กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทจัดการกองทุนร่วมลงทุน (Venture Capital) ประกาศความสำเร็จในการระดมทุนในกองทุนจากนักลงทุนสถาบันรอบแรกผนึก 3 องค์กรใหญ่ ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก (OR) และ บมจ.สยามราชธานี (SO) ร่วมลงทุนใน "ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I" กองทุนสตาร์ทอัพกองแรกของไทยที่เปิดรับนักลงทุนจากภายนอก พร้อมเตรียมเปิดเสนอขายให้กับนักลงทุนรายบุคคลประเภทรายใหญ่พิเศษ (Ultra-High Net Worth Investor: UHNWI) โดยจะเสนอขายครั้งเดียวระหว่างวันที่ 16-22 ธ.ค.นี้
ฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I เป็นกองทุนขนาด 3,000 ล้านบาท มีเป้าหมายเพื่อลงทุนในสตาร์ทอัพทั้งในไทยและอาเซียนที่มีศักยภาพ และอยู่ในระดับซีรี่ส์ A ขึ้นไป โดยมี กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทร่วมลงทุนในเครือกรุงศรี กรุ๊ป เป็นผู้จัดการทรัสต์ ดูแล บริหารการลงทุน และคัดเลือกสตาร์ทอัพที่จะเข้าลงทุน ซึ่งจะโฟกัสสตาร์ทอัพใน 3 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และออโตโมทีฟ (ยานยนต์) โดยจะเน้นไปที่การสร้างโอกาสทางธุรกิจและการสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มสตาร์ทอัพและกลุ่มนักลงทุนองค์กร ที่ได้เข้ามาร่วมลงทุน
นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด กล่าวว่า ทั้งสามองค์กรร่วมลงทุนในฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ทรัสต์ I ถือเป็นนักลงทุนกลุ่มแรกที่จะร่วมสร้างแรงขับเคลื่อนสำคัญให้กับสตาร์ทอัพอีโคซิสเต็มอีกครั้ง และในฐานะผู้ดูแลกองทุน เราเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่านี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นในการสนับสนุนสตาร์ทอัพให้เติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ นอกจากนี้เรายังเห็นโอกาสในการต่อยอดและสร้างความร่วมมือระหว่างกันอีกมากมาย
นายอภิศักดิ์ เกี่ยวการค้า รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานการเงินและบริหารเงินลงทุน ตลท.กล่าวว่า ตลท.มุ่งส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนผ่านกลไกตลาดทุนของผู้ประกอบการทุกขนาดอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผู้ประกอบการสตาร์ทอัพซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในการพัฒนาตลาดทุนให้เป็นประโยชน์แก่ทุกภาคส่วน ตลาดหลักทรัพย์ฯ เชื่อว่าการร่วมลงทุนในฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I ร่วมกับองค์กรชั้นนำในครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นไปที่ กลุ่มฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และออโตโมทีฟ (ยานยนต์) จะมีส่วนเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจให้กับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพ และนำไปสู่การพัฒนาที่สำคัญของประเทศต่อไป
นางสาวราชสุดา รังสิยากูล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการโครงการ ORion ของ OR ในฐานะกรรมการ บริษัท มอดูลัส เวนเจอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ OR กล่าวว่า "หนึ่งในแนวทางการสร้างการเติบโตทางธุรกิจของ OR คือการมองหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่และธุรกิจที่ต่อยอดจากสิ่งที่ OR มีอยู่ เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ภายใต้กรอบ Mobility & Lifestyle
การเข้าร่วมลงทุนในฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I ถือเป็นโอกาสที่ดีของ OR ในการมองหาสตาร์ทอัพในกลุ่มฟินเทค อีคอมเมิร์ซ และออโตโมทีฟ (ยานยนต์) เพื่อเข้ามาเติมเต็มพอร์ตโฟลิโอของ OR อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนสตาร์ทอัพอีกทางหนึ่งด้วย โดย OR มีความเชื่อมั่นในประสบการณ์ของผู้บริหารและทีมงานของกรุงศรี ฟินโนเวต จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของกองทุนที่มีการเติบโตที่ดีและสามารถสร้าง Synergy ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นายณัฐพล วิมลเฉลา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SO กล่าวว่า ในปี 64 SO มีกลยุทธ์ขยายธุรกิจผ่านการลงทุนและการควบรวมกิจการ (M&A) เพื่อต่อยอดธุรกิจ outsourcing ในปัจจุบัน โดยเฉพาะด้าน IT Service ซึ่งในปีนี้ เราได้มีการ due diligence กับสตาร์ทอัพหลายรายเพื่อหาโอกาสและลงนาม MOU เพื่อเข้าประเมินมูลค่ากิจการตามที่ประกาศก่อนหน้านี้แล้ว ประกอบกับสถานะการเงินของ SO มีกำไรอย่างต่อเนื่อง และมี balance sheet ที่แข็งแรง leverage ต่ำ สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อนำมาลงทุนในสตาร์ทอัพ รวมถึง VC Fund
ดังนั้น การร่วมลงทุนในกองทุนฟินโนเวนเจอร์ ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ I ในครั้งนี้ นอกจากการเข้าไปเป็นผู้ลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนทางการเงินที่สูงกว่าตลาดแล้ว ทาง SO ยังได้โอกาสเข้าเป็น Strategic Investors ผู้ร่วมลงทุนจากอุตสาหกรรมต่างๆ และบริษัทในเครือธนาคารกรุงศรี ซึ่งการร่วมมือทางธุรกิจภายใต้อีโคซิสเต็มระหว่าง Strategic Investors ที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรม และสตาร์ทอัพจะเพิ่มโอกาสความสำเร็จให้แก่สตาร์ทอัพ รวมถึงโอกาสในการร่วมมือพัฒนาธุรกิจและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ SO ได้มีโอกาสเรียนรู้เพิ่มเติมและต่อยอดการให้บริการในปัจจุบัน
สำหรับนักลงทุนรายบุคคลประเภทรายใหญ่พิเศษ (Ultra-High Net Worth Investor: UHNWI) ที่สนใจการลงทุนในสตาร์ทอัพสามารถร่วมลงทุนผ่านกองทุนเปิดกรุงศรี Finnoventure PE Y2033 ? ห้ามขายผู้ลงทุนรายย่อย (KFFVPE-UI) จะเปิดเสนอขายครั้งเดียวระหว่างวันที่ 16-22 ธ.ค. ด้วยเงินลงทุนขั้นต่ำ 1 ล้านบาท