กลุ่มไทยออยล์ โดยบริษัท TOP Ventures ได้จับมือกับ บริษัท ไมนีด เทคโนโลยี จำกัด (Mineed Tech) ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพไทยที่มีความเชี่ยวชาญในผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาสุขภาพหรือเฮลท์แคร์ คิดค้นนวัตกรรม "แผ่นแปะเข็มระดับไมโครชนิดละลายได้" (Detachable Dissolvable Microneedles) ซึ่งเป็นทางเลือกใหม่ทดแทนการใช้เข็มฉีดยาในปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีนี้ได้มีการพัฒนาต่อยอดด้วยการปลดเข็ม Microneedles ผสมตัวยาให้ฝังลงสู่ใต้ชั้นผิวหนังและตัวยาจะค่อยๆ ซึมไปยังตำแหน่งเป้าหมายได้อย่างแม่นยำ มีประสิทธิภาพ และนวัตกรรมใหม่นี้ยังสามารถลดเวลาการใช้งานจริงให้เหลือเพียง 2 นาที เท่านั้น เหมาะกับการใช้งานจริงต่างๆ มากมาย เช่น การให้ยา เครื่องสำอาง หรือแม้กระทั่งสารบำรุงต่างๆ
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) กล่าวว่า ไทยออยล์มีเป้าหมายที่จะต่อยอดเข้าสู่ธุรกิจอื่นๆ หรือ New S-Curve โดยถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์เพื่อกระจายการเติบโตและสร้างความมั่นคงผ่านพอร์ตการลงทุน (Portfolio) ของบริษัทฯ (Value Diversifications) โดยนอกจากการลงทุนในกองทุน Venture Capital แล้วยังจะแสวงหาโอกาสในการเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพที่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งเราตั้งเป้าหมายว่าธุรกิจของไทยออยล์ในปี 2030 จะมีรายได้จากธุรกิจใหม่ประมาณ 10% ในขณะที่สัดส่วนรายได้จากธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% และ ธุรกิจโรงไฟฟ้า 10%"
นายวิรัตน์ กล่าวเสริมว่า Detachable Dissolvable Microneedles เป็นผลิตภัณฑ์ประเภท Deep Tech ที่คิดค้นโดยสตาร์ทอัพของคนไทยเอง โดยไทยออยล์ได้ร่วมลงทุนกับเครือ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และนักลงทุนอื่นเพื่อช่วยผลักดันให้ผลิตภัณฑ์นี้สามารถใช้งานได้หลากหลายทั้งด้านยา และ ด้านเครื่องสำอาง ถือได้ว่าเป็นทางเลือกใหม่สำหรับการดูแลสุขภาพ
ในปี 2564 ที่ผ่านมา บริษัท ไมนีด เทคโนโลยี จำกัด สามารถเริ่มผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ด้านเครื่องสำอางค์ในรูปแบบ OEM ให้กับแบรนด์เครื่องสำอางของไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการร่วมพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์กับเครือโรงพยาบาลและคลินิกชั้นนำของไทยอีกมากมาย ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งความภูมิใจของไทยออยล์ ที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันศักยภาพธุรกิจของคนไทย สู่ตลาดสากล
ไทยออยล์มุ่งหน้าต่อยอดศักยภาพทางธุรกิจ และสร้างอนาคตที่ยั่งยืนโดยมีกลยุทธ์ที่จะกระจายการเติบโตไปยังไปยังธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือธุรกิจใหม่เชิงนวัตกรรม ที่สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต ซึ่งจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้พอร์ตการลงทุนและเพิ่มเสถียรภาพของกำไร รองรับความผันผวนจากธุรกิจโรงกลั่นและปิโตรเคมี ผ่านการลงทุนในกองทุนVenture Capital และธุรกิจสตาร์ทอัพ
กรอบการลงทุนใน 3 กลุ่มเทคโนโลยีหลัก ได้แก่ 1. เทคโนโลยีสนับสนุนอุตสาหกรรมและการผลิต (Manufacturing Technology) 2. เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Technology) ซึ่งครอบคลุมเรื่องกลุ่มผลิตภัณฑ์ดูแลรักษาสุขภาพหรือเฮลท์แคร์, ธุรกิจอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (Bio Business), และ Circular Economy และ 3. เทคโนโลยีเปลี่ยนผ่านธุรกิจปิโตรเลียม และเทคโนโลยีที่สนับสนุนการลดการใช้น้ำมัน (Hydrocarbon disruption Technology)