(เพิ่มเติม) CPF เผยปี 51 ตั้งงบ 5-6 พันลบ.เน้นขยายตลาดรัสเซีย-อินเดีย/รายได้โต 10%

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday November 13, 2007 15:22 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ยังเน้นการขยายธุรกิจไปต่างประเทศ โดยในปี 51 ตั้งงบลงทุนขยายตลาดในรัสเซีย และ อินเดียประมาณ 5-6 พันล้านบาทใกล้เคียงกับปี 50 พร้อมคาดว่าจะสามารถสรุปแผนการลงทุนตั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์บกในยูเครนได้กลางปี 51 และจะเริ่มก่อสร้างในปี 52 
สำหรับปี 51 คาดว่ายอดขายจะเติบโต 10% จากที่ประเมินว่าจะมียอดขาย 1.35-1.4 แสนล้านบาทในปี 50
นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร CPF กล่าวว่า การลงทุนในปีหน้าจะยังคงขยายธุรกิจในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในรัสเซีย และอินเดีย รวมทั้งฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย
การลงทุนในรัสเซียจะเป็นการสร้างโรงงานอาหารสัตว์บก แห่งที่ 2 ที่มีกำลังการผลิตประมาณ 2 แสนตันต่อปี เท่ากับโรงแรกที่จะเริ่มผลิตได้ในกลางปี 51 ส่วนที่อินเดียจะเพิ่มโรงงานอาหารสัตว์บก 2 แห่ง ในเมืองใกล้บอมเบย์ และ เมืองปูเน่
"ตลาดรัสเซียยังมีศักยภาพเติบโตได้อีกมากทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ประเทศเขาผลิตไม่พอ ต้องนำเข้า เราเห็นโอกาสในรัสเซีย ซึ่งเราจะเริ่มทำฟาร์มหมูที่รัสเซีย ทั้งหมูพันธุ์ และหมูขุน"นายอดิเรกกล่าว
รวมถึงการขยายโรงงานอาหารสัตว์บก ได้แก่ ไก่ และ สุกร ในยูเครน ที่คาดว่าจะมีกำลังการผลิต 2 แสนตัน/ปี เนื่องจากยูเครนเป็นหล่งธัญพืชที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ได้ และสามารถผลิตป้อนตลาดยุโรป ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างสำรวจตลาด คาดจะสรุปเรื่องการลงทุนได้ในกลางปี 51
ทั้งนี้ เงินบาทแข็งค่า CPF มองเป็นโอกาสดีที่จะขยายการลงทุนในต่างประเทศ
ปัจจุบัน CPF ได้ลงทุนในประเทศต่างๆ ได้แก่ อินเดีย จีน ตุรกี ลาว รัสเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เป็นต้น
นอกจากนี้ บริษัทจะขยายธุรกิจสัตว์น้ำทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทปลา ที่จะมีการตั้งโรงงานผลิตอาหารปลาเพิ่มขึ้น และการแปรรูปเนื้อปลาพร้อมรับประทาน เนื่องจากแนวโน้มผู้บริโภคจะนิยมรับประทานมากขึ้น
**ปี 51 แนวโน้มดีตามราคาเนื้อสัตว์ที่คาดว่าจะสูงขึ้น
นายอดิเรก มองแนวโน้มราคาเนื้อสัตว์ในประเทศในปีหน้าจะปรับตัวสูงต่อเนื่องตามราคาวัตุดิบ ซึ่งเป็นทิศทางเดียวกับตลาดโลก ประกอบกับ มีจำนวนผู้ผลิตเนื้อสัตว์น้อยลง ทำให้คาดว่าอัตรากำไรสุทธิของบริษัทในปี 51 จะสูงกว่าปี 50 และตั้งเป้าว่ายอดขายจะโต 10% จากปีนี้ที่คาดว่าจะมียอดขาย 1.35-1.4 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโต 8-10% จากปี 49
ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ บริษัทมีอัตรากำไรสุทธิอยู่ที่ระดับ 13%
CPF ยังคาดว่ายอดส่งออกปีหน้าจะขยายตัว 15-20% จากในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ยอดส่งออกมีอัตราขยายตัว 16-17% ทั้งนี้ตลาดยุโรปและญี่ปุ่น ยังเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของบริษัท
"มองในปี 51 จะเป็นปีทองของเรา ถ้าไม่มีปัญหาการเมืองหลังการเลือกตั้ง ซึ่งจะมีผลให้กำลังซื้อลดลง" นายอดิเรกกล่าว
ปัจจุบัน โครงสร้างรายได้ของ CPF มาจากยอดขายในประเทศ 60%, รายได้จากธุรกิจที่บริษัทไปลงทุนในต่างประเทศ 20% และการส่งออกสินค้าไปจำหน่ายต่างประเทศอีก 20% และคาดว่าในอีก 3-5 ปีข้างหน้าสัดส่วนรายได้ในประเทศจะปรับลดเหลือ 50% ส่วนธุรกิจที่บริษัทไปลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเป็น 25% และส่งออก 25%
นายอดิเรก กล่าวว่า แนวโน้มราคาเนื้อไก่และเนื้อสุกรจะปรับสูงขึ้น จากขณะนี้ราคาเนื้อไก่ อยู่ที่กก.ละ 36-37 บาท สูงกว่าต้นทุนที่อยู่ในระดับ 30 บาท/กก. ส่วนเนื้อสุกร ราคาอยู่ที่กก.ละ 43-44 บาท ใกล้เคียงกับต้นทุน และ ไข่ไก่ ราคาฟองละ 2.10 บาท ใกล้เคียงกับต้นทุนเช่นกัน
ขณะที่วัตถุดิบอาหารสัตว์ ได้แก่ ข้าวโพดและกากถั่วเหลือง ก็จะมีราคาสูงขึ้น โดยในปีนี้ราคาวัตถุดิบเพิ่มขึ้น 20-30% จึงเห็นว่ารัฐบาลไทยควรสนับสนุนให้มีการปลูกข้าวโพดในประเทศกัมพูชาและลาวมากขึ้น เพราะมีต้นทุนต่ำและไม่ต้องเสียค่าระวางเรือในการขนส่ง โดยปัจจุบันกัมพูชามีพื้นที่ปลูกข้าวโพด 4-5 แสนตัน
พร้อมกันนั้น สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ได้ยื่นขอให้รัฐบาลงดการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเรื่องนี้ก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ตัดสินใจ
"กลยุทธ์การลงทุนในต่างประเทศก็น่าจะถูกต้อง การทำ Food Safety ทำให้ส่งออกได้ดีก็น่าจะถูกต้อง การทำแบรนด์สินค้าผมก็ว่าน่าจะเป็นกลยุทธ์ที่ถูกต้อง ผมเชื่อว่ากลยุทธ์เหล่านี้ตลอดจนเน้นประสิทธิภาพคน จะทำให้ตัวเราทำกำไรให้กับธุรกิจเราได้ดีขึ้น ประกอบกับ cycle ไม่ดีจะค่อยๆตีกลับ" นายอดิเรก กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่บริษัทยังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดได้แก่ เสถียรภาพของรัฐบาลใหม่ ที่จะมีผลต่อกำลังซื้อในประเทศ ราคาน้ำมันที่มีผลต่อค่าขนส่งและค่าใช้จ่ายในการผลิต ค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าที่จะเตรียมรับมืออย่างไร
"ประเด็นหลักๆที่เราต้องเฝ้าติดตามเหล่านี้ เราประเมินแล้วว่าเราพอรับมือได้ ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าจากผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง(ปี 50)จะดีกว่าครึ่งปีแรก และเรามองว่าปีหน้าก็ยังดี" กรรมการผู้จัดการใหญ่ CPF กล่าว
ทั้งนี้ในไตรมาส 3/50 CPF มีกำไรสุทธิ 1,307.55 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 92% จากปีก่อน แต่งวด 9 เดือนมีกำไรสุทธิ 1,127.27 ล้านบาท ลดลง 50%จากปีก่อน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ