นายณัฐพล นพรัตน์วงศ์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) เปิดเผยว่า บริษัทฯ คาดผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/64 จะเติบโตต่อเนื่อง ตามค่าการกลั่น (GRM) ที่ปรับตัวสูงขึ้นมาสูงสุดที่ระดับ 7.5 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากไตรมาสก่อนหน้าอยู่ที่ 3.8 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล เป็นปัจจัยหนุนหลักต่อธุรกิจการกลั่นน้ำมันให้ฟื้นตัวดีขึ้น
สาเหตุหลักมาจากผลิตภัณฑ์หลักทุกตัวปรับดีขึ้น โดยกลุ่มของแก๊สโซลีนมีดีมานด์เพิ่มขึ้นจากทั่วทุกภูมิภาค หลังจากคลายล็อกดาวน์สถานการณ์โควิด ส่วนน้ำมันอากาศยาน (JET) และดีเซลเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการปลดล็อกภาคท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านน้ำมันเตาอาจจะปรับตัวลดลงบ้าง แต่จะมี Gas-to-Oil Switching ทำให้ความต้องการเพิ่มเข้ามาสนับสนุนในไตรมาส 4 นี้ ด้านค่าการกลั่นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวลดลงมาที่ระดับ 4 เหรียญฯ/บาร์เรล เป็นผลมาจากส่วนต่างของราคาผลิตภัณฑ์ (Spread) ปรับตัวขึ้น 21-22 เหรียญฯ/บาร์เรล จากซัพพลายที่ค่อนข้างตึงตัว หลังหลายประเทศเปิดประเทศแล้วและดีมานด์เริ่มฟื้นตัวขึ้น ขณะที่สหรัฐมีสต็อกที่ต่ำมาก ส่งผลให้ราคาปรับตัวขึ้นไป แต่อย่างไรก็ตามในช่วงปลายปีนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว โดยเฉพาะในสหรัฐ เอเชียเหนือ ยุโรป ความต้องการใช้น้ำมันเบนซิน หรือแก๊สโซลีนน่าจะอ่อนตัวลง ส่งผลให้ Spread ปัจจุบันปรับลงมาที่ระดับ 14-15 เหรียญฯ/บาร์เรล
ขณะที่ในปี 65 ก็คาดการณ์ว่า GRM มีโอกาสที่จะกลับไปสู่ระดับเดียวกับปี 62 หรือช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ที่อยู่ระดับ 3.7 เหรียญฯ/บาร์เรล
"ในรายผลิตภัณฑ์ ในกลุ่มน้ำมันเบนซิน หรือแก๊สโซลีน ถ้าดูภาพรวมตลาดค่อนข้างกลับมาได้ปกติแล้ว โดยดีมานด์ทั่วโลกสามารถกลับไปยืนเหนือระดับ ปี 62 และในปี 65 ก็คาดว่าจะสามารถยืนเหนือระดับก่อนโควิด-19 ได้ทั้งปี, น้ำมันดีเซล ดีมานด์ก็กลับไปอยู่ในระดับก่อนโควิด-19 แล้วเช่นกัน, น้ำมันเตา Spread ในช่วงนี้อ่นตัวลงไปบ้าง จากเป็นช่วงที่ตลาดฟื้นตัว แต่หากมองในฝั่งของดีมานด์ยังค่อนข้างดี ทั้งเรื่องของ Gas-to-Oil Switching ซึ่งโรงไฟฟ้าก็พยายามที่จะหันจากการใช้ Gas มาเป็นน้ำมันเตา และน้ำมันดีเซล มากขึ้น เพื่อใช้ผลิตไฟฟ้า เนื่องจากต้นทุนจะต่ำกว่าในช่วงเวลานี้"นายณัฐพล กล่าว
สำหรับตลาดในประเทศ ปี 65 บริษัทมองว่าดีมานด์จะฟื้นตัวดีขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ โดยกลุ่มน้ำมันเบนซิน ดีเซล จะเติบโตได้ราว 5-8% จากปีนี้, น้ำมันอากาศยาน (Jet) คาดเติบโตราว 40% จากปีนี้ แต่ยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโควิด-19 ค่อนข้างมาก ส่วนน้ำมันเตาคาดจะเติบโตได้ในระดับปกติ ราว 2% จากปีนี้
ทิศทางราคาน้ำมันดิบในช่วงที่เหลือของปีนี้จนถึงต้นปี 65 คาดว่าจะได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้ที่เข้ามาเพิ่มเติม โดยมีสาเหตุมาจากราคาก๊าซปรับขึ้นมากกว่าราคาน้ำมัน จึงทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างต่ำ 500,000 แสนบาร์เรล/วัน จนไปถึง 2 ล้านบาร์เรล/วัน ขณะเดียวกันในปีหน้าเศรษฐกิจก็จะฟื้นตัวตามสถานการณ์โควิด-19 ที่ดีขึ้น มาตรการอัดฉีดของประเทศต่างๆ ที่เข้ามา ทำให้มองว่า GDP โลกจะอยู่ที่ 4.9% และมีความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล/วัน
ส่วนฝั่งซัพพลาย คาดว่าจะเพิ่มขึ้นสอดคล้องไปกับดีมานด์ โดยฉพาะกลุ่มโอเปกพลัส ที่มีมาตรการตกลงกันว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตเดือนละประมาณ 400,000 บาร์เรล/วัน ตั้งแต่เดือน ส.ค.64 จนถึงก.ย.65 ขณะที่กลุ่มนอกโอเปก นำโดยสหรัฐ, แคนาดา และ บราซิล ก็มีทิศทางที่จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตเช่นกัน จากทิศทางราคาที่สูงขึ้นทำให้มีความคุ้มค่าในการผลิตเพิ่มเติม
พร้อมกันนี้หากเทียบระหว่างดีมานด์และซัพพลาย จะเห็นได้ว่าในไตรมาส 4/64 ถึงไตรมาส 1/65 ซัพพลายยังน้อยกว่าดีมานด์ จากมีดีมานด์เพิ่มเติมจากช่วงพีคซีซั่น หรือช่วงฤดูหนาวเข้ามา ทำให้ในระยะนี้ตลาดน้ำมันดิบจะได้รับแรงหนุนค่อนข้างดี แต่ในไตรมาส 2/65 ถึงไตรมาส 4/65 ตลาดน้ำมันดิบน่าจะลดความร้อนแรงลงได้บ้างจากซัพพลายฟื้นตัวขึ้น
นายณัฐพล กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจปิโตรเคมีในปี 65 คาดจะปรับตัวลดลงเล็กน้อย จากซัพพลายที่เข้ามามากขึ้น โดยจะมีโรงกลั่นใหม่เข้ามาราว 5.8 ล้านตัน/ปี ในส่วนของพาราไซลีน (PX) และเบนซิน 2.5 ล้านตัน/ปี ขณะเดียวกันดีมานด์ยังคงเติบโตจากปีนี้ แต่ด้วยซัพพลายที่มีมากกว่าดีมานด์ อาจกดดันมาร์จิ้นในกลุ่มของตลาดปิโตรเคมีในปีหน้า ส่วนโอเลฟินคาดว่าจะปรับตัวลดลงจากซัพพลายใหม่ที่เข้ามาจากประเทศจีน โดยจะมี HDPE เพิ่มขึ้น 3.7 ล้านตัน/ปี และ PP เพิ่มขึ้น 6 ล้านตัน/ปี ส่วนดีมานด์ยังคงเติบโตได้ดีทั้งสองผลิตภัณฑ์
น้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน คาดดีมานด์จะอ่อนตัวลงมาเล็กน้อยในไตรมาส 4/64 จากซัพพลายที่เข้ามาจากโรงกลั่นใหม่ และ Feedstock Supply ที่มีมากขึ้น ขณะที่ปี 65 มองว่าดีมานด์ยังดูดีเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในอดีต