นับแต่วันที่พระราชกำหนดประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ.2561 มีผลใช้บังคับใช้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่อยู่ในกำกับโดยเฉพาะอย่างยิ่ง "ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล" (Exchange) ต้องได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากรัฐมนตรีตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยต้องแสดงให้สำนักงาน ก.ล.ต.เห็นได้ว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมและสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังนี้
- ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาทในวันที่ยื่นคำขอ
- ค่าธรรมเนียมคำขออนุญาต ฉบับละ 30,000 บาท ชำระในวันยื่นคำขอ
- ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัลหรือศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีรูปแบบละ 2,500,000 บาท ซึ่งหากมีความประสงค์ที่จะให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลทั้งสองรูปแบบต้องเสียค่าธรรมเนียมรวม 5,000,000 บาท ชำระในวันที่ได้รับใบอนุญาต
นอกจากนั้นแล้วผู้ที่ได้รับใบอนุญาตประเภทการเป็น ศูนย์ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซี หรือ การเป็นศูนย์ซื้อขายโทเคนดิจิทัล จะต้องชำระค่าธรรมเนียมรายปีในอัตราร้อยละ 0.002 โดยคำนวณจากมูลค่าการซื้อ ขาย หรือ แลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล ในศูนย์ซื้อขายดังกล่าว แต่สูงสุดไม่เกินปีละ 20 ล้านบาท แต่หากอัตราค่าธรรมเนียมที่คำนวณได้ตามวรรคหนึ่งมีจำนวนน้อยกว่า 500,000 บาทให้ชำระค่าธรรมเนียมขั้นต่ำปีละ 500,000 บาท
ค่าธรรมเนียมที่ยกตัวอย่างเบื้องต้นดังกล่าวเป็นค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายที่ต้องชำระเพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลเพียงเท่านั้น ยังไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายหรือค่าธรรมเนียมราชการอื่น ๆ ถ้ามี เช่น ค่าธรรมเนียมการตั้ง หรือ การบริการจัดการนิติบุคคล ค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับกิจการที่ต้องได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ค่าสำรองเงินกองทุน หรือ การดูแลสภาพคล่อง
และโดยเฉพาะอย่างยิ่งค่าใช้จ่ายที่สำคัญที่สุด คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการพัฒนาและบริหารจัดการเทคโนโลยีเบื้องหลังศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่อาจมีมูลค่าหลักร้อยล้านบาท
ดังนั้น เมื่อพิจารณาเงื่อนไขคร่าว ๆ ของระเบียบกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่ายเพื่อประกอบกิจการศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอยากถูกต้องตามกฎหมายของประเทศไทยนั้น อาจต้องใช้เงินหลายร้อยล้านบาท จึงไม่ง่ายนักที่ผู้ประกอบกิจการในประเทศไทย หรือ คนไทยจะเข้ามาประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล
รวมถึงผู้ประกอบกิจการจากต่างประเทศที่อาจพิจารณาแล้วว่าอาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุนเพียงเพื่อให้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการในไทยที่มีลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ในประเทศไทย ซึ่งเป็นลูกค้าที่มีจำนวน และมีขนาดการซื้อขายที่น้อยกว่าในระดับภูมิภาค หรือในระดับโลก จึงอาจส่งผลต่อการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยไม่มากก็น้อย
นายปรุงศักดิ์ เชาวน์ชาติ
ทนายความหุ้นส่วน กลุ่มสำนักงานกฎหมายอเบอร์ (ABER Group)
อนุญาโตตุลาการผู้เชี่ยวชาญด้านสินทรัพย์ดิจิทัล สถาบันอนุญาโตตุลาการ (Thailand Arbitration Center : THAC)