นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) กล่าวว่า บริษัทคาดแนวโน้มไตรมาส 4/64 จะเป็นอีกไตรมาสที่ดี และเติบโตกว่าไตรมาส 3/64 จากการมีพอร์ตสินเชื่อที่เติบโตขึ้น ซึ่งจะเป็นฐานในการขยายตัวต่อเนื่องในทุกไตรมาส รวมทั้งการมีทีมขายเพิ่มขึ้นอยู่ที่ราว 1,800 ราย จากเป้าหมายสิ้นปีนี้ 2,000 ราย เพิ่มช่องทางการเข้าถึงลูกค้า พร้อมด้วยวิสัยทัศน์ก้าวสู่ยุคใหม่ด้วยการขยายช่องทางการบริการผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และการเปิดตัวบริการสินเชื่อที่ตอบโจทย์ฐานลูกค้าเดิม และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงลูกค้ารายใหม่ เช่น ล่าสุด SINGER ได้เปิดตัวโปรเจ็กต์ CLICK2GOLD บริการผ่อนทองผ่าน LINE เป็นต้น
ปัจจุบัน บริษัทมีร้านสาขาและแฟรนไชส์รวมกว่า 2,684 แห่ง มีพอร์ตสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 3/64 อยู่ที่ 9,673 ล้านบาท โดยพอร์ตหลักเป็นพอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) 5,293 ล้านบาท ส่วนพอร์ตสินเชื่อเช่าซื้อ (Hire purchase) อยู่ที่ 4,225 ล้านบาท โดยภาพรวมพอร์ตสินเชื่อทำได้ดีกว่าคาด ใกล้เคียงเป้าหมายที่วางไว้ 10,000 ล้านบาท คาดว่าในปีนี้ SINGER จะสามารถทำผลงานได้ดีกว่าเป้า
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทจัดงานประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น และได้รับความเชื่อมั่น ผู้ถือหุ้นไฟเขียวอนุมัติแผนการเพิ่มทุน และเพิ่มวงเงินการเสนอขายหุ้นกู้โดยอนุมัติการเพิ่มทุนเพื่อเสนอขายให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) และเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจงให้แก่บุคคลในวงจำกัด (Private Placement) ให้แก่ บมจ.ยู ซิตี้ (U City) ประสบความสำเร็จ คาดเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ประมาณ 11,000 ล้านบาทจะเข้ามาในช่วงเดือน ธ.ค.นี้
โดยจะสนับสนุนให้บริษัทมีฐานทุนที่แข็งแกร่งขึ้น พร้อมเดินหน้ารุกตลาด ผลักดันพอร์ตสินเชื่อรวมในปี 65 ให้เติบโตแตะ 15,000 ล้านบาท ด้วยต้นทุนดอกเบี้ยที่ดียิ่งขึ้นมาก รวมทั้งแผนต่อยอดโอกาสทางธุรกิจร่วมกันกับบริษัทในกลุ่ม BTS ได้แก่ การขยายไลน์สินค้าใหม่เข้ามาเสริมพอร์ต เป็นโอกาสการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ แผนการนำ บมจ.เอสจี แคปปิตอล (SGC) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ เข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เชื่อจะเป็นการสร้าง New Chapter ใหม่ภายในกลุ่มนับตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไป ขณะที่ในปีนี้คาดรายได้รวมจะเติบโต 25% จากปีก่อน
ภาพรวมผลการดำเนินงานงวดประจำไตรมาส 3/64 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 165 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวม 914 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.3% สาเหตุหลักมาจากรายได้จากการขายเพิ่มขึ้น ทั้งในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าเชิงพาณิชย์ ได้แก่ กลุ่มเครื่องซักผ้า กลุ่มตู้แช่ เครื่องหยอดเหรียญอัตโนมัติ เป็นต้น โดยเป็นการมุ่งเน้นการบริหารจัดการพอร์ตสินค้า (Product Mix) ให้ดีต่อเนื่อง รวมถึง พอร์ตสินเชื่อรถทำเงิน (C4C) เติบโตโดดเด่น และเป็นไปตามเป้าหมาย มีลูกค้ารายใหม่ๆ ในกลุ่มผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น แม้ในช่วงไตรมาส 3/64 เป็นช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ที่มีการแพร่ระบาด แต่ยังคงความสามารถในการบริหารจัดการที่ดี
ผลประกอบการงวดประจำ 9 เดือนของปี 64 มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 488 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 53% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน และมีรายได้รวมอยู่ที่ 3,068 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.1 % มีอัตรากำไรขั้นต้นที่ 48.5% อัตรากำไรสุทธิ ที่ 15.9% สำหรับภาพรวมหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL) อยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องที่ 3.7%