นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้น่าจะพักตัวลงตามตลาดหุ้นทั่วโลก หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยรายงานการประชุมรอบวันที่ 14-15 ธ.ค.64 ส่งสัญญาณว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ รวมถึงการปรับลดขนาดงบดุลบัญชี (Balance Sheet) ทันทีหลังจากเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ถือเป็นประเด็นหลักที่ส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกพักตัว เพราะหมายความว่าสภาพคล่องจะเริ่มลดลง จึงเป็นลบกับหุ้นที่ P/E แพงๆ หรือหุ้นที่มี Valuation สูง เช่น หุ้นเทคโนโลยี ขณะที่บ้านเรา แม้ไม่ได้มีหุ้นเทคโนโลยีโดยตรง แต่อาจมีผลต่อหุ้นอิเล็กทรอนิกส์
ให้กรอบแนวรับไว้ที่ 1,665 จุด และแนวต้าน 1,680 จุด
ขณะที่ บทวิเคราะห์ของ บล.ไอร่า ยังคงมีมุมมองเชิงบวกต่อการที่นักลงทุนต่างชาติเข้าซื้อหุ้นไทยต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 21 ธ.ค. มาผ่านมา โดยซื้อไปแล้วกว่า 6.1 หมื่นล้านบาท สะท้อนมุมมองที่ดีต่อภาพเศรษฐกิจไทยที่น่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/64 และจะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้ดีขึ้นในปีนี้
ทั้งนี้ เชื่อว่านักลงทุนสถาบันยังมีโอกาสพลิกกลับมาซื้ออีกครั้งตั้งแต่ช่วงกลาง-ปลายเดือน ม.ค.หลังผ่านพ้นการไถ่ถอนกองทุน LTF มองเป็นบวกต่อกลุ่ม Big Cap โดยเฉพาะแบงก์ธนาคาร (KBANK, SCB, TTB) ที่คาดการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะสามารถทำให้สินเชื่อกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง รวมทั้งทิศทางดอกเบี้ยโลกเริ่มปรับเปลี่ยนเป็นขาขึ้น พร้อมทั้งการตั้ง ECL ที่คาดจะเริ่มปรับลดลงตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 1/65
รวมทั้งหุ้นในกลุ่ม EV Play (EA,GPSC,HANA และ SAT) ตามแนวโน้มการผลักดันการใช้รถไฟฟ้า (EV) ของไทย ที่ตั้งเป้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นสัดส่วน 30% ของการผลิตทั้งหมดภายในปี 73 และคาดว่าจะเริ่มเห็นการออกมาตรการกระตุ้นและสนับสนุนที่ชัดเจนมากขึ้นตั้งแต่ปีนี้
ขณะที่ยังต้องติดตามเกณฑ์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมขายหุ้น (Financial transaction tax) อัตรา 0.1% จากมูลค่าการขาย คาดยังเป็นปัจจัยจำกัด Upside ของตลาดหุ้นไทยบ้าง
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (5 ม.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 36,407.11 จุด ลดลง 392.54 จุด (-1.07%,ดัชนี S&P500 ปิดที่ 4,700.58 จุด ลดลง 92.96 จุด (-1.94%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 15,100.17 จุด ลดลง 522.54 จุด (-3.34%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 195.41 จุด หรือ -0.67%, ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 13.96 จุด หรือ -0.39% และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 64.05 จุด หรือ -0.28%
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (5 ม.ค.) 1,676.79 จุด เพิ่มขึ้น 6.51 จุด (+0.39%)
- นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิ 3,405.97 ล้านบาท เมื่อวันที่ 5 ม.ค.65
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.พ.ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (5 ม.ค.) ปิดที่ระดับ 77.85 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 86 เซนต์ หรือ 1.1%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (5 ม.ค.) อยู่ที่ 5.83 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 33.25 อ่อนค่าตามทิศทางตลาดโลก คาดกรอบวันนี้ 33.20 - 33.35
- ศบค.เคาะมาตรการคุม "โอมิครอน" 7 ม.ค. เลื่อนเปิดระบบ "Test&Go-เปิดผับบาร์" ออกไป ไม่มีกำหนด "หมอศิริราช" เชื่ออีก 1 สัปดาห์ยอดรายวันทะลุหมื่นราย ปลาย ม.ค.พุ่ง 2-3 หมื่นราย สทท.ประเมินขยาย Test & Go ฉุดรายได้ท่องเที่ยววูบไม่ต่ำกว่า 5-6 พันล้านบาท เสนอเพิ่มพื้นที่ "กรุงเทพฯ แซนด์บ็อกซ์" ดึงทัวริสต์ ธปท.หวั่น "โอมิครอน" ทำห่วงโซ่อุปทานโลกสะดุด
- ก.ล.ต.เปิดแผนกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล ควบคุมผู้ประกอบธุรกิจ-คุ้มครองนักลงทุน เตรียมยกระดับเกณฑ์กำกับเทียบเคียงธุรกิจหลักทรัพย์ พร้อมให้ความรู้นักลงทุนก่อนซื้อขาย เพื่อเพิ่มความคุ้มครองแก่ผู้ลงทุนในโทเคนดิจิทัล
- พาณิชย์ แจงน้ำมัน-หมู-ผักแพง กระทุ้งเงินเฟ้อ ธ.ค.64 กระฉูด ด้าน ธปท.ห่วงโอมิครอนระบาดทั่วโลก เข็นปัญหา global supply chain disruption ระอุอีกรอบ หวั่นกระทบการผลิตส่งออกสินค้าของไทย คาดสถานการณ์คลี่คลายช่วงครึ่งหลังปี 65
- รัฐเดินหน้าอัดฉีดงบประมาณประจำปี 2566 จำนวน 3.18 ล้านล้านบาท พร้อมจัดสรรแบ่งลงทุนอีก 7 แสนล้านบาท ส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มรับเหมาโดยเฉพาะโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ครอบคลุมทั้งโครงการทางบก ระบบราง และอากาศ ด้านโบรกมองเป็นโอกาสของกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ชู CK-ITD-STEC โดดเด่นชิงส่วนแบ่งคว้างานตุนแบ็กล็อกเพิ่ม
- ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า พบว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง มีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องติดตาม 4 ปัจจัยหลักที่จะกระทบเศรษฐกิจในช่วงต่อไป คือ 1.พัฒนาการการระบาดของโอมิครอน ซึ่งอาจส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง รุนแรง ยืดเยื้อ ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ขยายตัวต่ำกว่าในกรณีฐาน หรือขยายตัว 3.4% ขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความเข้มงวดของมาตรการควบคุมการระบาด 2.ความเชื่อมั่นของประชาชนและธุรกิจ ท่ามกลางการระบาดหลายระลอกและปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งจะกระทบการใช้จ่ายของประชาชน
- จากที่รัฐบาลได้มอบหมายให้ธนาคารเพื่อการนำเข้าและการส่งออกแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ช่วยเหลือและสนับสนุนด้านการเงินสำหรับอุตสาหกรรมการบินนั้น กรอบวงเงินช่วยเหลือราว 20,000 ล้านบาท ช่วยไปแล้ว 5,000-6,000 ล้านบาท โดยแต่ละสายการบินจะได้รับเงินกู้ไม่เท่ากัน เนื่องจากเอ็กซิมแบงก์พิจารณาตามแผนธุรกิจเป็นหลัก เน้นการรักษาการจ้างงานเป็นหลัก เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดให้บริการ โดยเฉพาะพนักงานการบินเป็นตำแหน่งที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ ส่วนจะพิจารณาช่วยเหลือและสนับสนุนการเงินเพิ่มเติมอีกหรือไม่ ขณะนี้ไม่มีนโยบายแล้วเนื่องจากธุรกิจการบินเริ่มกลับมาทำธุรกิจได้แล้ว โดยเฉพาะการบินในประเทศ
- PTTEP (เอเชีย เวลท์) "ซื้อ" เป้าหมาย 140 บาท คาดกำไรสุทธิ Q4/64 แข็งแกร่ง ราคาน้ำมันยังเป็นปัจจัยหนุน - คาด Q4/64 กำไรสุทธิเติบโต ทั้ง QoQ และ YoY ยอดขายและราคาขายยังคงเป็นปัจจัยหนุน ภาพรวมปี 64 เติบโตกว่า 67%YoY และคาดว่าจะเติบโตต่อเนื่องถึงปี 65 ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบที่ 70 เหรียญต่อบาร์เรล ขณะที่แผนลงทุน 5 ปี จะทำให้บริษัทมียอดขายเติบโตเฉลี่ย 5% ต่อปี ระยะสั้นมีแรงหนุนราคาหุ้น จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่ม
- TU (ฟินันเซีย ไซรัส) "ซื้อ" เป้าหมาย 30 บาท กำไร Q4/64 ดูดีกว่าที่เคยคาดอาจ Flat Q-Q ได้ทั้งที่เป็น Low Season และต้นทุนยังสูงขึ้นทั้งวัตถุดิบและค่าขนส่ง แต่ชดเชยได้ด้วยการเริ่มปรับขึ้นราคากับลูกค้าซึ่งปรับขึ้นทั้งอุตสาหกรรมจึงไม่กระทบต่อการแข่งขัน ยังคาดกำไรสุทธิปี 64-65 +19% Y-Y และ +3% Y-Y นอกจากนี้ยังมี Catalyst จากการ Spin-Off ธุรกิจ Pet Care เพื่อปลดล็อก Value แฝง
- BLA (เคทีบีเอสที) เป้าเชิงกลยุทธ์ 42.00 บาท ประเมินรายได้จากเบี้ยประกันเติบโตต่อ หลังวิกฤติยอดจะไม่แผ่วอีกทั้งค่าเฉลี่ยของเบี้ยประกันสุขภาพมีโอกาสเพิ่มขึ้น YoY จากการปรับรูปแบบความคุ้มครอง มองปี 65 จะเป็นปีทองของการสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ที่มีอายุโดยเฉลี่ยน้อยลงจากการตะหนักถึงความคุ้มครอง ที่มีประโยชน์เมื่อถึงเวลาจำเป็น Bloomberg Consensus ประเมินกำไรสุทธิปี 64-65 ที่ 4.2 พัน ลบ. และ 4.68 พัน ลบ. +168%YoY, +11%YoY ตามลำดับ