EGCO ตั้งเป้ากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ปี 65 เพิ่มกว่า 1,000 MW วางงบลงทุน 3 หมื่นลบ.

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 23, 2021 16:38 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

EGCO ตั้งเป้ากำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ปี 65 เพิ่มกว่า 1,000 MW วางงบลงทุน 3 หมื่นลบ.

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ผลิตไฟฟ้า (EGCO) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า บริษัทฯ วางเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ในปี 2565 เพิ่มขึ้นกว่า 1,000 เมกะวัตต์ เนื่องจากปัจจุบันยังมีอีกหลายโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาและเจรจา ซึ่งเป็นโครงการ high potential ขณะที่การพิจารณาการลงทุนในโรงไฟฟ้าใหม่ๆ บริษัทฯ จะมุ่งไปยังต่างประเทศมากกว่าในประเทศ โดยเฉพาะในประเทศที่มีการลงทุนอยู่ก่อนแล้ว เช่น สหรัฐฯ เนื่องด้วยมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นสูงมาก ทำให้ตลาดสหรัฐฯ ยังเป็นเป้าหมายสำคัญ รวมถึงตลาดอื่นๆ ที่ EGCO มีการลงทุนอยู่ก่อนแล้ว โดยวางงบลงทุนไว้ที่ 30,000 ล้านบาท ของงบลงทุนรวม 5 ปีที่ 150,000 ล้านบาท (ปี 2564-2568)

"ปัจจุบัน EGCO มีการลงทุนอยู่ทั้งหมด 8 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งการขยายการลงทุนเราก็จะมุ่งเน้นในประเทศที่เรามีการลงทุนอยู่ก่อนแล้ว และดำเนินการร่วมกับพาร์ทเนอร์คนสำคัญ ที่แสวงหาโอกาสในการลงทุนในประเทศนั้นๆ โดยยังเน้นไปที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ หรือ conventional และพลังงานหมุนเวียน" นายเทพรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตามแม้บริษัทฯ จะยังคงลงทุนในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ แต่ก็มีแผนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน หรือ Renewable ให้มากขึ้น เพื่อให้สัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) ลดลง เพื่อให้สอดรับกับเป้าหมายการขับเคลื่อนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ที่สอดรับกับทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ โดยบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และเป้าหมายลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) 10% ภายในปี 2573

สำหรับสัดส่วนเชื้อเพลิงในปี 2593 คาดว่าพลังงานหมุนเวียนจะมีมากขึ้น รวมถึงยังเชื่อมั่นว่าการผลิตไฟฟ้าจาก Conventional ก็ยังมีความจำเป็นอยู่ ตามความต้องการไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล เนื่องจากมีเสถียรภาพที่ดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องมีการใช้เทคโนโลยีในการจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ หรือที่เรียกว่า Carbon Capture, Utilization and Storage (CCUS) ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อช่วยให้การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแล้วไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกไป

ด้านความคืบหน้าของการนำเข้าก๊าซธรรมชาติ (LNG) รอบแรก หลังได้สิทธิเป็นผู้นำเข้า LNG หรือ LNG Shipper License ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างดูจังหวะในเรื่องของเวลา และราคาที่เหมาะสมถึงโอกาสในการนำเข้า เนื่องจากปัจจุบันราคา LNG ในตลาดค่อนข้างสูงมาก ทำให้ยังไม่สามารถนำเข้ามาในช่วงนี้ได้ รวมถึงสัดส่วนการนำเข้า LNG ของบริษัทฯ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 2 แสนตัน/ปี ก็ไม่ได้มีปริมาณที่มากนัก จึงต้องมีพาร์ทเนอร์ หรือร่วมมือกับ Shipper License อื่นๆ เพื่อแสวงหาดีมานด์เพิ่มเติม และจัดหา LNG ที่ได้ราคาที่ดีที่สุด โดยหนึ่งในนั้นแน่นอนว่าบริษัทฯ ก็จะเข้าร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นหนึ่งในผู้ได้รับใบอนุญาตจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ

"เราคุยกับ Shipper License ทั้งหมด ว่าแต่ละคนมีดีมานด์เท่าไหร่ การ Matching ดีมานด์ ถ้าสอดคล้องกับที่ซัพพลายเออร์มี Slot ให้ ก็จะทำให้ได้ราคาที่ดีที่สุด ซึ่งก็จะเป็นหลักการในการพิจารณานำเข้า อีกทั้งเราเองก็ยังต้องคำนึงถึงต้นทุนที่จะมีผลกระทบกับค่าไฟให้น้อยที่สุด" นายเทพรัตน์ กล่าว

ขณะที่ผลกระทบจากความล่าช้าของแหล่งเอราวัณ มองว่าหากล่าช้าเกินไปก็จะทำให้ต้นทุนการนำเข้า LNG สูงขึ้น ส่วนค่า Ft ที่จะปรับขึ้นในปี 65 คาดว่าจะส่งผลดีต่อรายได้ของบริษัทฯ เพิ่มขึ้นด้วย

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า แนวโน้มการดำเนินงานในไตรมาส 4/64 คาดจะเป็นไปตามแผน หรือดีกว่าแผนเล็กน้อย โดยคาดหวังว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 น่าจะดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อดีมานด์ รวมถึงน่าจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนได้ (Fx gain) หากค่าเงินบาทในไตรมาส 4/64 ปรับตัวแข็งค่าขึ้น จากไตรมาส 3/64 ที่อยู่ที่ 34.09 บาท/ดอลลาร์ แต่อย่างไรก็ตามโดยปกติไตรมาส 4/64 จะมีการบันทึกด้อยค่าของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ ซึ่งอาจมียอด implement ที่เป็นตัวเลขทางบัญชีไม่เกี่ยวกับเงินสด แต่ยอดจะน้อยกว่าปีที่แล้ว บันทึกเข้ามาในไตรมาสนี้ ส่วนการปิดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าก็จะเป็นไปตามแผนปกติ

ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 จนถึงปัจจุบัน เอ็กโก กรุ๊ป ประสบความสำเร็จในการเปิดพื้นที่การลงทุนใหม่ในสหรัฐอเมริกา โดยเข้าไปลงทุนในโรงไฟฟ้า "ลินเดน โคเจน" ซึ่งใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง เป็นโครงการแรก ตามมาด้วยการเข้าไปลงทุนใน "เอเพ็กซ์" บริษัทพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้ เอ็กโก กรุ๊ป มีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนขนาดใหญ่โครงการใหม่อีกหลายโครงการในอนาคต สำหรับการพัฒนาธุรกิจในประเทศ เอ็กโก กรุ๊ป ได้ร่วมกับ กลุ่ม กฟผ. จัดตั้ง "บริษัท อินโนพาวเวอร์ จำกัด" ซึ่งจะเป็นบริษัทเรือธงด้านนวัตกรรมไฟฟ้าของกลุ่ม กฟผ. ในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ด้านพลังงานไฟฟ้า รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมพลังงาน ในขณะเดียวกัน บริษัทนี้จะช่วยเสริมสร้างฐานธุรกิจ Smart Energy Solution ของเอ็กโก กรุ๊ป ให้เติบโตยิ่งขึ้นด้วย คาดว่าจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้ปี 2565

"เอ็กโก กรุ๊ป ยังมุ่งต่อยอดธุรกิจไฟฟ้า โดยเฉพาะการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนและพลังงานสะอาด ในขณะเดียวกัน ได้เร่งขยายการลงทุนไปสู่ธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนยังมุ่งเดินหน้าขับเคลื่อนธุรกิจสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่อให้สอดรับกับทิศทางพลังงานโลกและแผนพลังงานชาติ โดยตั้งเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593 และเป้าหมายลดการปล่อยปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่อหน่วยไฟฟ้าที่ผลิตได้ (Carbon Emission Intensity) 10% ภายในปี 2573"นายเทพรัตน์ กล่าว

บริษัทได้กำหนดทิศทางในการดำเนินธุรกิจเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน "Cleaner, Smarter and Stronger to Drive Sustainable Growth" โดย Cleaner ลงทุนในธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ในขณะที่ Smarter สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าและการลงทุนในธุรกิจที่มีการเติบโตสูง ประเภท New S-Curve เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีดิสรัปชัน และ Stronger สร้างผลตอบแทนสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้นด้วยการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อการเติบโตอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน

นายเทพรัตน์ กล่าวว่า สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 3/64 เอ็กโก กรุ๊ป มีกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีเงินได้รอการตัดบัญชี การด้อยค่าของสินทรัพย์ การวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน และการรับรู้รายได้แบบสัญญาเช่า) 3,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 370 ล้านบาท หรือคิดเป็น 13% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2563 โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากกำไรจากการดำเนินงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ได้แก่ โรงไฟฟ้าซานบัวนาเวนทูรา น้ำเทิน 2 และไซยะบุรี นอกจากนี้ กำไรจากการดำเนินงานของเหมืองถ่านหินเอ็มเอ็มอีเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกถ่านหินและราคาขายถ่านหิน

อย่างไรก็ตาม กำไรจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าพาจูลดลง เนื่องจากราคาต้นทุนเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น ในขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงาน 8,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 414 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว

เมื่อพิจารณากำไรสุทธิในไตรมาส 3/64 บริษัทมีกำไรสุทธิ 1,074 ล้านบาท ลดลง 1,193 ล้านบาท หรือคิดเป็น 53% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่มีกำไรสุทธิงวด 9 เดือนแรกของปี 2564 จำนวน 3,170 ล้านบาท ลดลง 3,759 ล้านบาท หรือคิดเป็น 54% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีสาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลกระทบทางบัญชีที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง เนื่องจากการแปลงมูลค่าหนี้สินระยะยาวเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินบาทจากการอ่อนค่าของค่าเงินบาท และการวัดมูลค่าเครื่องมือทางการเงิน

ด้านโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง ปัจจุบันบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 3 โครงการ ประกอบด้วยโครงการโรงไฟฟ้า 2 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล "หยุนหลิน" ในไต้หวัน ก่อสร้างแล้วเสร็จ 71% โดยปัจจุบันกังหันลม 2 ต้น จำนวน 16 เมกะวัตต์ ได้เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ เมื่อวันที่ 5 พ.ย.และ 11 พ.ย. 2564 ตามลำดับ ซึ่งคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ภายในปี 2564 ในขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ "น้ำเทิน 1" ใน สปป.ลาว ก่อสร้างแล้วเสร็จ 94%

นอกจากนี้ ยังมีโครงการธุรกิจพลังงาน ที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ โครงการ "ขยายระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ก่อสร้างแล้วเสร็จ 89% ในขณะที่โครงการ "นิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง" อยู่ระหว่างการออกแบบโครงการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ