BGRIM ขยายพอร์ตพลังงานทดแทนมุ่ง Net Zero ทุ่มแสนลบ.ซื้อกิจการ-ลงทุนใน-ตปท.

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 8, 2021 09:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายฮาราลด์ ลิงค์ ประธาน บี.กริม และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) กล่าวถึงทิศทางการดำเนินงานในปี 65 ว่าจะเป็นที่พิเศษสำหรับบริษัทในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยรวม 144 ปี หรือครบ 12 รอบ บริษัทจะมุ่งขยายพลังงานทดแทน ซึ่งเป็นทิศทางของการใช้พลังงานทั่วโลก เพื่อตอบโจทย์ วิสัยทัศน์มุ่งสร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี (Empowering the World Compassionately) โดยยึดหลักการดำเนินธุรกิจด้วยความโอบอ้อมอารี เพื่อสร้างคุณค่าให้กับสังคม พร้อมเติบโตเคียงคู่ไปกับประเทศไทยและภูมิภาค

พร้อมเป้าหมายก้าวสู่องค์กรที่ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Net-Zero Carbon Emissions ได้ภายในปี ค.ศ.2050 (พ.ศ.2593) สะท้อนจากโครงการล่าสุดในประเทศคือ การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมบ่อทอง วินด์ฟาร์ม 1&2 ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 16 เมกะวัตต์ ในจังหวัดมุกดาหาร ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการเข้าร่วมลงทุน 90% ในโครงการไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 14 เมกะวัตต์ในประเทศโปแลนด์ ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการเข้าลงทุนในยุโรปตะวันออก และการเข้าซื้อหุ้น 80% ใน Huong Hoa Holding Joint Stock Company ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 48 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม

ตอกย้ำด้วย เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัทได้รับรองเงินกู้สีเขียวที่มีส่วนในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Loan Certificate) จาก Climate Bonds Initiative (CBI) องค์กรอิสระระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อมแก่โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ DT ในประเทศเวียดนาม จำนวนรวม 160.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นับเป็นเงินกู้สีเขียวชุดที่ 2 ของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ในประเทศเวียดนามภายหลังจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Phu Yen ขนาด 257 เมกะวัตต์ในปี 2563

นายฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าใช้งบลงทุนทั้งหมดประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการพัฒนาโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟ (PPA) ตามแผนในปัจจุบันและโครงการใหม่ที่อยู่ระหว่างการเจรจาที่คาดว่าจะบรรลุข้อตกลงได้ในปี 2565 ทั้งที่เป็นโครงการสัมปทานใหม่ (กรีนฟิลด์) และแผนการซื้อกิจการ (M&A) โดยคาดว่าจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ทำให้กำลังการผลิตที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่ 4,015 เมกะวัตต์ มุ่งสู่เป้าหมาย 7,200 เมกะวัตต์ ภายในปี 2568 และ 10,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573

ในปี 2565 บริษัทจะมีการเติบโตของกำลังการผลิตถึง 23% จาก 2,894 เมกะวัตต์ในปัจจุบัน เป็น 3,544 เมกะวัตต์ จากการ COD และแผนการ M&A นอกจากนี้จะมีลูกค้าอุตสาหกรรมใหม่ที่รับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 55 เมกะวัตต์ ทั้งนี้ยังมีแผนการควบคุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ด้วยเป้าหมายที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายอย่างน้อย 100 ล้านบาท และคาดว่าโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้งรวม 700 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำหนด COD ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2565 จะช่วยประหยัดอัตราการใช้ก๊าซธรรมชาติลง 15% ขณะที่จะมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการต้นทุนค่าก๊าซในอนาคต เมื่อเริ่มนำเข้า LNG ด้วย

"เราตั้งเป้าขยายการลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศและร่วมทุนกับพันธมิตรต่างๆ ซึ่งทุกประเทศที่เราเข้าไปไม่เพียงเข้าไปแค่ทำโรงไฟฟ้า และขายไฟฟ้า หรือทำธุรกิจในระยะสั้นๆ แต่เป้าหมายคือ เราต้องการสร้าง บี.กริม ในประเทศนั้นๆ ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องการใช้เวลา" ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว

นายฮาราลด์ ลิงค์ เปิดเผยถึงการดำเนินงานในรอบ 11 เดือนของปี 64 ว่าบริษัทมีการลงทุนที่สำคัญ โดยเข้าไปร่วมทุน (M&A) ในโครงการโรงไฟฟ้าต่างๆ รวม 4 โครงการ ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มอย่างน้อย 510 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยการเข้าร่วมลงทุน 90% ในโครงการไฟฟ้าพลังงานลมขนาด 14 เมกะวัตต์ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาในประเทศโปแลนด์ โดยมีกำหนด COD ในปี 2566 ซึ่งถือเป็นก้าวแรกในการเข้าลงทุนในยุโรปตะวันออก การเข้าลงทุน 80% ใน Huong Hoa Holding Joint Stock Company โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม กำลังการผลิต 48 เมกะวัตต์ ในประเทศเวียดนาม มีกำหนด COD ในปี 2565

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างการเข้าลงทุนในโรงไฟฟ้า SPPs 3 โครงการ ผ่านการถือหุ้นในบริษัทย่อย 45% ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังและนิคมอุตสาหกรรมบางปู กำลังการผลิตติดตั้งรวม 360 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือน ธ.ค.2564 และการเข้าลงทุนในบริษัท reNIKOLA Holding SDN BHD ผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์ ที่ประเทศมาเลเซีย ปัจจุบันมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ COD แล้ว 3 โครงการ รวม 88 MW


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ