นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล. ทิสโก้ กล่าวว่า ในการประชุมธนาคารกลางสำคัญหลายแห่งในต่างประเทศรวมทั้งของไทยในเดือนนี้ บล.ทิสโก้คาดว่าเกือบทุกแห่งจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามเดิม อย่างไรก็ตาม คาดว่าในการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจปรับคาดการณ์เงินเฟ้อ และอาจพิจารณาเร่งลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ลง (QE Tapering) จากปัจจุบันลดลงเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นลดลงเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งจะทำให้มาตรการผ่อนคลายการเงินเชิงปริมาณ (QE) ยุติลงเร็วขึ้นเป็นในเดือน มีนาคม 2565 จากเดิมคือในเดือน มิถุนายน 2565
นอกจากนี้ คาดว่าประมาณการแนวโน้มการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในอนาคต (Dot Plot) จะบ่งชี้ว่า การขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกจะเร็วขึ้นจากปี 2566 เป็น 2565 แต่ บล.ทิสโก้ประเมินว่า คาดการณ์ขึ้นดอกเบี้ยที่เร็วขึ้นในครั้งนี้จะไม่ส่งผลเชิงลบต่อตลาดมากนัก เพราะ Fed Funds Futures ปัจจุบันสะท้อนโอกาสการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ FED ในปี 2565 จำนวน 2 ครั้งไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม ในเดือนนี้มีประเด็นที่น่าจับตาคือ สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด- 19 ที่กลับมาแพร่ระบาดหนักในยุโรป โดยหลายประเทศเริ่มกลับมาใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มงวดขึ้น นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ "โอไมครอน" (Omicron) ซึ่งนอกจากจะมีรายงานข่าวว่าแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตาแล้ว ยังสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ด้วย ทำให้วัคซีนที่ใช้กันอยู่อาจไม่สามารถป้องกันได้ ซึ่งปัจจุบันมีการแพร่กระจายส่วนหนึ่งในแอฟริกาใต้ และเข้าสู่บางประเทศแล้ว เช่น บอตสวานา ฮ่องกง อิสราเอล และล่าสุด คือ เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ อิตาลี อังกฤษ และออสเตรเลีย
"ตลาดหุ้นทั่วโลกจะผันผวนจนกว่าจะมีข้อมูลสายพันธุ์โอไมครอนมากขึ้น ซึ่งอาจใช้เวลาอีกเป็นเดือน และในระหว่างนี้ก็ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนของสถานการณ์ระบาดว่าจะลุกลามออกไปมากน้อยเพียงใด ซึ่งการตอบสนองของราคาหุ้นก็จะขึ้นอยู่กับสถานการณ์ระบาด และการเลือกใช้มาตรการควบคุมของแต่ละประเทศเป็นสำคัญ เป็นสิ่งที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป" นายอภิชาติกล่าว
สำหรับผลกระทบของโอไมครอนต่อตลาดหุ้นไทย อิงจากการระบาด 2 รอบล่าสุดในปีนี้ คือ เดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม 2564 และเดือนกรกฎาคมถึงเดือนสิงหาคม 2564 ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลงจากพีคประมาณ 60 จุด และ 120 จุด ตามลำดับ และเมื่อพิจารณาควบคู่กับปัจจัยพื้นฐานในแง่ของค่าเฉลี่ยอัตราราคาต่อกำไรล่วงหน้า (12m Fwd. PER) ในช่วง 12 เดือนข้างหน้า และปัจจัยเทคนิค บล.ทิสโก้ประเมินว่าดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่มีนัยสำคัญเหมาะแก่การทยอยสะสมอยู่ 2 ระดับ คือ 1. บริเวณ 1,590-1,600 จุด และ 2. 1,500-1,530 จุด และในช่วงนี้แนะนำให้ปรับพอร์ตตั้งรับ รวมถึงถือเงินสดในพอร์ตเพิ่มขึ้น
ท่ามกลางความไม่แน่นอนของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ และเม็ดเงินกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่จะไหลเข้ามากที่สุดในเดือนนี้ บล.ทิสโก้จึงเน้นเลือกหุ้นเชิงรับขนาดใหญ่ที่มีสภาพคล่องสูงและปันผลดี แนะนำ ADVANC และ EGCO ผสานกับหุ้นที่แนวโน้มกำไรปีหน้าจะเติบโตดีอิงกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจภายในประเทศ แนะนำ HMPRO, JWD, RBF และ TTB เพราะฉะนั้น หุ้นเด่นที่แนะนำในเดือนธันวาคม คือ ADVANC, EGCO, HMPRO, JWD, RBF และ TTB
ด้านแนวรับสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,550 - 1,560 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,520 - 1,530 จุด ขณะที่แนวต้านสำคัญของเดือนนี้อยู่ที่ 1,620 จุดและ 1,640 จุด ตามลำดับ