บมจ. ชินแซทเทลไลท์ (SATTEL) คาดว่า รายได้และกำไรสุทธิในปี 51จะสูงกว่าในปีนี้ เนื่องจากตลาด iPSTAR จะโตขึ้นจากการขาย User Terminal (UT) ได้เพิ่มขึ้นและมีการให้บริการครบ 14 ประเทศ รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่ลดลง โดยเฉพาะดอกเบี้ยจ่ายที่จะลดลง 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี หลังจากที่บริษัทได้นำเงินจากการขายหุ้นบริษัทลูก(Shennington)ไปชำระคืนหนี้ราว 141 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ในปี 51 คาดว่าจะมียอดขาย UT เพิ่มขึ้นเป็น 2 แสนชุดจากปีนี้ที่คาดว่าจะขายได้ประมาณ 1.1 แสนชุด ขณะที่การขายแบนด์วิทจะเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปีนี้ที่มีการขายและใช้จริงแล้ว 6% ของ capacity iPSTAR หรือคาดว่าเพิ่มขึ้นเป็น 12-15% โดยคาดว่ารายได้จาก iPSTARในปีหน้าจะมีสัดส่วนมากกว่า 50% จากปีนี้อยู่ประมาณ 30%
"คิดว่าปลายปีหน้าเราจะ Break Event ได้ ซึ่งจุดที่เราจะทำ Break Event ขาย UT ได้ที่ 2 -2.5 แสนชุด" นายธนฑิต เจริญจันทร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ส่วนงานการเงินและบัญชี บมจ.SATTEL กล่าว
สำหรับในไตรมาส 4 ปีนี้ คาดว่ารายได้และกำไรจะดีกว่าไตรมาส 3 จากการบริษัทเริ่มทยอยส่งและติดตั้ง UT ให้บมจ.ทีโอที ประมาณครึ่งหนึ่งของสัญญาที่ขาย 1.7 หมื่นชุด ส่วนที่เหลือจะทยอยส่งมอบต้นปีหน้า หรือในเดือนก.พ. 51 และทีโอทีมีแนวโน้มสั่งซื้อ UT เพิ่มเพราะความต้องการยังมีสูง
นายธนฑิต กล่าวว่า ในปีนี้ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยก็ลดลงจากบริษัทได้ทำให้ยอดหนี้เหลือ 260 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้อัตราส่วนเงินกู้ยืมสุทธิต่อส่วนทุนลดเหลือ 0.60 เท่า จาก 1.17 เท่า ณ สิ้ปี 49 จากที่บริษัทได้ชำระเงินกู้โครงการไอพีสตาร์และโครงการดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงินโดยรวม
พร้อมคาดว่าในปี 50 บริษัทจะพลิกมีกำไรได้ เนื่องจากมีกำไรจากการขาย Shennington จำนวน 5,127 ล้านบาท และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยในงวด 9 เดือนมีกำไรแล้ว 962 ล้านบาท ส่วนกำไรจากการดำเนินงานยังไม่มั่นใจว่าจะสูงกว่าปีก่อนได้หรือไม่ ต้องรอรายได้ในไตรมาส 4 นี้ก่อน
*iPSTAR ตลาดอินเดียเลื่อนไปต้นปี 51
นายปฐมภพ สุวรรณศิริ ผู้อำนวยการสำนักการตลาด iPSTAR กล่าวว่า ความคืบหน้าการให้บริการ iPSTAR ในอินเดียนั้น เนื่องจากขณะนี้ติดปัญหาทางราชการของอินเดีย จึงได้เลื่อนเป็นต้นปี 51 แทนจากเดิมที่คาดว่าจะให้บริการได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ แต่ไม่ได้เป็นปัญหามากนัก เพราะเลื่อนออกไป 2-3 เดือน ขณะที่ทางบริษัทได้เซ็นสัญญาขายอุปกรณ์และช่องสัญญาณกับเอกชนรายใหญ่แล้ว
"ในอินเดีย ธุรกิจดาวเทียมมีความต้องการสูงมาก เราเซ็นสัญญาไปแล้ว 1 ราย และยังเจรจาอยู่อีก 3 ราย " นายปฐมภพ กล่าว
ขณะเดียวกันตลาดมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้งอินโดนีเซีย ในปีหน้าจะขยายตัวมาก หลังจากที่ ในเดือนก.ย.ที่ผ่านมาบริษัทได้ลงนามในสัญญาความร่วมมือกับ บริษัทไทม์ ดอทคอม เบอร์ฮาด ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมรายใหญ่ในมาเลเซีย เพื่อเปิดให้บริการดาวเทียมบรอดแบนด์ไอพีสตจาร์ภายในไตรมาส 4 ปีนี้ หรือปลายธ.ค. และ บริษัทได้ลงนามเป็นพันธมิตรกับบริษัททีเอ็นอาร์ เทเลคอมส อินคอร์ปอเรชั่น เพื่อดูแลส่วนปฏิบัติการสถานีควบคุมเครือข่ายภาคพื้นดินไอพีสตาร์(iPSTAR Gateway) พร้อมทั้งให้บริการไอพีสตาร์ในฟิลิปปินส์ ส่วนในตลาดอินโดนีเซียได้เจรจากับผู้ให้บริการโทรคมนาคม 1 ราย น่าจะสรุปได้ในสิ้นปีนี้ และจะสามารถให้บริการได้ใน ก.พ. 51
สำหรับตลาดจีน นายปฐมภพ กล่าวว่า ยังดำเนินการอยู่แต่ต้องเป็นลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเบื้องต้นได้ติดต่อกับไชน่าแซท ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมของไทยคม และบริษัทก็ยังสามารถขายรายย่อยได้
"เราไม่ห่วงยอดขายที่จีน เพราะตลาดมีความต้องการสูง แต่เรากำลังพูดคุยข้อมูลรายละเอียด ตลาดจีนต้องค่อยๆ ทำ" นายปฐมภพ กล่าว
ส่วนความคืบหน้าในตลาดเกาหลี แม้ว่าล่าช้ากว่าแผนเดิม เพราะติดขั้นตอนปัญหาทางราชการ แต่เชื่อว่าจะให้บริการได้ในเดือนธ.ค.นี้ ส่วนตลาดในญี่ปุ่นก็ติดขั้นตอนทางราชการเช่นกัน คาดว่ากลางปี 51 คงจะให้บริการได้
ล่าสุด บริษัทได้เจรจากับบริษัท จุงหัว เทเลคอมที่เคยเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมในไต้หวัน คาดว่าจะให้บริการได้ต้นปี 51
สำหรับการจัดตั้งบริษัท Cambodia DTV Network Company Limited ในกัมพูชา เพื่อให้บริการเผยแพร่รายการโทรทัศน์แบบ DTH ในประเทศกัมพูชา เพราะเป็นบริการที่บริษัทมีแผนดำเนินการต่อเนื่อง โดยใช้ดาวเทียมไทยคม 5
"เราต้องทำอยู่แล้ว เพราะเราขายตัวรับส่งช่องสัญญาณ จากดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งเราจะทำเหมือนเคเบิลทีวีผ่านดาวเทียม เราจะขยายตลาดในลาวและกัมพูชา" นายธนฑิต กล่าว
ทั้งนี้ ดาวเทียมไทยคม 5 มีการใช้งานแล้ว 70% และคาดว่าจะครบ 100% ในปี 51
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/รัชดา โทร.0-2253-5050 ต่อ 317 อีเมล์: rachada@infoquest.co.th--