นางสาวเกศรา เลิศพนาสรรค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายบัญชี บมจ.ไทยโซล่าร์ เอ็นเนอร์ยี่ (TSE) เปิดเผยว่า บริษัทยังคงเดินหน้าแผนการขยายกำลังการผลิต แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ทำให้แผนลงทุนอาจจะล่าช้าออกไปบ้าง โดยระหว่างนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจาเข้าซื้อ (M&A) โรงไฟฟ้า 1-2 ดีล ซึ่งเป็นโครงการที่มีการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์แล้ว (COD) คาดว่าจะปิดดีลได้อย่างเร็วในไตรมาส 4/64 หรืออย่างช้าไตรมาส 1/65 ขึ้นกับสถานการณ์
บริษัทยังคงแผนขยายการลงทุนทั้งในและต่างประเทศ โดยมีเป้าหมายจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีก 100-200 เมกะวัตต์ภายใน 5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ การลงทุนในไทยวางเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์ ซึ่งจะเข้าซื้อโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว การทำสัญญาขายไฟฟ้าในรูปแบบ Private PPA และอาจขยายไปสู่ Waste to Energy
ส่วนการลงทุนในต่างประเทศ คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 50-100 เมกะวัตต์ ทั้งพลังงานลมและโซลาร์ โดยอยู่ระหว่างรอรัฐบาลเปิดประเทศ และต่างประเทศเปิดให้คนไทยเดินทางเข้าไปด้วย
ทิศทางผลประกอบการในไตรมาส 4/64 เป็นไตรมาสที่โรงไฟฟ้าจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศ โดยโรงไฟฟ้า Bio Mass และโรงไฟฟ้าทางภาคใต้จะได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าที่ญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากหิมะ อย่างไรก็ดี โซลาร์ฟาร์มยังได้รับแดดดีกว่าปีก่อน และในปีนี้บริษัทมีกำลังการผลิตจาก Solar Floating ขนาด 8 เมกะวัตต์เพิ่มเข้ามา จะทำให้รายได้และกำไรในไตรมาสนี้สูงขึ้นจากปีก่อน
แม้ว่าบริษัทจะขายเงินลงทุนโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่น 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 8.24 เมกะวัตต์ ส่งผลกระทบต่อรายได้ปี 65 แต่บริษัทจะมีรายได้จาก Solar Floating 8 เมกะวัตต์ รวมทั้งมีแผนเข้าซื้อ (M&A) อีกเพื่อชดเชยส่วนที่ได้ขายออกไป
ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการทั้งหมด 35 โครงการ กำลังการผลิตรวม 291.70 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่ดำเนินการแล้ว 158.70 เมกะวัตต์ และอีก 133 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการก่อสร้าง แบ่งเป็นโซลาร์ฟาร์ม 15 โครงการ รวม 101 เมกะวัตต์ Solar Floating 8 เมกะวัตต์ โซลาร์รูฟท็อป 14 แห่ง รวม 14 เมกะวัตต์ Biomass 3 แห่งรวม 22.2 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ในญี่ปุ่น 2 แห่ง รวม 146.50 เมกะวัตต์ โดยโครงการ Onikoube กำลังผลิต 133 เมกะวัตต์อยู่ระหว่างการก่อสร้าง คาดจะ COD ได้ในไตรมาส 4/65