นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า หลังจากที่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน และ ปตท.สผ. ในฐานะผู้ดำเนินการสัมปทานบงกชปัจจุบัน ได้ลงนามในข้อตกลงการส่งมอบสิ่งติดตั้งในแหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช (Asset Transfer Agreement หรือ ATA) ไปเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 นั้น
ปตท.สผ. จะดำเนินการส่งมอบสิ่งติดตั้งต่าง ๆ ประกอบด้วย แท่นอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ และแท่นที่พักอาศัย รวม 9 แท่น แท่นหลุมผลิต 56 แท่น และสิ่งติดตั้งอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในการผลิตก๊าซฯ เช่น เรือเก็บน้ำมัน ให้แก่กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ณ วันสัมปทานหมดอายุ เพื่อนำสิ่งติดตั้งไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและผลิตปิโตรเลียมภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลง G2/61 ต่อไป
ส่วนแท่นหลุมผลิตในโครงการบงกชที่รัฐไม่ได้นำไปใช้ประโยชน์ต่อ มีจำนวนทั้งหมด 4 แท่น รวมถึง ท่อส่งก๊าซฯ ซึ่งเชื่อมกับแท่นดังกล่าว ปตท.สผ. จะดำเนินการรื้อถอนตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ การบรรลุข้อตกลงดังกล่าวส่งผลให้ ปตท.สผ. สามารถวางแผนการส่งมอบสิ่งติดตั้ง รวมถึงวางแผนการพัฒนาแหล่งบงกชและบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ รักษาความต่อเนื่องในการผลิตก๊าซธรรมชาติ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดอายุลง ไปสู่สัญญาแบ่งปันผลผลิตที่กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ดำเนินไปอย่างราบรื่นและเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศ
ขณะนี้ บริษัทอยู่ระหว่างเจาะหลุมผลิตในแหล่งบงกชเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถเพิ่มผลิตก๊าซฯ ขึ้นได้อีกประมาณ 125-250 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงเดือนเมษายน 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2566 ส่งผลให้แหล่งบงกชสามารถรักษาระดับการผลิตก๊าซฯได้ที่ 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันตลอดระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน ช่วยรองรับความต้องการใช้พลังงานและเสริมสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศในระหว่างที่แหล่งเอราวัณภายใต้สัญญาแบ่งปันผลผลิตแปลง G1/61 ยังไม่พร้อมผลิตก๊าซฯ ในอัตรา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันได้ทันทีเมื่อสัมปทานหมดอายุ เนื่องจาก ปตท.สผ. ไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้รับสัมปทานปัจจุบันให้เข้าพื้นที่เพื่อดำเนินการล่วงหน้าในแปลง G1/61 ในช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน