นายสุขวัฒน์ ประเสริฐยิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.เอไอเอ (ประเทศไทย) กล่าวในงานสัมมนา "Wealth Virtual Forum 2021 ลงทุนอย่างไรให้รวย" ในหัวข้อ "เจาะลึก ธีมการลงทุนปี 2022 จากนักวิเคราะห์" โดยระบุว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กำลังจะปรับลด QE และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลเชิงลบต่อสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยง เช่น พันธบัตรรัฐบาล เนื่องจากดอกเบี้ยในตลาดจะค่อยๆ ทยอยปรับตัวขึ้น
ดังนั้น จึงมองว่าในปี 65 การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงจะเป็นประโยชน์มากกว่า โดยให้ความสำคัญทั้งหุ้นไทยและหุ้นต่างประเทศ และยังมองว่าแม้จะเกิดการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย แต่จะไม่เป็นไปแบบก้าวกระโดด เนื่องจากยังมีปัจจัยที่ต้องจับตาหลายเรื่อง เช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 การชะลอตัวของการบริโภคในจีน เป็นต้น
และแม้ว่าจุดพีคของการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกจะผ่านไปแล้วในไตรมาส 3/64 และน่าจะชะลอตัวในไตรมาส 4/64 ประกอบกับเฟดจะเริ่มปรับลดมาตรการผ่อนคลายทางการเงินลง แต่ธนาคารกลางในอีกหลายประเทศยังคงต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบอีกหลายแสนล้านบาทเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนขึ้นอยู่กับการรับมือกับความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย โดยลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้น้อยก็อาจจะให้ลงทุนในตราสารหนี้ราว 70% หุ้น 30%, ลูกค้าที่รับความเสี่ยงปานกลางลงทุนตราสารหนี้ 50% หุ้น 50% และ ลูกค้าที่รับความเสี่ยงได้มากก็อาจจะให้ลงทุนในตราสารหนี้ 30% หุ้น 70%
นายสุขวัฒน์ กล่าวว่า สำหรับการออกกองทุนใหม่จะมองกองทุนที่สามารถอยู่ได้ในระยะยาว จะไม่ออกกองทุนที่มีมีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมเดียว หรือเทรนด์ของโลกในชั่วขณะ แต่จะเน้นกองทุนที่มีการเติบโตไปเรื่อย ๆ เพื่อสร้างผลตอบแทนในระยะยาว
ด้านนายพจน์ หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.วรรณ และบริษัทในเครือ กล่าวว่า ในปี 65 ยังคงเป็นโอกาสสำหรับการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เพราะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดจะส่งผลเชิงลบต่อสินทรัพย์ไม่เสี่ยงมากขึ้น ดังนั้น ยังมองว่าการลงทุนในหุ้นยังสามารถไปต่อได้ โดยเฉพาะหุ้นหรือกองทุนที่เกี่ยวกับสินค้า Commodity มีความน่าสนใจ เพราะในปีนี้มีการฉีดวัคซีนมเป็นวงกว้าง มีการเปิดประเทศและการจับจ่ายใช้สอยกลับมา ก่อให้เกิดการซื้อสินค้า Commodity มากขึ้น ถึงแม้ว่าการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศจะมีความคืบหน้าไม่เท่ากันก็ตาม
สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนจะต้องดูว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าจะมีเทรนด์ใดเข้ามาบ้าง ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์ Secular growth (การเติบโตตามรอบวัฏจักรเศรษฐกิจ) การให้ความสำคัญไปยังเทคโนโลยี การสื่อสาร หรือระบบดิจิตัล, Economic Recovery การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลดีต่อหุ้นกลุ่มการเงิน ไม่ใช่เพียงแค่ธนาคาร แต่รวมไปถึงหุ้นไฟแนนซ์ด้วย, Sustainability เทรนด์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน และเทรนด์ Alternative Assets อีกด้วย
นางพวรรณ์ นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด กล่าวว่า ปัจจัยที่หนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นคือความวิตกกังวลเกี่ยวกับเงินเฟ้อ รวมไปถึงหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังของสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงอุปสงค์ทองคำจากประเทศจีน อินเดีย และธนาคารกลางทั่วโลกอีกด้วย
ด้านปัจจัยที่กดดันราคาทองคำ คือการปรับลดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของเฟด และ กระแสเงินทุนที่ไหลออกจากกองทุน ETF รวมไปถึงปัจจัยจากการปรับตัวสูงขึ้นของราคาบิตคอยน์
นางพวรรณ์ กล่าวว่า ข้อดีของทองคำคือยังเป็นสินทรัพย์ที่สามารถจับต้องได้ ความผันผวนอยู่ในระดับต่ำกว่าบิทคอยน์ และสามารถผันไปเป็นสินทรัพย์รูปแบบอื่นในการเก็บรักษาได้ อีกทั้งทองคำยังถูกถือครองจากนักลงทุนรายย่อยและนักลงทุนสถาบัน รวมไปถึงมีตลาดขนาดใหญ่และสภาพคล่องสูง และทองคำยังสามารถเป็นแหล่งที่มาของผลตอบแทนในระยะยาว