นายเผดิมภพ สงเคราะห์ กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวในงานสัมมนา "ส่องหุ้นไทย 2022 ลงทุนรับเปิดประเทศ" ในหัวข้อ "เบญจภาคี 5 หุ้นเด็ด หลังเปิดเมือง" ว่า ตลาดหุ้นไทยจะเริ่มปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นในวันที่ 30 ธ.ค. 64 หลังจากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยประจำเดือนพ.ย. ซึ่งคาดว่าตัวเลขภาคการผลิต ภาคบริการ และภาคการค้าจะออกมาดี ตามเศรษฐกิจในประเทศที่เริ่มทยอยฟื้นตัว แม้ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในไตรมาส 3/64 จะยังคบติดลบ แต่ทุกสำนักคาดว่า GDP ในไตรมาส 4/64 จะสามารถกลับมาเป็นบวกได้อีกครั้ง ต่อเนื่องไปยังปี 65
โดยให้ธีมการลงทุนปี 65 ทั้งหมด 3 ธีมได้แก่ 1) หุ้นกลุ่มค้าปลีก : เนื่องจากผ่านจุดต่ำที่สุดในช่วงไตรมาส 3/64 มาแล้ว และในปี 65 จะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ เห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพ.ย.จากศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ปรับขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบ 7 เดือน และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 พร้อมแนะนำหุ้น CPALL และ DOHOME
2) หุ้นกลุ่มที่อยู่อาศัย/อสังหาริมทรัพย์ : หลังจากราคาขายที่อยู่อาศัยเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ทั้งคอนโดมิเนียม บ้านเดี่ยว นอกจากนี้ยังมองว่าเป็นหุ้นที่มี PE ต่ำ และให้เงินปันผลสูง พร้อมแนะนำหุ้น LH และ SC
และ 3) หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ : ซึ่งจะปรับตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ดังนั้นจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 65 พร้อมแนะนำหุ้น KBANK
ด้านนายภาสกร ลินมณีโชติ กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยช่วงครึ่งปีแรกของปี 65 จะดีกว่าช่วงครึ่งปีหลังตามกำลังซื้อที่กลับเข้ามา จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่ต้องการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบ ส่วนในช่วงครึ่งปีหลังจะต้องติดตามนโยบายของธนาคารกลางในแต่ละประเทศว่าจะมีทิศทางอย่างไร ต่อแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในปีนี้ และต่อเนื่องไปยังปี 65
และมองเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 65 จะขึ้นไปสูงกว่าที่ 1,730 จุดได้ หากทั้ง 3 ปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวครบทั้ง ภาคการส่งออก ภาคการท่องเที่ยว และเศรษฐกิจในประเทศ แต่อย่างไรก็ตามยังคงมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตามอง เช่น การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่โอมิครอน ซึ่งจะส่งผลให้ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
พร้อมให้ธีมการลงทุนหลักในปี 65 ทั้งหมด 6 ธีม ประกอบด้วย 1) หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการเลือกตั้ง ได้แก่ CPALL OSP LH และ STEC 2) หุ้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จาก Pent up demand ของการเดินทาง ได้แก่ SPRC และ AWC 3) หุ้นกลุ่ม Anti Commodities plays ได้แก่ PTG GFPT EPG และ BGRIM 4) หุ้นที่ได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้น ได้แก่ BLA และ SCB 5) หุ้นที่ได้ประโยชน์หลักจากกระแสความนิยมของรถยนต์ ได้แก่ KCE และ 6) หุ้นที่มีการใช้ Data usage 5G เพิ่มขึ้น ได้แก่ ADVANC
ด้านเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิจัย บล.เอเชีย พลัส กล่าวว่า มองเป้าดัชนีตลาดหุ้นไทยปี 65 มีแนวโน้มทะลุ 1,800 จุด เนื่องจากเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐและมาตรการทางการเงินที่ยังคงช่วยเหลือผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง เพราะแม้ว่า GDP จะปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่กลับไปสูงเท่าช่วงก่อนโควิด-19 ประกอบกับกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 65 น่าจะออกมาดี เพราะแม้ในปี 64 ที่ต้องเผชิญกับภาวะโควิด-19อย่างรุนแรง กำไรของบริษัทจดทะเบียนในทุก ๆ ไตรมาสก็ยังออกมาดีกว่าคาดได้ นอกจากนี้ยังมีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติที่น่าจะเข้ามาในปี 65 ด้วย
พร้อมแนะนำหุ้น 5 ตัว ประกอบไปด้วย 1) ADVANC : หลังจากที่ TRUE และ DTAC ประกาศแผนควบรวม ทำให้การแข่งขันทางด้านราคาลดลง 2) DOHOME : ตามยอด SSSG ที่เติบโต 3) THANI : หลังสินเชื่อรถบรรทุกมีแนวโน้มฟื้นตัวหลังเปิดเมือง 4) KBANK : พร้อมเดินหน้าเส้นทางสายดิจิตัล และ 5) M : หลังภาครัฐผ่อนปรนมาตรการรับประทานอาหารภายในร้าน
ส่วนนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโส นักกลยุทธ์การลงทุนฝ่ายวิจัย บล.หลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทิศทางตลาดหุ้นครึ่งปีแรกจะปรับตัวขึ้นได้โดดเด่นกว่าครึ่งปีหลัง จากแรงหนุนอย่างทิศทางเศรษฐกิจโลก ที่ตัวเลขภาคการผลิตกลับไปสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ด้านภาคบริการแม้จะยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่ แต่มีฐานที่ต่ำ และในปี 65 ยังคาดว่าจะเห็นการเปิดประเทศที่สำคัญ เช่น จีน ซึ่งจะทำให้ภาคการบริการทั่วโลกกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง โดยมองเป้าดัชนีปีนี้ที่ 1,660 จุด และปี 65 ที่ 1,750 จุด
พร้อมแนะนำหุ้น 5 ตัว อย่าง 1) JMART ซึ่งคาดว่าจะทำผลงานออลไทม์ไฮได้ต่อเนื่องไปถึงปี 65 2) TTB : ซึ่งมีฐานลูกค้าเพิ่มมากขึ้นหลังการควบควมกันของสองธนาคาร 3) JMT : เตรียมงบประมาณราว 1 หมื่นล้านบาทสำหรับซื้อหนี้ในปีหน้า 4) CPN : รับรู้รายได้จาก SF ได้เต็มปี และ 5) SCC ซึ่งจะดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ