นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 129.53 ปรับตัวลดลง 4.2% จากเดือนก่อนหน้าและยังคงอยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง"
นักลงทุนคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการไหลเข้าของเงินทุน และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน ส่วนปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และผลการประชุมอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
-ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มีนาคม 2565) อยู่ในเกณฑ์ "ร้อนแรง" (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับตัวลดลง 4.2% มาอยู่ที่ระดับ 129.53
-ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในระดับ "ร้อนแรง" ส่วนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ อยู่ในระดับ "ทรงตัว"
-หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด หมวดธนาคาร (BANK)
-หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
-ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
-ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน
FETCO ระบุว่า ผลสำรวจ ณ เดือนธันวาคม 2564 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนบุคคลปรับลด 5.8% อยู่ที่ระดับ 127.63 และกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 19% อยู่ที่ระดับ 121.43 ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติทรงตัวอยู่ที่ระดับ 100.00 และ 140.00 ตามลำดับ
ในช่วงเดือนธันวาคม 2564 SET Index เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 1,588.19-1,657.62 จุด โดยมีปัจจัยในประเทศที่กระทบการเคลื่อนไหวของดัชนี ได้แก่ จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และกระทรวงการคลังประกาศทบทวนการจัดเก็บภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Financial Transaction Tax) อัตรา 0.1% สำหรับมูลค่าธุรกรรมฝั่งขาย
SET index ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2564 ปิดที่ 1,657.62 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.7% จากเดือนก่อนหน้า และปรับขึ้น 14.4% จากสิ้นปี 2563
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ ผลกระทบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศ สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ หลังจากสหรัฐฯ มีการผ่านกฎหมายแบนสินค้าที่บังคับใช้แรงงานจากจีน โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มเทคโนโลยี อีกทั้ง สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ สั่งให้บริษัทจีนเปิดเผยข้อมูลให้กับหน่วยงานภาครัฐของสหรัฐฯ ส่งผลให้บริษัทจีนมีความเสี่ยงเรื่องการถูกถอดออกจากตลาดหุ้นสหรัฐฯ สูงขึ้น
ผลจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางในหลายประเทศเพื่อสกัดเงินเฟ้อ อาทิ ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจาก 0.1% เป็น 0.25% ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดขนาดของมาตรการ QE เป็นเดือนละ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าอาจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปี 2565 ถึง 3 ครั้ง ในขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ประกาศลดวงเงินซื้อพันธบัตร พร้อมคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การรับมือของภาครัฐต่อสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐแทนมาตรการเดิมที่หมดไป และการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน