นางชุติภา กลิ่นสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.วี.แอล.เอ็นเตอร์ไพรส์ (VL) เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ คาดไตรมาสสุดท้ายจะเริ่มส่งสัญญาณการฟื้นตัว เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสที่ผ่านมา เนื่องจากเริ่มเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐบาลที่เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว ซึ่งก็จะเป็นการกระตุ้นให้ภาคการลงทุนกลับมาฟื้นตัวมากยิ่งขึ้น
"หลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการโควิด-19 และการเปิดประเทศให้ประชาชนสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้ จะส่งผลบวกต่อความต้องการใช้พลังงานเชื้อเพลิงทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้มีอัตราการใช้เรือขนส่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ของบริษัททั้ง 13 ลำ มากกว่า 90% จึงทำให้ VL สามารถรับรู้รายได้เข้ามามากยิ่งขึ้นต่อเนื่อง" นางชุติภา กล่าว
นอกจากนี้ VL ยังคงเดินหน้าขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีโอกาสเติบโตทางธุรกิจสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการขยายเส้นทางการเดินเรือใหม่ๆ เช่น เส้นทางประเทศไทย-เวียดนาม ประเทศไทย-กัมพูชา ประเทศไทย-พม่า และอินเดีย-จีน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจของบริษัทฯ ในอนาคต
ส่วนวอร์แรนต์ชุดที่1 (VL-W1) ของบริษัทฯนั้น ต้องยอมรับว่า กระแสตอบรับดีเกินคาดจากการใช้สิทธิแปลงสภาพครั้งที่ 1 ในวันที่ 27 ต.ค.64 ที่ผ่านมา โดยเม็ดเงินที่ได้จากการแปลงสภาพวอร์แรนต์เป็นหุ้นสามัญในครั้งนี้ จำนวน 83 ล้านบาท บริษัทฯ จะนำเงินที่ได้ไปใช้ เพื่อขยายจำนวนกองเรือตามนโยบายที่วางไว้ตั้งแต่ต้น เพื่อสร้างการเติบโตให้กับบริษัทฯ ต่อไป
ด้านผลการดำเนินงานไตรมาส 3/64 บริษัทมีรายได้ค่าบริการขนส่ง 180 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16 ล้านบาท คิดเป็น 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นรายได้ค่าบริการขนส่งในประเทศ 106 ล้านบาท คิดเป็น 59 % และรายได้ค่าบริการขนส่งระหว่างประเทศ 74 ล้านบาท คิดเป็น 41% ของรายได้ค่าบริการขนส่ง และมีกำไรสุทธิ 8 ล้านบาท ลดลง 12 ล้านบาท คิดเป็น 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
สาเหตุที่รายได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากตั้งแต่เดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เรือ V.L. 23 สามารถดำเนินการให้บริการขนส่งเชิงพาณิชย์ รวมถึงเรือที่มีการซ่อมบำรุงในก่อนหน้านี้สามารถกลับมาให้บริการขนส่งได้ตามปกติ จึงทำให้ VL มีจำนวนกองเรือพร้อมให้บริการครบทั้ง 13 ลำ หรือมีน้ำหนักบรรทุกรวมถึง 41,893 DWT
แต่ทั้งนี้หากพิจารณาจากกำไรสุทธิที่ปรับตัวลดลง เป็นผลมาจากปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันในตลาดโลก มาแตะที่ระดับสูงกว่ากว่า 80 ดอลลาร์/บาร์เรล ส่งผลต่อต้นทุนการดำเนินงานการขนส่งของบริษัทฯเพิ่มขึ้นประมาณ 6% เมื่อเทียบจากงวดเดียวกันของปีก่อน จึงเป็นสาเหตุหลักที่กดดันตัวเลขกำไรสุทธิออกมาเป็นไปตามที่คาด
ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนของปี 64 บริษัทมีรายได้จากค่าบริการขนส่ง จำนวน 480 ล้านบาท ลดลง 13 ล้านบาท คิดเป็น 2.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นรายได้ค่าบริการขนส่งในประเทศ จำนวน 297 ล้านบาท คิดเป็น 62 % และรายได้ค่าบริการขนส่งระหว่างประเทศ 183 ล้านบาท คิดเป็น 38% ของรายได้ค่าบริการขนส่ง และมีกำไรสุทธิ 20 ล้านบาท ลดลง 44 ล้านบาท คิดเป็น 68% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
"ในงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ แม้จะเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่เกิดขึ้นในหลายประเทศ ทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศต้องใช้มาตรการในการควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด เช่น การจำกัดการเดินทาง ปิดสถานที่ที่ประชาชนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมาก แต่รายได้ค่าบริการขนส่งของบริษัทกลับฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งโดยหลักมาจากจำนวนเรือที่สามารถให้บริการได้เพิ่มขึ้น ประกอบกับคู่ค้าของบริษัทฯ อาทิ บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น, กลุ่มบริษัท เชฟรอน, บริษัท เชลล์แห่งประเทศไทย, บมจ. ไออาร์พีซี ยังมีการเดินเครื่องผลิต และใช้บริการขนส่งทางเรือของ VL อย่างต่อเนื่อง" นางชุติภา กล่าว