นายวิจิตร อารยะพิศิษฐ นักกลยุทธ์การลงทุน บล.เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) (MST) กล่าวว่า แนวโน้มการลงทุนในช่วง Q1/65 คาดตลาดแกว่งขึ้น โดยประเมินกรอบแกว่ง 1,600-1,700 จุด แรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าทั้งภาคการบริโภคในประเทศที่ได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐฯ การส่งออกที่เติบโตดีต่อเนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าที่ขยายตัว การฉีดวัคซีนที่ทั่วถึงขึ้นหนุนความเชื่อมั่นต่อการลงทุนปรับตัวสูงขึ้น
ในขณะที่การท่องเที่ยวจะค่อยๆฟื้นตัว และมี Upside Risk หากนักท่องเที่ยวจีนมาเที่ยวไทยมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเกินดุล กระตุ้นบาทแข็ง เอื้อต่อกระแสเงินทุนไหลเข้า
ส่วนปัจจัยเสี่ยงแนะระวังแรงขาย LTF ครบกำหนด, ทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น, สภาพคล่องที่ลดลง รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
สำหรับปี 65 เราประเมินกำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนใน SET ที่ 94.2 บาทต่อหุ้น (+13%YoY) อิง PE Ratio ที่ 18.6 เท่า เทียบเคียงกับระดับค่าเฉลี่ย PE ย้อนหลัง 5 ปีของ SET + 0.5 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation : SD) จะได้เป้าหมายดัชนีสิ้นปี 65 ที่ระดับ 1,750 จุด
ปัจจัยเสี่ยงที่ควรระวัง ได้แก่ 1.แรงขาย LTF ครบกำหนด แนะเพิ่มความระมัดระวังในช่วงต้นปี จากโอกาสเกิดแรงขายจากเม็ดเงิน LTF ที่ครบกำหนดการถือครอง 7 ปีปฎิทิน (ซื้อเมื่อปี 2559) โดยหากประเมินเม็ดเงินจากยอดซื้อสุทธิในปี 2559 ราว 2.2 หมื่นล้านบาท มีโอกาสถูกไถ่ถอน (Redemption) เป็นแรงกดดันระยะสั้นต่อการลงทุน แต่อย่างไรก็ดีมองเป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้นพื้นฐานดีในจังหวะที่ตลาดย่อตัว
2.เศรษฐกิจจีนชะลอตัว คาด GDP จีน ปี 65 ที่ +5.2% เติบโตด้วยอัตราที่ชะลอลงจากปี 64 ที่ +8% แรงกดดันจากทั้งประเด็นโควิด-19, มาตรการรัฐฯที่เข้มงวดมากขึ้น ผสานความเสี่ยงบริษัทอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของจีนที่ผิดนัดชำระหนี้ซึ่งอาจลามไปยังบริษัทอื่นได้ แต่อย่างไรก็ดีภาครัฐฯก็พยายามอัดฉีดสภาพคล่องสู่ระบบ ผ่านการลด RRR ดังนั้นผลกระทบโดยรวมอาจยังอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ แต่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
3.การเก็บภาษีเทรดหุ้น มาตรการเก็บภาษีซื้อขายหุ้นสร้างแรงกดดันเพิ่มเติม โดยปัจจุบันรัฐฯกำลังศึกษา 2 แนวทางคือ 1) ภาษีการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) และ 2) ภาษีกำไรจากการขายหุ้น (Capital gain Tax) โดยในเบื้องต้นเราคาดว่าภาครัฐฯมีโอกาสเก็บภาษีการขายหุ้น (ข้อ1) เนื่องจากใช้ข้อมูลในการจัดเก็บภาษีได้ง่ายกว่าภาษีกำไรจากการขายหุ้น ซึ่งจะค่อนข้างยากต่อการคิดต้นทุน โดยหากใช้จริงคาดจะเป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อการลงทุนเนื่องจากทำให้ต้นทุนของนักลงทุนมากขึ้น และน่าจะส่งผลให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดชะลอตัวลงเช่นกัน
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะทยอยสะสมหุ้นที่แนวโน้มกำไรขยายตัวดี ขานรับเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ฟื้นตัวขึ้น ท่ามกลางวงจรดอกเบี้ยขาขึ้น ผสานหุ้นปันผลสูงที่เป็นเป้าหมายนักลงทุนสถาบันช่วงต้นปี โดยเราเลือก ASK, GULF, SCC, SPRC, WICE เป็น 1Q65 Quarterly top picks
ASK เป้าหมาย 55 คาดกำไรปี 64-65 เติบโต 35% YoY ต่อปี และจะเติบโต QoQ แตะระดับสูงสุดใหม่ทุกไตรมาสใน 4Q64-4Q65 รายได้ดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมโตแข็งแกร่ง จากยอดขายรถบรรทุกในประเทศที่เพิ่มขึ้น และรายได้จากนายหน้าประกันภัยเติบโตสูง ราคาหุ้นเทรด PE ปี 65 เพียง 14.5x ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรมที่ 24x
GULF เป้าหมาย 48 คาดกำไรปี 65 เติบโต +45%YoY เด่นสุดในกลุ่มโรงไฟฟ้าที่เราศึกษา กำลังการผลิตรวมปี 65 เพิ่มขึ้น 33% สู่ 5,045 MW เน้นพลังงานทางเลือกมากขึ้น โดยคาดปีหน้าเพิ่มขึ้นราว 200-400 MW ราคาก๊าซเพิ่มขึ้นกระทบจำกัด (รายได้จากนิคมฯเพียง 10% ของทั้งหมด)
SCC เป้าหมาย 520 ปี 65 จะแยกธุรกิจปิโตรเคมีเข้าตลาด ช่วยเพิ่มมูลค่า และ ศักยภาพโต แนวโน้มในระยะยาวจะเข้าสู่เฟสของการเติบโต ธุรกิจปิโตรเคมีเพิ่มกำลังการผลิต 55% บรรจุภัณฑ์ครบวงจรโตเท่าตัวใน5ปี วัสดุก่อสร้างเน้นโซลูชั่น หุ้นซื้อขาย PE ต่ำ และ ปันผลดี กระแสเงินสดสูงขยายการลงทุนต่อเนื่อง
SPRC เป้าหมาย 11.2 คาดค่าการกลั่นปี 65 ปรับตัวขึ้นสู่ 4.5-5 USD/bbl จากปีนี้ที่ 3.4 USD คาด Utilization Rate ปี 65 ขึ้นสู่ระดับ 85-90% จากปี 64 ที่ 74% ความต้องการ Gasoline สูงขึ้น คาด Spread ที่ 11-12 Vs เฉลี่ย 9 USD คาดปี 65 จะกลับมาจ่ายปันผลได้ราว 5% และ D/E ต่ำเพียง 0.3x
WICE เป้าหมาย 22.1 แนวโน้มกำไร Q4/64 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ เป็นไตรมาสที่ 8 ติดต่อกัน นอกจาก sea freight แล้ว WICE เด่นกว่ากลุ่มด้วยธุรกิจ cross border โต +159% YoY สัดส่วนรายได้ 28% Cross border กำลังเร่ง GPM ทั้งจากบริการ LTL และ Road-Rail ซึ่งได้ประโยชน์จากรถไฟจีน-ลาว