS เข้าไปถือหุ้น 51% มีความเหมาะสม เมื่อประเมินว่าหาก Bitkub มีกำไรต่อปีราว 2 พันล้านบาท และเมื่อกระบวนการของดีลนี้เรียบร้อยแล้วจะทำให้ SCB มีกำไรเข้ามาเสริมจาก Bitkub ราว 1 พันล้านบาท ในปี 65 จากกำไรของ SCB ที่ประเมินไว้ในปี 65 ราว 3.7 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ภาพในระยะยาวยังทำให้ SCB มีความโดเด่นในด้านธุรกิจฟินเทค เพื่อเป็นการเปลี่ยนผ่านไปสู่การดำเนินธุรกิจในยุคดิจิทัล สามารถสร้างโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ เข้ามาได้อีกค่อนข้างมาก ประกอบกับทำให้ธุรกิจโบรกเกอร์ของ SCB มีความแข็งแกร่งมากขึ้น จากฐานลูกค้าของ SCBS และ Bitkub ร่วมกัน และการแนะนำการลงทุนในการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่มีตัวเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น
ส่วนนายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากมองในแง่ของมูลค่าการลงทุนที่ SCBS เข้าลงทุนใน Bitkub ถือว่ามีมูลค่าที่เหมาะสม คิดเป็นราคาต่อกำไรราว 18 เท่า เมื่อเทียบกับมูลค่าที่ SCBS เข้าซื้อเทียบกับกำไรของ Bitkub ในขณะที่กลุ่มลูกค้าของทั้ง 2 บริษัทไม่ทับซ้อนกัน เพราะกลุ่มลุกค้าที่ใช้บริการซื้อขาย Cryptocurenccy ของ Bitkub สามารถยอมรับความเสี่ยงที่สูงกว่าฐานลูกค้ารวมของ SCBS และการที่มี Bitkub เข้ามาเสริม ทำให้ SCBS สามารถต่อยอดในการให้บริการในคำแนะนำการจัดพอร์ตของลูกค้าที่มีการกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามาเสริม
โดยการปรับตัวของ SCB ในการรุกเข้าสู่ธุรกิจที่มีเทคโนโลยีที่มีโอกาสเป็นคู่แข่งที่สำคัญของธนาคารในอนาคต ทำให้ลดความเสี่ยงที่ธนาคารจะถูก Disrupt ลดลง และสามารถต่อยอดการต่อเติบโตของธนาคารได้มากขึ้น สามารถปลดล็อก Value ให้กับธนาคารที่สามาถสร้างผลตอบแทนให้กับผู้ถือหุ้นของธนาคารได้เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องรอดูภาพหลังจากนี้ว่าการลงทุนของ SCB จะส่งผลบวกต่อผลการดำเนินงานได้มากขึ้นอย่างมีศักยภาพหรือไม่