นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ประธานคณะผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการ บมจ.การบินไทย (THAI) เปิดเผยผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้ว่า คณะผู้บริหารแผนฯได้เข้าพบนายกรัฐมนตรีในช่วงต้นสัปดาห์เพื่อรายงานให้ทราบว่า บริษัทเชื่อว่าเม็ดเงิน 2.5 หมื่นล้านบาทที่จะขอกู้จากสถาบันการเงินเอกชนจะเพียงพอต่อการเดินหน้าธุรกิจ แม้ว่าจะไม่ได้เงินสนับสนุนจากภาครัฐ 2.5 หมื่นล้านบาทตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูฯ เพราะเข้าใจว่าภาครัฐยังมีภาระจำเป็นด้านอื่น
แต่อย่างไรก็ตาม หากรัฐไม่ใส่เงินสนับสนุนตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูฯ ก็จะทำให้บริษัทต้องมีการเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากเจ้าหนี้
นอกจากนั้น จากเงื่อนไขในแผนฟื้นฟูฯ ที่กำหนดว่า ผู้ที่ใส่เงินใหม่เข้ามาจะมีสิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุน THAI ในราคาหุ้นละ 2.54 บาท ดังนั้น หากรัฐไม่นำเงินใหม่ใส่เข้ามา ก็จะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังจะลดลงจาก 48% เหลือ 8% หลังจากบริษัทออกหุ้นเพิ่มทุนมาเสนอขายให้กับผู้ที่ใส่เม็ดเงินใหม่เข้ามาเพื่อเสริมสภาพคล่องดังกล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ผู้บริหารแผนฯ จึงเสนอทางเลือกให้กับกระทรวงการคลังรับไปพิจารณาว่าหากยังต้องการถือหุ้นใน THAI ในสัดส่วนเดิม ก็อาจจะมีแนวทาง
1.แปลงหนี้เป็นทุนในราคาหุ้นละ 2.54 บาทก็ได้ เนื่องจากปัจจุบันกระทรวงการคลังเป็นเจ้าหนี้ THAI อยู่ราว 1.3 หมื่นล้านบาท
2.แก้ไขแผนฟื้นฟูฯ ให้ THAI ออกหุ้นเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) ซึ่งกระทรวงการคลัง สามารถใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามสัดส่วนการถือหุ้น 48% รวมถึงหุ้นที่กองทุนวายุภักษ์และธนาคารออมสินที่ถืออยู่ รวมกันเป็น 67%
"เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องไปคิดต่อว่าจะเอาอย่างไร จะปล่อยให้การถือหุ้นของรัฐลดลงเหลือ 8% ซึ่งก็ต้องมีการแก้ไขแผนให้สอดคล้องกับความต้องการของภาครัฐ ถ้าไม่มีคำตอบอะไร เราก็ต้องเดินหน้าต่อไป"นายปิยสวัสดิ์ กล่าวผ่านรายการโทรทัศน์เช้านี้
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า THAI อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินเอกชนเพื่อขอกู้เงินเสริมสภาพคล่อง 2.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งบริษัทมีเหตุผลเพียงพอที่จะบอกได้ว่าทำไมธนาคาร โดยเฉพาะเจ้าหนี้เดิมควรจะใส่เงินเข้ามา แต่มั่นใจว่าจะเป็นดีลที่ดีกว่าเดิม เพราะโครงสร้างทุนดูดีขึ้น ทั้งจากการปรับโครงสร้างหนี้ และการดำเนินการตามแผนฟื้นฟูฯ โดยจะเหมือนกับเป็นการแฮร์คัททางอ้อม เนื่องจากทำให้ภาระหนี้สินลดลงไปพอสมควร และส่วนของผู้ถือหุ้นที่ในปลายปี 63 ติดลบ 1.28 แสนล้านบาทก็จะเหลือติดลบไม่มาก
"การยืดหนี้ถ้าเป็นเงินกู้ของเอกชน ถือว่าเป็นหุ้นกู้ทั้งหมด 7 หมื่นล้านบาท เรายืดหนี้ไป 6 ปี ลดดอกเบี้ย เพราะฉะนั้นคิดเป็นมูลค่าปัจจุบันเราก็จ่ายเพียง 60% เท่ากับเป็นการแฮร์คัททางอ้อม
ในส่วนของผู้เช่าเครื่องบิน เครื่องบินที่เราเก็บไว้ 57 ลำ เราลดค่าเช่าไปได้เยอะ เป็นการตัดภาระหนี้สินไปได้พอสมควร และในช่วงปี 63-64 ค่าเช่าจ่ายเป็นชั่วโมง ค่าเช่าก็ลดไปพอสมควร เครื่องบินที่เราจะคืนอีก 16 ลำที่ยังมีภาระผูกพัน เราจะจ่ายแค่ 17% ของภาระสุทธิ คือค่าเช่าที่เหลือทั้งหมดกับมูลค่าที่เหลือของเครื่องบินคูณด้วย 17% แต่ถ้าไม่ได้เข้าแผนฟื้นฟูฯ เราต้องจ่ายเต็ม ถ้าไม่ได้เรียกว่าแฮร์คัทจะเรียกว่าอะไร "นายปิยสวัสดิ์ กล่าว
นายปิยสวัสดิ์ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของ THAI ตั้งแต่เดือน ต.ค.64 ดีขึ้นเป็นลำดับ สามารถสร้างกระแสเงินสดเข้ามาในบริษัท โดยบริษัทมีรายจ่ายเดือนละ 1-1.2 พันล้านบาท และมีรายรับจาการขนส่งผู้โดยสารและคาร์โก้ในเดือน ต.ค.อยู่ที่ประมาณ 1,200 ล้านบาท และคาดพ.ย.น่าจะสูงขึ้น เพราะยอดจองในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค.เพิ่มขึ้นเร็วมาก นอกเหนือนั้นก็จะมีรายได้จากการขายเครื่องบิน 42 ลำที่กำลังดำเนินการอยู่