(เพิ่มเติม) กฟผ.ส่ง กฟผ.อินเตอร์ฯร่วมทุน"หงสาลิกไนท์" -ลงทุนโรงไฟฟ้าในภูฎาน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 12, 2007 15:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมบัติ ศานติจารี ผู้ว่าการคนใหม่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ประกาศนโยบายให้บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นหัวหอกในการลงทุนในต่างประเทศ และเจรจารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน พร้อมเดินหน้าโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศ 4 แห่ง ภายใต้การดำเนินงานของ กฟผ.ขนาดรวม 3.2 พันเมกะวัตต์ ลงทุนกว่า 4 พันล้านดอลลาร์ 
"กฟผ.อินเตอร์จะเข้าไปลงทุนทุกโครงการในลาว และประเทศอื่นที่มีศักยภาพ เปรียบเสมือนเราจะทำ กฟผ.อินเตอร์ฯ เป็นปตท.สผ.อนาคตที่จะเข้าตลาดหุ้นขณะนี้ยังไม่มีแผน ต้องรอให้มีรายได้เข้ามาเสียก่อน คิดว่าจะมีโอกาสเข้าได้"นายสมบัติ กล่าวในการแถลงข่าว
ขณะนี้ กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล อยู่ระหว่างการเจรจาเข้าร่วมทุนในโครงการหงสาลิกไนท์ในประเทศลาวที่ริเริ่มโดย บมจ.บ้านปู(BANPU) ซึ่งคาดว่าจะเข้าถือหุ้นในสัดส่วนประมาณ 20-25% น่าจะได้ข้อสรุปการร่วมทุนภายในไตรมาส 1/51 ระหว่างนี้ก็ได้เจรจาค่าไฟฟ้าที่จะรับซื้อจากโครงการดังกล่าวไปพร้อมกันด้วย
โครงการดังกล่าวจะมีการร่วมทุนของ 4 ฝ่ายคือ กฟผ.อินเตอร์ฯ, BANPU , บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง(RATCH) และรัฐบาลลาว ซึ่งการที่กฟผ.เข้าร่วมทุนเป็นไปตามข้อเรียกร้องของทางการลาว
นอกจากนี้ กฟผ.อินเตอร์ฯ ยังเตรียมเข้าไปลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำน้ำเงี๊ยบในลาว ขนาดกว่า 200 เมกะวัตต์ คาดใช้เงินลงทุนประมาณ 1 พันล้านบาท เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 57 สัดส่วนการถือหุ้นในโครงการดังกล่าวไม่น่าจะต่ำกว่า 25% รวมทั้งเข้าไปร่วมทุนในโครงการน้ำอู ขนาด 1 พันเมกะวัตต์ ซึ่งมีเอกชนจากจีนเป็นผู้ถือหุ้นหลัก โดยขณะนี้การเจรจาซื้อขายไฟฟ้าจากเขิ่อนน้ำอูเรียบร้อยแล้ว คาดว่าปลายเดือนนี้จะเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้า 27 ปี เริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าในปี 58
นายสมบัติ กล่าวว่า กฟผ.ยังได้ศึกษาการเข้าลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศภูฎาน เพื่อจำหน่ายกระแสไฟฟ้าให้กับประเทศอินเดีย ซึ่งจะเป็นแนวทางการเพิ่มรายได้ให้กับ กฟผ.อินเตอร์ฯได้ทางหนึ่ง
นอกจากนี้ยังมองลงทุนในสหภาพพม่า ซึ่งมองว่ามีศักยภาพในการสร้างเขื่อนพลังน้ำแต่ยังติดปัญหาการเมือง รวมทั้งโอกาสลงทุนในกัมพูชา และ โอมาน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานให้นโยบาย กฟผ.สามารถรับซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศได้ในสัดส่วน 20% ของกำลังการผลิต ซึ่งปัจจุบันมีการซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศไม่ถึง 5%
*เร่งสร้างความเข้าใจชาวบ้านเปิดใจรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน
ในระหว่างนี้ กฟผ.ก็จะรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ขณะเดียวกันก็เตรียมสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยอีก 4 โรง ขนาดโรงละ 800 เมกะวัตต์ รวม 3,200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะใช้เงินทุนประมาณ 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามแผนงานจะเริ่มผลิตไฟฟ้าในปี 58 โดยขณะนี้ กฟผ.จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนในพื้นที่ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินในยุคนี้ไม่ได้ก่อให้เกิดมลภาวะ และถ่านหินยังเป็นเชื้อเพลิงที่ราคาถูกกว่าก๊าซธรรมชาติในปัจจุบัน
นายสมบัติ กล่าวว่า ในปีหน้าจะได้ข้อสรุปเรื่องสถานที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งทั้ง 4 โรงจะตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกัน รวมทั้งหาข้อสรุปแหล่งถ่านหินที่จะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าดังกล่าวด้วย โดยอาจนำเข้าจากออสเตรเลียและอินโดนีเซีย คาดว่าจะสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ภายในปี 53 หรือ 54 แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ได้เมื่อใด หากกฟผ.ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐทำไม่ได้ เอกชนก็คงยากที่จะเข้าไปดำเนินการ น่าจะใช้เวลาทำความเข้าใจกับประชาชนประมาณไม่เกิน 3 ปี
" ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ต้องรีบทำความเข้าใจประชาชน และระดับภาคสังคม ต้องช่วยกันทำความเข้าใจ เราเรียนรู้ว่ามันยากลำบาก เราก็ไปซื้อไฟจากเมืองนอก ซึ่งก็มีจุดดด้อยที่เราไม่ได้เป็นเจ้าของ ฉะนั้นเรื่องสร้างความเข้าใจต้องจับมือกับส่วนอื่นมากขึ้น ถึงเวลาที่ประชาชนต้องรู้ถึงความจำเป็น ขณะนี้เราคงต้องผูกมิตรกับภาคประชาสังคมมากขึ้น" นายสมบัติกล่าว
ปัจจุบันต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ สูงกว่าจากถ่านหิน 0.50 บาทต่อหน่วย ซึ่งหากประเทศไทยยังใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าก็มีแนวโน้มค่าไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งการประกาศค่าเอฟทีในรอบหน้า หรือ ก.พ. 51 มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น
ขณะนี้มีโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติสัดส่วนถึง 70% ส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินและ รับซื้อจากเอกชนมีสัดส่วน 12% จากเขื่อนพลังน้ำ 5-6% ตามแผนจะลดสัดส่วนโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติลงเหลือ 60% โดยจะเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าถ่านหินเป็น 12-14% และจากพลังงานนิวเคลียร์ 10%
"ท่านรัฐมนตรี (รมว.พลังงาน) รู้ว่าเกิดยาก จึงตั้ง กฟผ.อินเตอร์ฯเพื่อใช้เป็น Option ที่จะเข้าไปซื้อไฟจากต่างประเทศ ต้องยอมรับว่า กฟผ.อินเตอร์ฯสำคัญมากในช่วงที่เรายังต้องการไฟฟ้า" ผู้ว่า กฟผ. กล่าว
นายสมบัติ ยังมองว่า ร่างพ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ได้ให้ความเห็นชอบแล้วจะเป็นช่องทางนำร่องให้ชุมชนเกิดความเข้าใจมากขึ้น โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเพื่อจ่ายเงินชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างโรงไฟฟ้า โดยกองทุนดังกล่าวจะมีเงินเข้ากองทุนปีละประมาณ 1 พันล้านบาท เก็บจากผู้ผลิตไฟฟ้าทุกราย และโรงไฟฟ้าถ่านหินจ่ายเข้ากองทุนสูงถึง 2 สตางค์ต่อหน่วย
อนึ่ง นายสมบัติ ผู้ว่ากฟผ.คนใหม่ มีระยะเวลาดำรงตำแหน่งเพียง 2 ปี 1 เดือน ก็จะเกษียณอายุราชการ ในปี 52

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ