นายทิพย์ ดาลาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ (III) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 65 จะสามารถเติบโตได้ไม่ต่ำกว่า 30% โดยได้รับปัจจัยหนุนจาก 2 ส่วนคือ จาก 4 กลุ่มธุรกิจหลักในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนส่งทางอากาศ (Air Freight) ธุรกิจขนส่งทางเรือ (Sea Freight) ธุรกิจโลจิสติกส์สำหรับสินค้าอันตรายและเคมีภัณฑ์ (Chemical) ที่ยังมีความต้องการการขนส่งอย่างต่อเนื่อง และค่าขนส่งยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง และคาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องไปถึงปลายปี 65
ในขณะเดียวกันยังมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในธุรกิจใหม่ที่ยังสร้างผลตอบแทนได้อย่างต่อเนื่อง และบริษัทยังเดินหน้าเพื่อที่จะเข้าซื้อกิจการ (M&A) และ ร่วมลงทุน (JV) อย่างต่อเนื่องเพื่อก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ชั้นนำในระดับภูมิภาค
โดยล่าสุด บริษัทได้แตกกลุ่มธุรกิจใหม่ภายใต้ชื่อ Business Development Unit (BU5) เพิ่มเติมจาก 4 กลุ่มธุรกิจหลักที่มีอยู่เดิมเพื่อรองรับเทรนด์ของตลาดที่เปลี่ยนไป โดยโมเดลธุรกิจจะครอบคลุมทั้งการพัฒนาบริการใหม่ๆ การควบรวมและเข้าซื้อกิจการและการร่วมลงทุน โดยตั้งเป้าหมายในปี 66 จะเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างสัดส่วนรายได้ให้ไม่ต่ำกว่า 50% จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 30% ของผลประกอบการรวมของบริษัท
นายทิพย์ กล่าวว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ รวมถึงกระแสของ Business Disruption เป็นหนึ่งในปัจจัยสนับสนุนในการตัดสินใจตั้ง BU5 ขึ้นมา ซึ่ง BU5 จะมีความคล่องตัวมากกว่าการดำเนินงานภายใต้โครงสร้างเดิม เพื่อรองรับการพัฒนาโมเดลธุรกิจใหม่ที่จะสร้างความโดดเด่นเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกลุ่มทริพเพิล ไอ โลจิสติกส์ รวมทั้งคู่ค้าและลูกค้า
สำหรับ BU5 วางแนวคิดการสร้างการเติบโตภายใต้คอนเซ็ปต์ "Logistics and Beyond" BU 5 ทำหน้าที่เป็นตัวขับเคลื่อน ธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนด้วยกลยุทธ์ในการขยายขอบเขตการให้บริการต่อยอดบริการเดิมที่มีอยู่ รวมไปถึงพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์โมเดลใหม่ที่แตกต่างไปจากธุรกิจรูปแบบเดิม ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีโครงการภายใต้ BU5 ดังนี้
1.พัฒนาสู่การเป็นผู้นำด้านการเป็นตัวแทนขายระวางสินค้าสายการบินในระดับภูมิภาค เพื่อขยายจากพื้นที่เดิมซึ่งในปัจจุบันเป็นตัวแทนให้แก่สายการบินทั่วภูมิภาคกว่า 20 สายการบิน และปี 65 จะเห็นการเติบโตอีกมาก หลังจาก บริษัท ได้ปรับโครงสร้างการถือหุ้นในบริษัท เอเชีย เน็ตเวิร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ANI) แล้วเสร็จเมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา และบริษัทจะดำเนินการเพิ่มทุนจดทะเบียนใน ANI เพิ่มเติม เป็นเงินลงทุนกว่า 300 ล้านบาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการเข้าซื้อกิจการกลุ่มบริษัท เอเชีย จีเอสเอ (เอ็ม) เซินดิเรียน เบอร์ฮัด (ASIA GSA (M) Sdn. Bhd. ในสัดส่วน 20% คิดเป็นมูลค่ากว่า 732 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังเตรียมนำ ANI เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 65 เพื่อรองรับการเข้าเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน Asia GSA (M) ในอนาคต ซึ่ง Asia GSA (M) จะรวมศูนย์กลางสำนักงานใหญ่ไว้ที่ประเทศไทย และกระจายจัดตั้งสำนักงานสาขาในอีกกว่า 10 เมืองของภูมิภาคนี้ อาทิ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และกัมพูชา โดยมุ่งเน้นเมืองที่เป็นฮับของสายการบิน เป็นเส้นทางการบินหลัก และเป็นฐานการกระจายสินค้าในระดับนานาชาติ
2. การพัฒนาธุรกิจโลจิสติกส์ภายในประเทศสำหรับกลุ่มลูกค้าอี-คอมเมิร์ซ เพื่อรองรับการเติบโตทั้งแบบ B2B, B2C และการให้บริการคลังสินค้า (Fulfillment) วางเป้าหมายขยายจากฐานลูกค้ากลุ่ม B2B ไปในกลุ่ม B2C โดยจะมีการลงทุนผ่านสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เป็น Delivery Logistics ซึ่งเติบโตตามธุรกิจจัดส่งสินค้าและอีคอมเมิร์ซ
นอกจากนี้ เตรียมต่อยอดจากการเข้าไปลงทุนใน ShipSmile โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนสาขาจากกว่า 4,000 สาขา เป็น 10,000 สาขาภายในปี 65 พร้อมเพิ่มความหลากหลายของบริการ ได้แก่ เคาน์เตอร์เซอร์วิส รับจองตั๋ว รับชำระค่าบริการ เป็นต้น โดยวางตำแหน่งของ ShipSmile เป็น Express Shop ที่เป็นมิตรกับผู้ประกอบการขนส่งพัสดุทุกราย ลูกค้าสามารถเปรียบเทียบอัตราค่าบริการ โปรโมชั่น และตารางเวลาจัดส่ง เป็นทั้งจุดรับและส่งสินค้าให้กับผู้ใช้บริการ โดยเป็นการผสานทั้งช่องทางแบบออฟไลน์และออนไลน์ เพิ่มตัวเลือกให้กับทั้งลูกค้าและคู่ค้าของ ShipSmile
3. การพัฒนาบริการขนส่งสินค้าในระบบราง ทางบริษัทได้ศึกษาโอกาสในการพัฒนาการขนส่งสินค้าด้วยระบบรางมาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมขยายเส้นทางการขนส่งข้ามแดนระหว่างประเทศ เชื่อมต่อกับเส้นทางรถไฟฟ้าลาว-จีน (BRI) ซึ่งอาศัยความได้เปรียบทางภูมิศาตร์ของประเทศไทยในการเป็นฮับระดับภูมิภาค และเป็นศูนย์กระจายสินค้าในอาเซียน บริษัทตั้งเป้าเริ่มให้บริการได้ภายในไตรมาส 1/65 โดยเพิ่มระยะทางขนส่งทางรางครอบคลุมตั้งแต่มาเลเซีย กรุงเทพ แหลมฉบัง ลาว จีนตอนใต้และตะวันตก
สำหรับบริการขนส่งสินค้าในระบบรางภายในประเทศให้บริการภายในเดือนธ.ค. นี้ ซึ่งจะมีเส้นทางการให้บริการจากภาคใต้มายังภาคกลาง และจากภาคตะวันออกมายังภาคกลาง พร้อมให้บริการขนส่งทางบกที่เกี่ยวเนื่องเพื่อขนส่งตู้คอนเทนเนอร์จากสถานีรถไฟไปยังจุดหมายที่ลูกค้าต้องการ
4. การพัฒนา E-Logistics Platform เพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ โดยจะขยายสู่การให้บริการแบบครบวงจรให้แก่ลูกค้าทั้งกลุ่มผู้นำเข้าสินค้าและผู้ขายสินค้าออนไลน์ ตั้งแต่การให้บริการคลังสินค้าที่มีอยู่แล้ว ไปจนถึงบริการด้าน Digital Marketing Agency โดยผนึกกับพันธมิตรที่ชำนาญด้านการตลาดดิจิทัล นำเสนอเป็นโซลูชั่นวางแผนการตลาดที่เจาะได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย เพิ่มโอกาสให้ผู้ขายสินค้าออนไลน์สามารถขยายช่องทางเติบโตของยอดขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งมาร์เก็ตเพลส และโซเชียล มาร์เก็ตติ้ง
และ 5. บริการขนส่งสินค้าแบบควบคุมอุณหภูมิให้กับสินค้ากลุ่มอาหาร ยาและเวชภัณฑ์ เป็นการต่อยอดความชำนาญและจุดแข็งในธุรกิจบริการจัดส่งสินค้าและโลจิสติกส์ของบริษัทไปสู่ตลาดที่มีศักยภาพเติบโตสูง คือการจัดส่งด้วยการควบคุมอุณหภูมิ สำหรับสินค้าอาหารและยา/เวชภัณฑ์ ซึ่งเป็นโอกาสแหล่งรายได้ใหม่ที่บริษัท สนใจทำอยู่แล้ว โดยที่ผ่านมามีการเปิดสำนักงานที่ประเทศสิงคโปร์ โฟกัสกลุ่มขนส่งวัคซีนและยาที่ต้องมีการควบคุมอุณหภูมิตลอดการขนส่งและจัดเก็บ