นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) เชื่อว่า ตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียจะยังคงมีความผันผวนรุนแรงต่อไปอีกหลายเดือน เนื่องจากผลกระทบปัญหาซับไพร์มที่เกิดขึ้นในสหรัฐ และเป็นช่วงที่ใกล้ปิดงบการเงินในช่วงสิ้นปี ทำให้เห็นผลขาดทุนจากปัญหาซับไพร์มของหลายสถาบันการเงิน ขณะที่นักลงทุนประเภทกองทุนเก็งกำไรเมื่อมีผลขาดทุนจากการลงทุนก็จะถูกเจ้าหนี้เรียกให้กองทุนวาง margin เพิ่มขึ้นซึ่งเมื่อกองทุนถูกเรียก margin call กองทุนก็ต้องทยอยขายหลักทรัพย์ต่างๆ ในมือออกไป
เนื่องจากตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเป็นตลาดขนาดเล็ก เมื่อมีการเทขายทำให้มีผลค่อนข้างรุนแรง ประกอบกับเมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวก็จะมีนักลงทุนประเภทกองทุนเพื่อการลงทุนจะกลับเข้ามาซื้อด้วย ทำให้ตลาดหุ้นมีความผันผวนมากกว่าที่ควร
"การเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นเอเชียขณะนี้เกิดจากเฮดฟันด์ และเราเชื่อว่าความผันผวนนี้ยังมีอยู่หลายเดือน และไม่อยากให้ตกใจว่าการที่ตลาดหุ้นผันผวนไม่ได้เกิจากการปั่นหุ้นของฝรั่ง แต่เกิดจากปัญหาซับไพร์มและมีบางคนก็มองว่าเรื่องซับไพร์มจะยืดยาวไปถึงสิ้นปีหน้าด้วยซ้ำ" นายธีระชัย กล่าว
จากปัญหาดังกล่าว ทางก.ล.ต.โลกหรือ International Organization of Securities Commissions (IOSCO) จึงได้จัดตั้งคณะทำงาน (Task Force) ศึกษาและติดตามเรื่องนี้ โดยจะให้ความสำคัญใน 4 เรื่องหลัก คือ (1) ทางการในสหรัฐฯ และประเทศอื่น ๆ ควรปรับปรุงกฎระเบียบอย่างไรเพื่อป้องกันปัญหาเช่นนี้ในอนาคต (2) ที่ผ่านมาผู้ขายตราสารได้เปิดเผยข้อมูลต่อผู้ซื้อเพื่อให้ตระหนักถึงความเสี่ยงต่างๆ อย่างเต็มที่หรือไม่ ควรปรับปรุงอย่างไร (3) การตีราคาตราสารดังกล่าวในงบการเงินมีหลักปฏิบัติชัดเจนแล้วหรือไม่ และ (4) การปฏิบัติงานของสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ (rating agency) ที่เข้าไปมีส่วนในการแนะนำต่าง ๆ นั้น มีปัญหาขัดแย้งทางผลประโยชน์หรือไม่
พร้อมกับมีดำริจะออกแถลงการณ์เพื่อบังคับให้ประเทศต่างๆ ต้องมีการระบุให้ชัดเจนว่าได้นำมาตรฐานสากลมาใช้แล้วหรือยัง และกรณีที่นำมาใช้แล้ว หากมีประเด็นใดที่ยังแตกต่างจาก IFRS ก็ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้ลงทุนรับทราบโดยละเอียด
สำหรับความคืบหน้าของการประชุมคณะกรรมการทำงานเพื่อศึกษาการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) นายธีระชัย กล่าวว่า คณะกรรมการชุดดังกล่าวน่าจะสรุปผลการศึกษาเกี่ยวกับการแปรรูปตลาดหลักทรัพย์ได้ในเดือนธ.ค.นี้
--อินโฟเควสท์ โดย จริญยา ดำสมาน/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--