เรือโท กมลศักดิ์ พรหมประยูร ผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบผลการคัดเลือกและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ในส่วนของท่าเทียบเรือ F แล้ว และสำนักงานอัยการสูงสุดเห็นชอบร่างสัญญาร่วมทุนโครงการฯ เรียบร้อยแล้วคาดว่าจะลงนามในสัญญากับกลุ่มกิจการร่วมค้า GPC ประกอบด้วย บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (PTT TANK) บริษัท ไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ได้ภายในปลายเดือน พ.ย.64 หรืออย่างช้าต้นเดือน ธ.ค.64
กทท.ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนทางการเงินขั้นต่ำเป็นค่าสัมปทานคงที่เท่ากับมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ที่ 29,050 ล้านบาท และค่าสัมปทานผันแปรที่ 100 บาทต่อที.อี.ยู. และกิจการร่วมค้า GPC จะต้องสมทบเงินเข้ากองทุนเยียวยาความเสียหายฯ ในอัตรา 5,000 บาท/ไร่/ปี นับตั้งแต่เริ่มประกอบการ
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าโครงการรวมประมาณ 1.1 แสนล้านบาท แบ่งเป็น กทท. ลงทุนประมาณ 50,000 ล้านบาท และเอกชนลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาท ในส่วนของเอกชนแบ่งเป็นเงินลงทุนในท่าเทียบเรือ F ประมาณ 30,000 ล้านบาท ท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาทและท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท
โครงการดังกล่าวจะเริ่มดำเนินการในส่วนของท่าเทียบเรือ F เป็นลำดับแรก ระยะเวลาสัมปทาน 35 ปี วงเงินเอกชนลงทุนประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนงานโครงสร้างพื้นฐานแหลมฉบังระยะที่ 3 นั้น กทท.จะลงทุนเอง ขณะนี้ กทท.ได้ทำสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ส่วนที่ 1 งานก่อสร้างงานทางทะเลกับกิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี วงเงินรวม 21,320 ล้านบาท เพื่อรองรับงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ท่าเรือตู้สินค้า ท่าเรืออเนกประสงค์ ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเรือบริการ งานระบบรางและย่านรถไฟ ซึ่งจะดำเนินการต่อไปในอนาคต
และ กทท. ได้มีหนังสือแจ้งให้กิจการร่วมค้า ซีเอ็นเอ็นซี ได้เริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค.64 ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำและการนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศ คาดว่าจะดำเนินการขออนุญาตแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.นี้ และหลังจากได้รับการอนุญาตแล้วจะเริ่มดำเนินการงานทางทะเลทันที
พร้อมกันนี้ กทท. ได้ว่าจ้าง บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่งคอลซัลแตนส์ จำกัด และบริษัท โชติจินดา คอลซัลแตนส์ จำกัด เพื่อควบคุมงานก่อสร้าง โครงการฯ วงเงิน 898 ล้านบาท โดยเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 16 ต.ค.63 ที่ผ่านมา
สำหรับงานถมทะเลมีระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี โดย 2 ปีแรก หรือในปลายปี 66 จะต้องเร่งก่อสร้าง เพื่อ กทท.จะได้ออกหนังสือเริ่มงาน NTP (Notice to Proceed) ส่งมอบพื้นที่ ให้กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC เพื่อเริ่มงานเกี่ยวกับอาคาร สิ่งปลูกสร้าง ลานวางตู้สินค้า ติดตั้งอุปกรณ์และเครื่องจักรทั้งหมด เช่น ปั้นจั่นหน้าท่า ฯลฯ เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการในปี 68
เรือโท กมลศักดิ์ กล่าวว่า การนับอายุสัมปทาน 35 ปี จะเริ่มนับเมื่อมีการออก NTP ส่งมอบพื้นที่ให้ GPC หรือ เริ่มนับสัญญาปีที่ 1 ตั้งแต่ปลายปี 66 และยกเว้นจ่ายค่าตอบแทนใน 2 ปีแรก เนื่องจากเป็นช่วงก่อสร้างยังไม่มีรายได้ โดยจะเริ่มจ่ายค่าผลตอบแทนคงที่ ในปีที่ 3 ของสัญญา หรือปี 68 ซึ่งจะเปิดให้บริการ โดยกทท.จะได้รับค่าตอบแทนคงที่ปีแรก จำนวน 89 ล้านบาท และจะได้ค่าตอบแทนผันแปรกรณีปริมาณตู้สินค้าเพิ่มตามสัญญาอีก 100 บาทต่อทีอียู
โดยประเมินว่า ท่าเรือ F1,2 จะรองรับปริมาณสินค้าเพิ่ม 4 ล้านทีอียู ซึ่งจะใช้เวลาประมาณ 10 ปี จึงจะเต็มความสามารถ จากนั้นจะพัฒนาท่าเทียบเรือ E ประมาณ 25,000 ล้านบาทและท่าเทียบเรือ E0 ประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งจะรองรับได้อีก 3 ล้านทีอียู ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาการร่วมลงทุนและรูปแบบของท่าเรือ
ด้านเรือโท ยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการการท่าเรือฯ สายบริหารการเงินและกลยุทธ์องค์กร กล่าวว่า กลุ่มกิจการร่วมค้า GPC จะต้องจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจใหม่ (SPV) เพื่อเข้าเซ็นสัญญาร่วมทุนโครงการ ฯ โดยมีทุนจดทะเบียน 12,000 ล้านบาทขณะที่ เอกชนจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมวันทำสัญญา จำนวน 120 ล้านบาท ( กทท. 100 ล้านบาท อีอีซี 20 ล้านบาท) และตามเงื่อนไข เมื่อออก NTP ให้เริ่มงาน จะต้องจ่ายหลักประกันการก่อสร้าง วงเงิน 4,000 ล้านบาท ให้ กทท. โดยหลังจากก่อสร้างเสร็จ 2 ปี (2568) เอกชนจะสามารถถอนคืนหลักประกันก่อสร้างจำนวน 2,000 ล้านบาท และเมื่อครบ 4 ปี (2570) จะถอนหลักประกันที่เหลือ อีก 2,000 ล้านบาทคืน และเปลี่ยนเป็นหลักประกันสัญญา วงเงินเท่ากับมูลค่าโครงการ