ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.กรุงไทยคาร์เร้นท์ แอนด์ ลีส (KCAR) ที่ระดับ "A-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่มั่นคง ตลอดจนการดำรงระดับความสามารถในการทำกำไรไว้ได้ ภาระหนี้ที่อยู่ในระดับต่ำ กระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง รวมทั้งสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอของบริษัท
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- สถานะทางธุรกิจที่ยังคงเข้มแข็ง บริษัทยังคงมีสถานะเป็นผู้ประกอบการขนาดกลางในธุรกิจเช่าดำเนินงาน (Operating Lease)อย่างไรก็ตาม บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากบริษัทมีการพัฒนาขีดความสามารถและคุณภาพในการให้บริการเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดของสินทรัพย์ให้เช่าดำเนินงานสุทธิเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6.4% ในปี 2563 หรืออยู่ในอันดับที่ 7 เมื่อเทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรม จากระดับ 5.7% ในปี 2562 ตามฐานข้อมูลของทริสเรทติ้ง
บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิในช่วงปี 2563 จนถึง 9 เดือนแรกของปี 2564 เอาไว้ได้แม้ว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด 19) จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อการเติบโตของเศรษฐกิจก็ตาม สินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทหดตัวลง 1% ในปี 2563 เมื่อเทียบกับการหดตัวที่ระดับ 11% ของผู้ประกอบการชั้นนำ 30 รายแรกในอุตสาหกรรม
ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิของบริษัทจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปเนื่องจากบริษัทยังคงมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาฐานลูกค้าเดิมเอาไว้และดึงดูดลูกค้ารายใหม่ ทั้งนี้ บริษัทมีสินทรัพย์ให้เช่าสุทธิอยู่ที่ระดับ 4.1 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564
การมีความร่วมมือในการดำเนินงานระหว่างบริษัทและเครือข่ายธุรกิจของผู้ถือหุ้นใหญ่และผู้ก่อตั้งบริษัทซึ่งรวมไปถึงตัวแทนจำหน่ายรถยนต์หลายแห่งนั้นยังคงเป็นปัจจัยที่สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันให้แก่บริษัท ยกตัวอย่างเช่น บริษัทสามารถซื้อสินทรัพย์เพื่อใช้ในการให้เช่าได้ในราคาที่ต่ำกว่า ตลอดจนการลดค่าใช้จ่ายดำเนินงานและใช้ทรัพยากรร่วมกันกับบริษัทอื่น ๆ ในเครือข่ายธุรกิจ นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถจำหน่ายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าแล้วให้แก่ลูกค้ารายย่อยด้วยอัตรากำไรที่น่าพึงพอใจโดยผ่านทาง บริษัท กรุงไทย ออโตโมบิล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่เป็นตัวแทนซื้อขายรถยนต์มือสองของบริษัทได้อีกด้วย
- ยังคงรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไร ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาความสามารถในการสร้างผลกำไรเอาไว้ได้ในช่วงเวลา 2-3 ปีข้างหน้าโดยวัดจากอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อรายได้ที่ระดับประมาณ 13%-14% ในระหว่างปี 2564-2566 ทริสเรทติ้งยังคาดอีกด้วยว่าอัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเช่าดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ระดับประมาณ 12%-14% ในระยะปานกลาง โดยลดลงจากระดับประมาณ 16% ในอดีตเนื่องจากการขยายอายุของสัญญาเช่าที่ยาวนานขึ้น โดยอายุสัญญาเช่าของบริษัทในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีระยะเวลาที่ยาวนานขึ้นเป็น 5 ปีจากเดิม 3 ปีและทริสเรทติ้งก็คาดว่าการขยายอายุสัญญาที่ยาวนานขึ้นนี้จะยังคงมีอยู่ต่อไป
ทั้งนี้ การมีอายุสัญญาเช่าที่ยาวนานขึ้นนั้นส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเช่าดำเนินงานปรับตัวลดลงเนื่องจากบริษัทมีรายได้จากค่าเช่าและการบริการที่รับรู้เป็นรายได้ลดต่ำลงในแต่ละปี ทั้งนี้ บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นอยู่ที่ระดับ 13.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564
ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงรักษาอัตรากำไรขั้นต้นของการจำหน่ายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าได้ในระดับสูงที่ประมาณ 28%-29% ในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าจากการใช้ระบบดิจิทัล (Digital Platform) และการตลาดออนไลน์ (Online Marketing) เพื่อเข้าถึงลูกค้ารายย่อย โดยบริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้นจากการจำหน่ายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าอยู่ที่ระดับ 28.7% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564
- ภาระหนี้อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับต่ำต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้า โดยอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับประมาณ 54%-56% และอัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2 เท่า เนื่องจากทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะขยายสินทรัพย์ให้เช่าอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่นโยบายการปรับลดการจ่ายเงินปันผลที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2563 น่าจะช่วยเสริมให้ฐานทุนของบริษัทมีความแข็งแกร่งในระยะปานกลางอีกด้วย บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับ 55.6% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินรวมต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ระดับ 1.5 เท่า ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 ซึ่งต่ำกว่าเงื่อนไขทางการเงินของหุ้นกู้ของบริษัทซึ่งอยู่ที่ระดับไม่เกิน 3 เท่า
- กระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ทริสเรทติ้งคาดว่ากระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งต่อไปในอีก 2-3 ปีข้างหน้าโดยมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่ายอยู่ที่ระดับประมาณ 3-4 เท่าในระหว่างปี 2564-2566 ซึ่งใกล้เคียงกับระดับ 3.6 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 โดยมาจากการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาระดับความสามารถในการสร้างผลกำไรและภาระหนี้เอาไว้ได้เช่นเดิม รวมทั้งสามารถควบคุมต้นทุนทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะปานกลาง
นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังประมาณการว่าอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่ดีด้วยเช่นกัน โดยอยู่ที่ระดับประมาณ 40% ในระหว่างปี 2564-2566 ทั้งนี้ บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าวอยู่ที่ระดับ 39.9% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564
- มีสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องที่เพียงพอ โครงสร้างสินทรัพย์และหนี้สินที่ได้รับการบริหารอย่างเหมาะสมยังคงเป็นปัจจัยสนับสนุนสถานะแหล่งเงินทุนและสภาพคล่องของบริษัทต่อไปเนื่องจากบริษัทยังคงพึ่งพาเงินกู้ยืมระยะยาวเป็นแหล่งเงินทุนหลักเพื่อให้สอดคล้องกับอายุสัญญาเช่าของบริษัท โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะยาว (รวมส่วนที่ครบกำหนดชำระภายในหนึ่งปี) คิดเป็น 98% ของเงินกู้ยืมทั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อจากสถาบันการเงินอีกหลายแห่งเพื่อใช้เสริมความยืดหยุ่นทางการเงินนอกเหนือไปจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากทั้งตลาดตราสารทุนและตราสารหนี้ของบริษัทอีกด้วย โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีวงเงินสินเชื่อทั้งหมดจำนวน 2.1 พันล้านบาท ซึ่ง 45% ของวงเงินดังกล่าวยังไม่มีการเบิกใช้ และบริษัทยังมีวงเงินสินเชื่อเช่าซื้ออีกจำนวน 453 ล้านบาทซึ่งใช้เป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติมในภาวะที่บริษัทขาดสภาพคล่องได้อีกด้วย อนึ่ง บริษัทมีหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอยู่ที่ระดับ 48%
- ธุรกิจให้เช่าดำเนินงานรถยนต์ได้รับแรงกดดันจากยอดสัญญาเช่าที่ลดลงและการแข่งขันด้านราคา
ในปี 2563 อุปสงค์ด้านบริการรถยนต์แบบเช่าดำเนินงานมีปริมาณที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเนื่องจากธุรกิจในภาคต่าง ๆ ล้วนได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ซึ่งส่งผลทำให้มูลค่าสินทรัพย์ให้เช่าของผู้ประกอบการรายใหญ่ ๆ ณ สิ้นปี 2563 ปรับตัวลดลงประมาณ 10% จากสิ้นปี 2562 ในขณะที่การแข่งขันที่รุนแรงในด้านการตั้งราคาค่าเช่าจากผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้าสู่ตลาดในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังส่งผลกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมอีกด้วย ซึ่งทริสเรทติ้งคาดว่าแรงกดดันจากการแข่งขันจะยังคงดำเนินต่อไป อย่างไรก็ตาม ผลกำไรที่ดีขึ้นจากการจำหน่ายรถยนต์ที่หมดสัญญาเช่าซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากอุปทานรถยนต์มือสองที่มีจำนวนลดลงในขณะที่อุปสงค์มีมากขึ้นนั้นน่าจะช่วยสนับสนุนกำไรจากการดำเนินงานให้แก่ผู้ประกอบการทั้งหลายได้
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
สมมติฐานกรณีพื้นฐานของทริสเรทติ้งสำหรับการดำเนินงานของบริษัทในระหว่างปี 2564-2567 มีดังนี้
- สินทรัพย์ให้เช่ารวมจะเติบโตที่ระดับ 0%-5%
- อัตรากำไรขั้นต้นของธุรกิจเช่าดำเนินงานจะอยู่ที่ระดับประมาณ 12%
- ต้นทุนทางการเงินจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3%
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงสามารถรักษาสถานะทางการตลาดตลอดจนสถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานเอาไว้ได้เช่นเดิม นอกจากนี้ แนวโน้มอันดับเครดิตยังอยู่บนพื้นฐานการคาดหมายของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงภาระหนี้ให้อยู่ในระดับต่ำและรักษากระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่เข้มแข็งไว้ได้ต่อไป
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากสถานะทางการตลาดของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและนำไปสู่ผลประกอบการทางการเงินและกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ที่แข็งแกร่งมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในทางกลับกัน อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงหากสถานะทางการตลาดของบริษัทเสื่อมถอยลงอย่างมีนัยสำคัญ หรือหากผลการดำเนินงานทางการเงินหรือกระแสเงินสดเพื่อการชำระหนี้ของบริษัทถดถอยลงโดยมีอัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษีต่อดอกเบี้ยจ่ายลดต่ำลงกว่าระดับ 2 เท่า