(เพิ่มเติม) ฟิทช์จัดอันดับหุ้นกู้ชุดใหม่ PTT มูลค่า 7 พันล้านบาทที่ AA+

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday November 30, 2007 10:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของบมจ. ปตท. (PTT) (ปัจจุบัน ฟิทช์จัดอันดับเครดิตปตท. ที่ระดับ  “AA+(tha)" แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ครั้งที่ 2/2550 ชุดที่ 1 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2557  ชุดที่ 2 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2560 และชุดที่ 3 ครบกำหนดไถ่ถอนปี พ.ศ. 2561 โดยมีมูลค่ารวมทั้งสิ้นประมาณ 7.0 พันล้านบาท ที่ระดับ “AA+(tha)"
อันดับเครดิตสะท้อนถึงความเป็นผู้นำของปตท.ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันในประเทศไทย ความสำคัญของปตท.ในการสนองนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับความมั่นคงทางด้านพลังงานในประเทศไทย รวมถึงการกำหนดทิศทางการพัฒนากิจการพลังงานของประเทศ อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นที่แข็งแกร่งโดยมีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ การสนับสนุนจากรัฐบาล คณะผู้บริหารที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจเป็นอย่างดี และกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่ง ปตท.ได้รับประโยชน์จากการเป็นผู้ดำเนินการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ การจัดหาและการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศไทย เนื่องจากปตท.มีเครือข่ายระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ครอบคลุมพื้นที่การใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในประเทศ และมีสัญญาการจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติระยะยาวกับผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ทุกรายในประเทศ
นอกจากนี้ การลงทุนที่สูงในการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติได้มีส่วนช่วยจำกัดการแข่งขันจากผู้ลงทุนรายใหม่อีกด้วย ปตท.ยังเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยโดยผ่านการเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน บมจ. ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) โดยมีปริมาณสำรองปิโตรเลียมมากที่สุด และมีปริมาณการผลิตปิโตรเลียมสูงเป็นอันดับที่สองในประเทศไทย ปตท.ยังเป็นผู้จัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในประเทศไทยเกือบทั้งหมด และเป็นผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ในธุรกิจก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) และธุรกิจน้ำมัน
ธุรกิจก๊าซธรรมชาติเป็นธุรกิจที่สำคัญสำหรับปตท.ในการสร้างกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) และยังสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างคงที่ โดยเป็นผลมาจากสัญญาการจัดจำหน่ายระยะยาวซึ่งมีการกำหนดปริมาณการซื้อขั้นต่ำจากคู่สัญญาในลักษณะ take-or-pay รวมถึงความสามารถในการส่งผ่านต้นทุนการขายให้แก่ลูกค้าและความผันผวนที่น้อยกว่าของราคาก๊าซธรรมชาติเมื่อเทียบกับราคาน้ำมัน
ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 ปตท.และบริษัทย่อยมี EBITDA รวม 112,318 ล้านบาท ค่อนข้างคงที่เมื่อเทียบกับ EBITDA ในช่วงเดียวกันของปีก่อน โดย EBITDA ที่เพิ่มขึ้นจากธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจค้าน้ำมันถูกหักล้างจากการลดลงของ EBITDA จากธุรกิจปิโตรเคมีและจากการที่บริษัทโรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด (มหาชน) เปลี่ยนสถานะจากบริษัทย่อยเป็นบริษัทร่วมตั้งแต่เดือนมิถุนายน ปี 2549 ในขณะที่ EBITDA จากธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) คงที่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน EBITDA จากธุรกิจก๊าซธรรมชาติและธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 80 ของ EBITDA รวม ในด้านอัตราส่วนกำไร EBITDA margin ของปตท. ลดลงมาอยู่ที่ 10.5% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 จาก 12.0% ในช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้น
อย่างไรก็ตามสถานะทางการเงินของปตท.ยังคงแข็งแกร่งต่อเนื่องโดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา (Net Adjusted Debt/Last-twelve-month EBITDAR) อยู่ที่ 1.1 เท่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 (เทียบกับ 0.9 เท่าในปี 2549) และมีอัตราส่วน EBITDA ต่อดอกเบี้ยจ่ายที่ 11.2 เท่า (เทียบกับ 10.3 เท่า ในปี 2549)
อันดับเครดิตยังพิจารณารวมถึงแผนการลงทุนในอนาคตของปตท.ที่มีขนาดใหญ่ ความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของบริษัทต่อความผันผวนของราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางด้านกฎระเบียบและทางด้านการเมือง ปตท. มีแผนการลงทุน 5 ปี (ในปี 2550 ถึง 2554) ในโครงการต่างๆ มูลค่า 2.1 แสนล้านบาท โดย ณ ขณะนี้ ปตท. กำลังพิจารณาแผนการลงทุนสำหรับ 5 ปีข้างหน้า (ในปี 2551 ถึง 2555) ซึ่งน่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากโครงการท่อก๊าซที่เพิ่มขึ้นและการปรับเพิ่มเงินลงทุนในโครงการต่างๆ การลงทุนที่สูงอย่างต่อเนื่องน่าจะทำให้ภาระหนี้สินสุทธิของปตท.เพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตามสถานะทางการเงินและสภาพคล่องของบริษัทน่าจะยังคงแข็งแกร่งอยู่ โดยที่อัตราส่วนหนี้สินสุทธิของบริษัทน่าจะอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 2.0 เท่าของ EBITDA
ปตท.ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และรัฐบาลได้ขายหุ้นของปตท.ออกไปบางส่วนในปี 2544 อย่างไรก็ตาม รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของปตท. โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงที่ระดับ 52% และคาดการณ์ว่ารัฐบาลจะยังคงรักษาความเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของปตท.ต่อไป ปตท.เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยโดยมีมูลค่าตลาดสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนตุลาคม ปี 2550

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ