(เพิ่มเติม) SVT วางเป้าปี 65 รายได้โตกว่า 25% ไม่หวั่นคู่แข่ง,รุกหนักขยายในปท.-ลุย CLMV

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 22, 2021 12:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

(เพิ่มเติม) SVT วางเป้าปี 65 รายได้โตกว่า 25% ไม่หวั่นคู่แข่ง,รุกหนักขยายในปท.-ลุย CLMV

นายเวทิต โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บมจ.ซันแวนดิ้ง เทคโนโลยี (SVT) วางเป้าหมายทิศทางการดำเนินธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (เวนดิ้ง แมชชีน :Vending Machine) ภายใต้เครื่องหมายการค้า "SUNVENDING" ในปี 65 รุกทำตลาดอย่างต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมายรายได้เติบโตราว 25% เตรียมขยายเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเพิ่มเป็น 17,000 เครื่อง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 เครื่อง และปรับตู้แบบธรรมดาให้เป็นแบบสมาร์ทเพิ่มเป็น 7,500 เครื่อง โดยติดตั้งหน้าจอ LCD ระบบสัมผัสหวังเป็นช่องทางสร้างรายได้สื่อโฆษณาดิจิทัลเพิ่มด้วย

(เพิ่มเติม) SVT วางเป้าปี 65 รายได้โตกว่า 25% ไม่หวั่นคู่แข่ง,รุกหนักขยายในปท.-ลุย CLMV

พร้อมกันนั้น บริษัทจะเดินหน้าโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์อย่างเป็นทางการในปีหน้า หลังจากเริ่มเปิดสาขาต้นแบบนำร่องปลายปีนี้ โดยเบื้องต้นมีลูกค้าสนใจแฟรนไชส์แล้ว 1-2 ราย ซึ่งรูปแบบแฟรนไชส์จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่บริษัทใช้รุกขยายไปต่างประเทศที่จะเริ่มเดินหน้าจริงจังในปี 65 จากที่ชะงักไปในช่วงโควิดระบาดหนัก รวมถึงรูปแบบการร่วมทุน โดยมองความเป็นไปได้ที่จะเริ่มจากเวียดนามและลาว ก่อนขยายให้ครอบคลุม CLMV ในระยะต่อไป

"ถ้าตลาดยังเล็กเราอาจจะไปในรูปแบบแฟรนไชส์ เพราะคู่ค้าของเราในประเทศเพื่อนบ้านอาจจะมีธุรกิจเดิมอยู่แล้ว เสริมธุรกิจเวนดิ้งเข้าไป มันก็ไปได้ แต่ถ้าตลาดใหญ่อาจจะไปในแง่ของการร่วมทุน ตลาดต่างประเทศมี Potential สูงมาก ช่วงโควิดระบาดถึงจะยังเดินหน้าไม่ได้ แต่เราหารือกับพาร์ทเนอร์มาโดยตลอด ปีหน้าเราจะรุกเต็มที่"นายเวทิต กล่าว

ส่วนการแข่งขันในตลาดที่คู่แข่งจับมือกันเพิ่มความแข็งแกร่งนั้น SVT เชื่อมั่นว่าด้วยจุดแข็งด้านต้นทุน และแผนการขยายจุดติดตั้งตู้ที่มีศักยภาพ จะทำให้บริษัทรักษาอันดับหนึ่งในตลาดตู้จำหน่ายสินค้าอัตโนมัติไว้ได้ โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นที่จะรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไม่ให้ต่ำกว่า 30% และอัตรากำไรสุทธิไม่ให้ต่ำกว่าปีก่อนหน้า

บริษัทมั่นใจว่าจะสามารถรักษามาร์เก็ตแชร์ในตลาดเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเป็นอันดับ 1 มีมาร์เก็ตแชร์มากกว่า 40% โดยทางบริษัทพร้อมจะพัฒนาเครื่องให้มีความทันสมัยและตอบสนองผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด พร้อมด้วยระบบหลังบ้านที่มีศักยภาพ และการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ที่สามารถส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงการมีโรงงานปรับปรุงตู้จำหน่ายสินค้าใหญ่ที่สุดในอาเซียนทำให้มีความได้เปรียบด้านต้นทุน

"เราต้องปรับเรื่องภาพพจน์ เพราะคนมองเรื่องภาพพจน์ การมีตู้มาวาง มีบริการโน่นนี่ แต่มันยั่งยืนและทำกำไรได้หรือไม่ scale ได้มากแค่ไหน ของเราทุกครั้งที่เดินไปเรามองเรื่องกำไร แต่ที่ผ่านมาเราไม่ได้มีตู้แฟนซี อันนั้นที่เราจะปรับ

เรามั่นใจว่าสาขาที่เรามี 11 ไป 12 ไป 13 ขณะที่คู่แข่งมี 3 กว่าเขาจะมี learning ต่าง ๆ เราก็มีทั้ง scale สินค้า และ scale ตู้ ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่มีวันจะทันเรานะ แต่เราไม่ได้หยุดให้เขาไล่ทัน...เรามีประสบการณ์มาใครที่ขึ้น double เร็ว ๆ ซักพักต้องยกกลับหมด คุณ scale เร็วไม่ดูตาม้าตาเรือ ซักพักก็ต้องยกกลับ มีคนไม่ไหวยกมาขายเราเป็นร้อย ๆ พันๆ ตู้ เราก็ไม่ได้ปิดกั้น แต่จะซื้อเข้ามาหรือไม่ก็ต้องดูเรื่องต้นทุน"นายเวทิต กล่าว นายคเณศร์ อรรถไพศาลกุล รองผู้อำนวยการ สายงานการตลาด SVT กล่าวว่า ปัจจัยบวกสนับสนุนการเติบโต คือ ความเชื่อมั่นเรื่องวัคซีน รวมถึงการเดินหน้าขยายเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่ครอบคลุมมากขึ้น และการเปิดธุรกิจใหม่อย่าง เฟรนไชส์ , ระบบเช่า, โฆษณาในเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และการรุกขายตู้มากขึ้นไปยังกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเจ้าของสินค้า หรือผู้ผลิตสินค้าเอง, กลุ่มค้าปลีก-ค้าส่ง และลูกค้ารายย่อย อาทิ โรงแรม, โรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

ในปีหน้าบริษัทตั้งงบลงทุนรวม 300 ล้านบาท โดยมีแผนขยายเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเพิ่มเป็น 17,000 เครื่อง หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 เครื่อง จากปี 64 มีจำนวนเครื่องทั้งหมด 14,600 เครื่อง เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายระยะยาวที่จะเพิ่มเป็น 2 หมื่นเครื่องภายในปี 66 พร้อมปรับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติแบบธรรมดาให้เป็นแบบสมาร์ทเพิ่มเป็น 7,500 เครื่อง

ด้านการขยายจำนวนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในปี 65 จะเริ่มขยายสาขาและศูนย์กระจายสินค้าของ SVT อีก 2 แห่ง ตั้งแต่ต้นปีจากจังหวัดลำพูนเป็นแห่งแรก เจาะกลุ่มภาคอุตสาหกรรม และจังหวัดอุดรธานี เน้นกลุ่มเป้าหมายที่เป็นโรงงาน ส่วนการขยายไปภาคใต้จะเริ่มดำเนินการได้ในปี 66

พร้อมไปกับการเริ่มระบบแฟรนไชส์ที่จะมีการขยายธุรกิจอย่างเป็นทางการในปี 65 ใน 2 โมเดล คือ สัญญาแฟรนไชส์ 30 เครื่อง 3 ปี มูลค่า 6 แสนบาท และ สัญญาแฟรนไชส์ 50 เครื่อง 5 ปี มูลค่า 1 ล้านบาท คาดว่าในปี 66 จะมีผู้ที่สนใจเข้ามาร่วมมากกว่า 40 ราย โดยบริษัทมีเป้าหมายหลักที่จะเพิ่มยอดขายสินค้าที่มีมากกว่า 700 Sku และเพิ่มอำนาจต่อรองในการซื้อสินค้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำกำไรของบริษัท

นายพิษณุ โชควัฒนา กรรมการรองผู้อำนวยการ สายงานการผลิต กล่าวว่า บริษัทได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นของ SVT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในรูปแบบของสมาชิก (member) พร้อมทั้งวางเป้าหมายให้เป็นจุดใช้แต้มสะสม (Burn Point Station) ของทุกกลุ่มธุรกิจที่มีการสะสมแต้ม


แท็ก โชควัฒนา   ลุย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ