บล.กสิกรไทย มองว่า ดัชนีหุ้นไทยสัปดาห์ถัดไป (3-7 ม.ค. 65) มีแนวรับที่ 1,645 และ 1,630 จุด ขณะที่แนวต้านอยู่ที่ 1,675 และ 1,700 จุด ตามลำดับ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. 64 ของไทย รวมถึงทิศทางเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ
ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ดัชนี PMI การจ้างงานของภาคเอกชน การจ้างงานนอกภาคเกษตร อัตราการว่างงานเดือนธ.ค.64 บันทึกการประชุมเฟด (14-15 ธ.ค. 64) ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศอื่นๆ ได้แก่ ดัชนี PMI เดือนธ.ค. 64 ของญี่ปุ่น จีนและยูโรโซน รวมถึงดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. 64 (เบื้องต้น) และดัชนีราคาผู้ผลิตเดือนพ.ย. 64 ของยูโรโซน
ณ 30 ธ.ค. 64 ดัชนี SET แตะระดับสูงสุดของปีที่ระดับ 1,660.85 ในวันทำการสุดท้ายของปี ก่อนจะกลับมาปิดที่ระดับ 1,657.62 จุด เพิ่มขึ้น 1.25% จากสัปดาห์ก่อนขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 67,935.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.67% จากสัปดาห์ก่อน ส่วนดัชนี mai เพิ่มขึ้น 2.09% มาปิดที่ 582.13 จุด
ส่วนภาพรวมตลาดหุ้นไทยในปี 2564 SET Index มีกรอบการเคลื่อนไหวในช่วง 1,425.48-1,660.85 จุดในปี 2564 ทั้งนี้ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวอิงขาขึ้นในช่วงครึ่งแรกของปี ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยมีแรงหนุนจากการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ตลอดจนการเร่งฉีดวัคซีนต้านโควิดในประเทศ มาตรการเยียวยาจากภาครัฐ และความหวังเกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ หลังนายโจ ไบเดนเข้ารับตำแหน่งปธน.สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี SET พักฐานในเวลาต่อมาท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์โควิด-19 จากสายพันธุ์เดลต้า ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้น ทำให้เริ่มมีการคาดการณ์ว่า เฟดต้องส่งสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินเร็วขึ้น ซึ่งมีผลกดดันตลาดหุ้นทั่วโลกด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ดี หุ้นไทยดีดตัวขึ้นได้อีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลางเดือนส.ค. 2564 โดยมีแรงหนุนเป็นระยะๆ จากสถานะซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติ ประกอบกับทางการไทยทยอยผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ รวมถึงขยายมาตรการเพื่อส่งเสริมให้สถาบันการเงินช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ขณะที่สถานการณ์โควิดในประเทศมีแนวโน้มทรงตัว
แต่กระนั้นกรอบขาขึ้นของหุ้นไทยยังคงจำกัดในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีท่ามกลางหลายปัจจัยลบ อาทิ สัญญาณถอยออกจากมาตรการผ่อนคลายทางการเงินของเฟด และการกลับมาระบาดอีกครั้งของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่ชื่อสายพันธุ์โอมิครอนตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม แม้ว่าอาการป่วยจากการติดเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่อาจไม่รุนแรงจนต้องเข้าโรงพยาบาลก็ตาม