บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดปัจจุบันของ บมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) ที่ระดับ "BBB-" ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" และคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุน ไม่มีประกันและไถ่ถอนเมื่อเลิกกิจการ (Hybrid Debentures) ที่ระดับ "BB"
ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังคงอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันชุดใหม่ในวงเงินไม่เกิน 5 พันล้านบาทซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้งที่ระดับ "BBB-" ไปเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2564 ด้วย โดยบริษัทจะนำเงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ชุดใหม่ดังกล่าวไปทดแทนหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันที่จะครบกำหนดชำระในปี 2565
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่เป็นที่ยอมรับในตลาดคอนโดมิเนียมและสัดส่วนรายได้จากโครงการร่วมทุนที่ค่อนข้างสูง ทั้งนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงภาระหนี้ในระดับสูงและความกังวลของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด-19) ที่ยืดเยื้อซึ่งจะยังคงสร้างแรงกดดันต่อความต้องการที่อยู่อาศัยและความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่อไป
ยอดขายสุทธิของบริษัทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ลดลง 63% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วเป็น 2.1 พันล้านบาท รายได้จากการดำเนินงานรวมในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 เท่ากับ 2.7 พันล้านบาท ลดลง 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ทริสเรทติ้งมองว่าผลการดำเนินงานของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันต่อไปในช่วงที่เหลือของปี 2564 จนถึงครึ่งแรกของปี 2565 ซึ่งคาดว่าความต้องการในตลาดคอนโดมิเนียมจากทั้งผู้ซื้อชาวไทยและต่างชาติยังคงชะลอตัว
ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งยังมองว่าคำสั่งให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก ยังไม่มีผลกระทบต่อสถานะเครดิตของบริษัทในทันทีเนื่องจากระยะเวลาในการพิจารณาการอุทธรณ์จะใช้เวลาอีกหลายปี และผลของคำพิพากษาก็ยังไม่มีความแน่นอนอีกด้วย
ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทจะปรับดีขึ้นเป็น 5.5-6.5 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566 ทั้งนี้ ยังคาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) จะเท่ากับเพียง 1 พันล้านบาทในปี 2564 เนื่องจากบริษัทไม่มีโครงการคอนโดมิเนียมที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและส่งมอบในปีนี้ อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่า EBITDA ของบริษัทจะปรับดีขึ้นเป็นประมาณ 1.5-2 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2565-2566
ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 1.28 หมื่นล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย ยอดขายรอการรับรู้รายได้จากโครงการร่วมทุนมูลค่า 1.2 หมื่นล้านบาท และจากโครงการของบริษัทเองมูลค่า 0.8 พันล้านบาท ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถส่งมอบยอดขายรอการรับรู้รายได้มูลค่า 1.9 พันล้านบาทในไตรมาสที่ 4 ของปี 2564 มูลค่า 6.2 พันล้านบาทในปี 2565 และมูลค่า 4.7 พันล้านบาทในปี 2566 เนื่องจากบริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้ที่น้อยลง ดังนั้นรายได้และกำไรของบริษัทจะต้องพึ่งพาความสามารถในการขายยูนิตที่สร้างเสร็จเหลือขายเป็นอย่างมาก โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2564 บริษัทมีคอนโดมิเนียมที่สร้างเสร็จเหลือขายมูลค่า 2.45 หมื่นล้านบาท
บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรสุทธิจากการลงทุนในโครงการ่วมทุนเพียง 0.2 พันล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าส่วนแบ่งกำไรจากการลงทุนในโครงการร่วมทุนจะได้รับผลกระทบจากผลขาดทุนของโครงการคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการพัฒนาและโครงการเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ที่เพิ่งสร้างเสร็จโดยเซอร์วิสอพาร์ทเม้นท์ทุกแห่งจะเริ่มเปิดดำเนินการในช่วงที่การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวยังมีความไม่แน่นอน ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีส่วนแบ่งกำไรสุทธิเท่ากับ 0.1 พันล้านบาทในปี 2565 และ 1 พันล้านบาทในปี 2566
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะยังคงสูงต่อไปในช่วง 3 ปีข้างหน้าเนื่องจากบริษัทมีแผนจะเปิดโครงการที่อยู่อาศัยอย่างต่อเนื่อง บริษัทประสบความสำเร็จในการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม (right offering) จำนวน 1.3 พันล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2564 อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะอยู่ในระดับ 65%-68% ตลอดช่วงประมาณการ และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินอาจอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% ในช่วงปี 2564-2565 แต่ควรปรับดีขึ้นเป็นประมาณ 4% ในปี 2566
ทริสเรทติ้งประเมินว่าสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทจะค่อนข้างตึงตัวแต่น่าจะยังสามารถบริหารจัดการได้ในอีก 12 เดือนข้างหน้า แหล่งเงินทุนของบริษัทประกอบด้วยเงินสดจำนวน 5.9 พันล้านบาท ณ เดือนกันยายน 2564 รวมถึงวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่สามารถยกเลิกได้จำนวน 1.5 พันล้านบาท ณ กลางเดือนธันวาคม 2564 กระแสเงินสดจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะเท่ากับ 0.3 พันล้านบาทในปี 2565
นอกจากนี้ บริษัทยังมีที่ดินเปล่าที่ปลอดภาระค้ำประกันซึ่งมีมูลค่าตามบัญชีจำนวน 6.1 พันล้านบาทที่สามารถนำไปใช้เป็นหลักประกันเพื่อขอเงินกู้จากธนาคารในกรณีที่จำเป็นได้อีกด้วย ในขณะที่บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1.6 หมื่นล้านบาทซึ่งประกอบด้วย หุ้นกู้ 8.1 พันล้านบาท ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้น 7.1 พันล้านบาท และเงินกู้ระยะยาว 0.8 พันล้านบาท
ทั้งนี้ โดยปกติแล้วบริษัทจะออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระ ตั๋วสัญญาใช้เงินระยะสั้นส่วนใหญ่เป็นเงินกู้ชั่วคราวเพื่อใช้ในการซื้อที่ดินซึ่งจะถูกทดแทนด้วยเงินกู้โครงการในภายหลัง และคาดว่าบริษัทจะจ่ายชำระคืนเงินกู้โครงการด้วยกระแสเงินสดจากการโอนโครงการ นอกจากนี้ บริษัทมีแผนจะทดแทนหุ้นกู้ด้อยสิทธิลักษณะคล้ายทุนมูลค่า 1 พันล้านบาทซึ่งบริษัทมีสิทธิที่จะไถ่ถอนในช่วงต้นปี 2565 ด้วยเงินจากการเพิ่มทุนในช่วงปลายปี 2564
ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีหนี้สินทางการเงินรวม (ตามการพิจารณาลำดับชั้นในการได้รับคืน) อยู่ที่จำนวน 3.03 หมื่นล้านบาทซึ่งรวมถึงหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนที่จำนวน 6.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ หนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนเป็นหนี้ที่มีหลักประกันของบริษัทแม่และหนี้สินรวมของบริษัทย่อยต่าง ๆ เนื่องจากอัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินทางการเงินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 22% ซึ่งต่ำกว่าระดับ 50% ตาม "เกณฑ์การจัดอันดับเครดิตตราสารหนี้" ของทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งจึงพิจารณาว่าเจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทไม่มีความเสียเปรียบอย่างมีนัยสำคัญแต่อย่างใดเมื่อพิจารณาจากลำดับชั้นในการได้รับคืนเมื่อเปรียบเทียบกับสินทรัพย์ของบริษัท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงความคาดหวังว่าบริษัทจะสามารถรักษาผลการดำเนินงานเอาไว้ได้ตามเป้าหมาย ทั้งนี้ คาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับสูง โดยคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจะอยู่ในระดับ 65%-68% ตลอดช่วงประมาณการ และอัตราส่วนผลตอบแทนต่อเงินทุนถาวรคาดว่าจะปรับดีขึ้นเป็น 3%-5% ในช่วงปี 2565-2566
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจถูกปรับลดลงหากผลการดำเนินงานและ/หรือสถานะเครดิตของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากประมาณการ ในทางตรงกันข้าม การปรับเพิ่มอันดับเครดิตอาจเกิดขึ้นหากบริษัทมีผลการดำเนินงานแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้และฐานะทางการเงินปรับดีขึ้นจนทำให้อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นสูงกว่า 5% และอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 60%