นายวรชาติ ทวยเจริญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฟินเน็กซ์ แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน บมจ.พรีเมียร์ แทงค์ คอร์ปอเรชั่น (PTC) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) นับหนึ่งแบบคำขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์และแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (แบบไฟลิ่ง) เพื่อเสนอหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) แล้ว
PTC มีทุนจดทะเบียน 205 ล้านบาท มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 0.50 บาท โดยมีทุนเรียกชำระแล้ว 150 ล้านบาท คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 300 ล้านหุ้น และจะเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 110 ล้านหุ้น คิดเป็น 26.83% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วทั้งหมดของบริษัท โดยภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ บริษัทจะนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไป ใช้ในการชำระคืนเงินกู้แก่สถาบันการเงิน และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
นายวีรวัฒน์ บูรพพัฒนพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTC เปิดเผยว่า จากประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทางบกและสถานีบริการน้ำมัน มากว่า 20 ปี ทำให้ทีมผู้บริหารเล็งเห็นถึงโอกาสทางธุรกิจในการพัฒนาระบบห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมพลังงานให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้บริการรับ เก็บ และจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่สถานีบริการน้ำมันภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัท ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่สุดของประเทศ โดยเริ่มก่อสร้างคลังน้ำมันแห่งแรกที่ อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กำลังการจ่ายน้ำมันสูงสุด 4.6 ล้านลิตรต่อวัน รองรับความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงแก่กลุ่มสถานีบริการน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน
ต่อมาได้ก่อสร้างคลังแห่งที่ 2 ที่ อ.กันทรารมย์ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งถือเป็นที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ในการกระจายน้ำมันเชื้อเพลิงในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่สามารถเชื่อมต่อกับทางรถไฟได้ ทำให้มีศักยภาพการให้บริการเพิ่มมากขึ้น ทั้งช่วยลดต้นทุนและเพิ่มช่องทางการขนส่งให้แก่ลูกค้า
โดยคลังแห่งที่ 2 นี้มีระบบการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงแบบอินไลน์ (Inline Fuel Blending) จึงมีความยืดหยุ่นในการปรับสูตรผลิตภัณฑ์ ทำให้จ่ายน้ำมันได้หลากหลายประเภท ด้วยกำลังการจ่ายน้ำมัน 2.4 ล้านลิตรต่อวัน นอกจากนี้ ยังสามารถรองรับการให้บริการแก่ผู้ค้าน้ำมันได้มากกว่าหนึ่งราย โดยบริษัทฯ จะทำหน้าที่เป็นผู้รับและจ่ายน้ำมันให้แก่สถานีบริการน้ำมันของผู้ค้าในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมน้ำมันเชื้อเพลิง
PTC เป็นผู้ให้บริการที่มีบทบาทสำคัญในการกระจายน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับสถานีบริการน้ำมันครอบคลุมทั่วทั้งภาคอีสาน โดยบริษัทฯ มีลักษณะการดำเนินธุรกิจ ประกอบด้วย 1) บริการรับ เก็บ และจ่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปประเภทเบนซินและดีเซล ให้บริการที่คลังน้ำมัน จ.ขอนแก่น และคลังน้ำมัน จ.ศรีสะเกษ และ 2) บริการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงพื้นฐานตามสูตรเพื่อให้ได้ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปตามที่ลูกค้าต้องการ ให้บริการที่คลังศรีสะเกษ
"การให้บริการของ PTC อยู่ภายใต้การนำเสนอแนวคิดของการใช้ทรัพยากรร่วมกันให้แก่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ในประเทศ เพื่อให้บริการรับ เก็บ ผสม และจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงให้แก่สถานีบริการน้ำมัน โดยเราจะทำหน้าที่เป็นผู้รับและจ่ายน้ำมันให้แก่สถานีบริการน้ำมันในพื้นที่ใกล้เคียง ส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันสามารถประหยัดงบลงทุนที่ต้องสร้างคลังน้ำมันของตัวเอง ช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มทางเลือกการขนส่งรวมถึงการสำรองน้ำมันของสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งเป็นการบริหารจัดการทรัพยากรในระบบห่วงโซ่อุปทานพลังงานของประเทศไทยให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด" นายวีรวัฒน์ กล่าว
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTC กล่าวว่า บริษัทฯ มีวิสัยทัศน์เป็นห่วงโซ่คุณค่า ที่มั่นคงแข็งแกร่งในระบบพลังงานของประเทศ บนหลักการบริหารแบบยั่งยืนและใส่ใจ เพื่อเป็นพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นหนึ่งในใจลูกค้า ผ่านการเชื่อมโยงการส่งมอบพลังงานสู่ภูมิภาค ด้วยบริการที่ตอบโจทย์ของลูกค้าอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพ และมีคุณภาพสูง
บริษัทมีเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน คือ (1) การเพิ่มประสิทธิภาพในการรับ-จ่ายน้ำมัน โดยรองรับวิธีการขนส่งน้ำมันที่หลากหลาย และเพิ่มจำนวนสถานีบริการที่มารับน้ำมันจากคลังของบริษัทฯ (2) มุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการส่งมอบพลังงานเพื่อให้ทุกพื้นที่ มีโอกาสเข้าถึงพลังงานอย่างเท่าเทียมกัน และ (3) สร้างธุรกิจใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ และพันธกิจ เพื่อเป็นการกระจายฐานรายได้ และลดความเสี่ยงจากการพึ่งพิงธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง
สำหรับผลการดำเนินงานในช่วงปี 61-63 บริษัทมีรายได้จากการให้เช่าและบริการรับ เก็บ และจ่ายน้ำมันในปี 61 จากคลังน้ำมัน ขอนแก่นเพียงแห่งเดียว 161.97 ล้านบาท และต่อมาในปี 62 มีรายได้ 176.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.19% และปี 63 มีรายได้ 253.39 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.29% โดยช่วงปี 62-63 รายได้ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการเปิดคลังศรีสะเกษในเดือน ก.ค.62
ขณะที่กำไรสุทธิในปี 61-63 ทำได้ 75.42 ล้านบาท, 55.43 ล้านบาท และ 111.06 ล้านบาท ตามลำดับ คิดเป็นอัตรากำไรสุทธิเท่ากับ 45.68%, 31.28%, 43.76% ตามลำดับ โดยในปี 63 กำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 100.37% เนื่องจากคลังน้ำมันศรีสะเกษเปิดให้บริการเต็มปี ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลงจากการชำระหนี้เงินกู้ระยะยาวต่อเนื่อง
ส่วนในงวด 9 เดือนแรกปี 64 บริษัทฯ มีรายได้ 166.29 ล้านบาท ลดลง 11.13% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นการลดลงตามยอดจำหน่ายน้ำมันในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีโรงงานบางส่วนหยุดการผลิต ทำให้การเดินทางโดยรถยนต์ลดลง ทำให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 72.23 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อน 8.98% แต่อัตรากำไรสุทธิกลับปรับตัวดีขึ้นเป็น 43.33% เพิ่มขึ้น 0.98% จากงวด 9 เดือนของปี 63 ซึ่งกำไรสุทธิชะลอตัวเนื่องจากรายได้จากการให้เช่าและบริการลดลง อย่างไรก็ดี บริษัทมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการบริหารและต้นทุนทางการเงินที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงทำให้อัตรากำไรสุทธิปรับตัวดีขึ้นจากงวด 9 เดือนแรกของปีก่อน