ก.ล.ต.กล่าวโทษอดีตบอร์ด-ผู้บริหาร IFEC รวม 3 รายต่อบก.ปอศ.กรณีทุจริตยักยอก

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 19, 2021 17:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหารของ บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) รวม 3 ราย ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กรณีทุจริตยักยอกเงินของ IFEC ที่ได้รับชำระหนี้คืนจาก บริษัท อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ วินด์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (IWIND) เป็นเหตุให้ IFEC ได้รับความเสียหาย มูลค่ารวม 26.6 ล้านบาท

ก.ล.ต.ระบุว่า ได้กล่าวโทษอดีตกรรมการและผู้บริหาร IFEC ในช่วงปี 61-62 จำนวน 3 ราย ได้แก่ (1) พลตรีบุญเลิศ แจ้งนพรัตน์ (2) นายฉัตรณรงค์ ฉัตรภูติ (3) นายพีรธัช สุขพงษ์ ซึ่งได้ร่วมกันตัดสินใจ สั่งการ และดำเนินการให้ IWIND บริษัทย่อยที่ IFEC ถือหุ้น 80% ชำระหนี้คืนเงินที่ IFEC ได้ทดรองจ่ายไปให้ก่อน ต่อมาบุคคลทั้ง 3 รายได้ร่วมกันถอนเงินดังกล่าวออกจากบัญชีธนาคารของ IFEC แล้วฝากเข้าบัญชีธนาคารที่เปิดขึ้นใหม่ โดยใช้ชื่อบุคคลทั้ง 3 รายเป็นเจ้าของบัญชีร่วม จากนั้นพบว่าได้มีการถอนเงินดังกล่าวออกไปจำนวนหลายรายการ

จากการตรวจสอบพบว่า บุคคลทั้ง 3 รายได้นำเงินของ IFEC ออกไปใช้โดยไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของกิจการ IFEC แต่อย่างใด อันเป็นเหตุให้ IFEC ได้รับความเสียหาย คิดเป็นมูลค่ารวม 26.6 ล้านบาท การกระทำดังกล่าวเข้าข่ายเป็นการร่วมกันกระทำผิดหน้าที่ของกรรมการและผู้บริหารโดยทุจริต และทุจริตยักยอกเงินของบริษัท แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายเพื่อตนเองหรือผู้อื่น เป็นเหตุให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ ทำให้ IFEC ได้รับความเสียหาย

การกระทำของบุคคลทั้ง 3 รายในฐานะกรรมการและผู้บริหารของ IFEC ในช่วงดังกล่าว เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 281/2 วรรคสอง ประกอบมาตรา 89/7 และมาตรา 307 มาตรา 308 มาตรา 311 และมาตรา 313 แห่งพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ประกอบมาตรา 83 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ก.ล.ต. จึงกล่าวโทษบุคคลทั้ง 3 ราย ต่อ บก.ปอศ. เพื่อพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

การถูกกล่าวโทษข้างต้นมีผลให้ผู้ถูกกล่าวโทษเข้าข่ายมีลักษณะขาดความน่าไว้วางใจและไม่สามารถเป็นกรรมการและผู้บริหารของบริษัทนับตั้งแต่วันที่ถูกกล่าวโทษไปจนตลอดระยะเวลาที่ถูกกล่าวโทษดำเนินคดี

อนึ่ง การกล่าวโทษของ ก.ล.ต. เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายทางอาญาเท่านั้น ภายใต้กระบวนการนี้ การพิจารณาวินิจฉัยว่าบุคคลใดเป็นผู้กระทำผิดกฎหมายเป็นขั้นตอนในอำนาจการสอบสวนของพนักงานสอบสวน การสั่งฟ้องคดีของพนักงานอัยการ ตลอดจนดุลพินิจของศาลยุติธรรม ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ