HILITE: ดัชนีกลุ่มแบงก์ลบ 1.36% ย่อตัวหลังขึ้นแรง TTB นำดิ่ง แต่เทรนด์ดบ.ขาขึ้นยังหนุน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 17, 2021 10:41 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดัชนีกลุ่มแบงก์ลบ 1.36% มาอยู่ที่ 408.26 จุด ลดลง 5.57 จุด เมื่อเวลา 10.30 น. นำดิ่งโดยหุ้น TTB ลบ 2.19% มาอยู่ที่ 1.34 บาท ลดลง 0.03 บาท มูลค่าซื้อขาย 293.87 ล้านบาท

หุ้น SCB ลบ 1.95% มาอยู่ที่ 125.50 บาท ลดลง 2.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 704.84 ล้านบาท

หุ้น KBANK ลบ 1.75% มาอยู่ที่ 140.50 บาท ลดลง 2.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 944.39 ล้านบาท

หุ้น BBL ลบ 0.82% มาอยู่ที่ 121.50 บาท ลดลง 1.00 บาท มูลค่าซื้อขาย 458.18 ล้านบาท

หุ้น KKP ลบ 0.81% มาอยู่ที่ 61.50 บาท ลดลง 0.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 16.88 ล้านบาท

นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการอาวุโสนักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิจัย บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า ราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์เช้านี้ต่างปรับตัวลงกันทั่วหน้า ซึ่งไปกดดันตลาดฯให้อ่อนตัวลงไปด้วย หลังจากที่หุ้นในกลุ่มแบงก์วานนี้ได้ปรับตัวขึ้นไปมากหนุนตลาดฯให้ปรับตัวขึ้นแรง วันนี้ก็มีการย่อตัวลงบ้าง แต่โดยภาพรวมกลุ่มแบงก์ไม่ได้แย่อะไร เพราะยังได้รับประโยชน์จากทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้น พร้อมแนะนำหุ้น KBANK และ TTB

ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ฯแนะ"เพิ่มน้ำหนักลงทุน"หุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยนักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโตดีขึ้นเป็น 3.5-3.9% ในปี 65 (จาก 1% ในปี 64) หนุนโดยการบริโภคและการลงทุนของภาครัฐและเอกชนที่ขยายตัวดีขึ้น ภาคท่องเที่ยวทยอยฟื้นตัว โดยคาดว่าจะเห็นชัดเจนในครึ่งหลังปี 65 และภาคส่งออกเติบโตดีเพราะกำลังซื้อประเทศคู่ค้าสูงขึ้น ซึ่งเป็นบวกกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่จะปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้น รายได้ดอกเบี้ยรับ และรายได้ค่าธรรมเนียม รวมถึงรายได้จากการลงทุนมากขึ้น ขณะที่ความเสี่ยงเรื่องการด้อยค่าของคุณภาพสินทรัพย์ชะลอตัวลง

นอกจากนี้ ได้อานิสงค์จากอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น ตลาดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับเป็นทิศทางขาขึ้นตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไปหลังจากผ่านวิกฤตโควิด-19 ซึ่งธนาคารจะได้ประโยชน์เพราะสินเชื่อส่วนใหญ่ปล่อยในอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating rate) ขณะที่เงินฝากส่วนใหญ่เป็นเงินฝากประจำต้นทุนการเงินจึงจะปรับขึ้นช้ากว่ารายได้ดอกเบี้ยรับ ส่งผลให้ NIM ดีขึ้น

ในเชิงกลยุทธ์หุ้นแบงก์ใหญ่เด่น คือ KBANK (เติบโตโดเด่นในกลุ่ม) รองมาเป็น BBL (ราคาหุ้นถูกมาก โดยมี P/BV ต่ำเพียง 0.5 เท่า) และ SCB (จะจ่ายปันผลพิเศษใน Q2/65 จากการแปลง SCB เป็น SCBX เฉพาะส่วนปันผลพิเศษนี้คาด Yield ราว 3-5%) ส่วนแบงค์เล็กหุ้นเด่นคือ KKP และ TISCO ซึ่งจ่ายปันผลสูงมาก Yield 6-7% ต่อปี (KKP จ่ายปีละ 2 ครั้ง แต่จ่ายระหว่างกาลน้อยกว่ารอบหลัง ส่วน TISCO จ่ายปีละ 1 ครั้ง)


แท็ก KBANK   SCB  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ