ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ที่ระดับ "A" และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของบริษัทที่ระดับ "A-" โดยแนวโน้มอันดับเครดิตยังคง "Stable" หรือ "คงที่"
ทั้งนี้ อันดับเครดิตหุ้นกู้ที่ต่ำกว่าอันดับเครดิตองค์กรอยู่ 1 ขั้นนั้นสะท้อนการด้อยสิทธิทางโครงสร้างในสิทธิเรียกร้องของหุ้นกู้เมื่อเทียบกับภาระเงินกู้ของบริษัทย่อยของบริษัท
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะของบริษัทที่เป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย ตลอดจนการลงทุนที่มีการกระจายความเสี่ยงที่ดี ผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าที่ได้รับการยอมรับ รวมถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาวกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (หรือ กฟผ. ซึ่งได้รับการจัดอันดับเครดิตที่ระดับ "AAA" จากทริสเรทติ้ง) อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตลดทอนลงจากความเสี่ยงอันเนื่องมาจากการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศของบริษัทและการมีภาระเงินกู้ที่เพิ่มขึ้น
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
- สถานะเป็นผู้นำตลาด บริษัทเป็นหนึ่งในผู้นำในธุรกิจผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยเมื่อพิจารณาจากขนาดการลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า โดย ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 บริษัทมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนในโรงไฟฟ้าซึ่งดำเนินงานแล้วอยู่ที่ 3,929 เมกะวัตต์ (Megawatts Equity -- MWe) และหลังจากพัฒนาโครงการแล้วเสร็จทั้งหมดแล้วในปี 2570 กำลังการผลิตดังกล่าวของบริษัทจะเพิ่มขึ้น 2 เท่าเป็น 8,005 เมกะวัตต์
กำลังการผลิตของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อพิจารณาจากกลยุทธ์การเติบโตและโครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างพัฒนาของบริษัท เช่น โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับภาคเอกชนในประเทศไทย โครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศลาว และโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิงในประเทศเวียดนาม บริษัทยังมุ่งแสวงหาโอกาสในการเข้าซื้อกิจการต่าง ๆ โดยเฉพาะโครงการพลังงานหมุนเวียนเพื่อให้มีสัดส่วนการลงทุนในพลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น ในการนี้ ทริสเรทติ้งยังไม่ได้นำโครงการโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเหลวเป็นเชื้อเพลิงในประเทศเวียดนามและการเข้าซื้อโครงการต่าง ๆ เข้ามารวมในประมาณการ
- มีการกระจายความเสี่ยงในการลงทุนที่ดี การลงทุนในโรงไฟฟ้าของบริษัทนั้นมีการกระจายความเสี่ยงที่ดี บริษัทลงทุนในโรงไฟฟ้าจำนวนมากกว่า 30 แห่งทั้งในประเทศและต่างประเทศ โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงถือเป็นสินทรัพย์หลักของบริษัทโดยคิดเป็นสัดส่วน 93% หรือมีขนาด 7,469 เมกะวัตต์ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุน ในขณะที่กำลังการผลิตส่วนที่เหลืออีก 536 เมกะวัตต์เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนซึ่งประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมหลายแห่งในประเทศเวียดนาม (229 เมกะวัตต์) โรงไฟฟ้าพลังงานลม 1 แห่งในประเทศเยอรมนี (232 เมกะวัตต์) รวมถึงโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 แห่งและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอีกหลายแห่งในประเทศไทย (ประมาณ 75 เมกะวัตต์)
โรงไฟฟ้าของบริษัทที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศไทย โดยจำแนกเป็นโรงไฟฟ้าระบบผลิตพลังงานร่วมหรือโคเจนเนอเรชั่น (Cogeneration) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (Small Power Producer -- SPP) จำนวน 19 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุน 1,266 เมกะวัตต์
และโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-cycle) ภายใต้โครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระ (Independent Power Producer -- IPP) จำนวน 6 แห่งซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุน 6,043 เมกะวัตต์ โดยได้รวมกำลังการผลิตจากโรงไฟฟ้า IPP "หินกอง พาวเวอร์" และ "บูรพา พาวเวอร์" อีกจำนวน 965 เมกะวัตต์ด้วย โรงไฟฟ้าโคเจนเนอเรชั่นนั้นตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทั้งในพื้นที่ภาคกลางและในเขตระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor -- EEC) จำนวน 7 โรง ในขณะที่โรงไฟฟ้า IPP นั้นตั้งอยู่ในจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ระยอง ราชบุรี และฉะเชิงเทรา
- กระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากการมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. อันดับเครดิตสะท้อนถึงกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้จากโรงไฟฟ้าของบริษัท ปัจจุบันบริษัทจำหน่ายไฟฟ้าประมาณ 90% ของกำลังการผลิตตามสัดส่วนการลงทุนให้แก่ กฟผ. ภายใต้โครงการ SPP และ IPP โดยแต่ละสัญญาที่ทำกับ กฟผ. มีอายุ 25 ปีนับจากวันที่โรงไฟฟ้าเริ่มดำเนินงานเชิงพาณิชย์ สำหรับโครงการ IPP นั้น กฟผ. จะต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment -- AP) เต็มจำนวนให้แก่บริษัทตราบเท่าที่บริษัทสามารถดำรงความพร้อมจ่ายไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าได้ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา และแม้ว่า กฟผ. จะไม่สั่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้า IPP ของบริษัท กฟผ. ก็ยังคงต้องจ่ายชำระในส่วนของค่า AP ให้แก่บริษัท ส่วนสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใต้โครงการ SPP นั้นจะแตกต่างออกไปเล็กน้อย โดยสัญญา SPP นั้น กฟผ. จะต้องสั่งจ่ายไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 80% ของกำลังการผลิตตามสัญญาซึ่งคำนวณจากจำนวนชั่วโมงที่สามารถดำเนินงานได้ ทั้งโรงไฟฟ้า IPP และ SPP นั้นต่างก็มีกลไกในการส่งผ่านต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกัน ซึ่งส่งผลให้กระแสเงินสดที่ได้จากโรงไฟฟ้าเหล่านี้สามารถคาดการณ์ได้
- มีประวัติผลงานในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้า IPP และ SPP ที่น่าเชื่อถือ คณะผู้บริหารและผู้ปฏิบัติการของบริษัทมีประสบการณ์ในการพัฒนาและดำเนินงานโรงไฟฟ้าในประเทศไทยมากว่า 20 ปี คณะผู้บริหารยังคงมีผลงานที่แสดงถึงความสามารถในการบริหารโครงการได้ดี โดยทุกโครงการของบริษัทที่ปัจจุบันเปิดดำเนินงานแล้วนั้นล้วนพัฒนาแล้วเสร็จสมบูรณ์ได้ภายในกำหนดเวลาและงบประมาณที่ตั้งไว้ ซึ่งผลงานเหล่านี้ช่วยสร้างความมั่นใจได้ว่าโครงการที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ในปัจจุบันจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ตามกำหนดเวลา นอกจากนี้ โรงไฟฟ้า SPP และ IPP ของบริษัทยังสามารถดำรงความพร้อมจ่ายได้สูงเกินกว่าเป้าหมายอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
บริษัทบรรเทาความเสี่ยงในการพัฒนาโครงการด้วยการลงนามในสัญญารับเหมางานวิศวกรรม การจัดหาเครื่องจักรและอุปกรณ์ และงานก่อสร้าง (Engineering, Procurement, and Construction -- EPC) กับผู้รับเหมาที่มีชื่อเสียง เช่น Toyo Engineering Corporation และ Mitsubishi Hitachi Power System (MHPS) ในขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าของบริษัทยังใช้เทคโนโลยีที่ผ่านการพิสูจน์แล้วจากผู้ผลิตที่มีชื่อเสียง อาทิ Siemens รวมทั้ง GE และ Mitsubishi เพื่อให้มั่นใจว่าการดำเนินงานจะเป็นไปอย่างเหมาะสมราบรื่น นอกจากนี้ บริษัทยังมีสัญญาให้บริการซ่อมบำรุง (Long-term Service Agreements -- LTSA) และสัญญาจัดหาอะไหล่ระยะยาว (Long-term Parts Agreement -- LTPA) กับผู้ผลิตเครื่องจักรอุปกรณ์อีกด้วย โดยสัญญาบริการต่าง ๆ เหล่านี้ซึ่งมีอายุเท่ากับสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจะช่วยสร้างความมั่นใจในการรับบริการซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์หลัก ๆ ของโรงไฟฟ้าและช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาอะไหล่ต่าง ๆ ทั้งนี้ การมีสินทรัพย์โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ดังกล่าวยังช่วยให้บริษัทได้ประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและได้รับเงื่อนไขทางการค้าที่ดีจากผู้ผลิต นอกจากนี้ การมีโรงไฟฟ้า SPP ที่มีรูปแบบเดียวกันรวมถึงการบริหารจัดการอะไหล่แบบรวมศูนย์ยังช่วยให้บริษัทมีอะไหล่ที่เพียงพอและยังสามารถบริหารต้นทุนให้มีประสิทธิภาพได้อีกด้วย
- ขยายธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน บริษัทมีการขยายธุรกิจไปในต่างประเทศอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท โดยบริษัทได้ริเริ่มพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนรวม 229 เมกะวัตต์ในประเทศเวียดนาม โครงการดังกล่าวประกอบไปด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 2 แห่ง (107 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 1 แห่ง (122 เมกะวัตต์) ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 2 แห่งนั้นมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจในช่วงปี 2562-2563 อย่างไรก็ตาม ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการทั้งสองถูกจำกัดการรับซื้อในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 จากอุปสงค์การใช้ไฟฟ้าในประเทศเวียดนามที่ลดลงชั่วคราวในช่วงของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โรคโควิด 19) บริษัทยังประสบปัญหาความล่าช้าในการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมดังกล่าวจากการจำกัดการเดินทางและการปิดเมือง (Lockdown) ในประเทศเวียดนาม ส่งผลให้มีเพียงประมาณ 4 เมกะวัตต์จากทั้งหมด 122 เมกะวัตต์ที่สามารถเปิดดำเนินงานได้ทันกำหนด
ขณะที่ที่เหลืออีกจำนวน 118 เมกะวัตต์อาจไม่ได้รับราคาจำหน่ายไฟฟ้าแบบ FiT ที่ดีเช่นเดิมเนื่องจากเสร็จไม่ทันกำหนด อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งก็คาดว่าการไฟฟ้าเวียดนาม (Vietnam Electricity หรือ EVN) จะขยายกำหนดเวลาสิ้นสุดการก่อสร้างของโครงการให้ ทั้งนี้ ผู้พัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมส่วนใหญ่รวมถึงบริษัทได้เรียกร้องให้รัฐบาลเวียดนามขยายกำหนดเวลาโครงการออกไปอันเนื่องมาจากผลกระทบของการระบาดดังกล่าว
นอกจากประเทศเวียดนามแล้ว บริษัทยังได้ซื้อหุ้นสัดส่วน 50% ในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมแห่งหนึ่งที่สร้างเสร็จและมีรายได้แล้วในประเทศเยอรมนีซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งตามสัดส่วนการลงทุนที่ 232 เมกะวัตต์ในช่วงปลายปี 2563 ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานลมดังกล่าวในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2564 ต่ำกว่าปริมาณไฟฟ้าที่ทริสเรทติ้งคาดว่าจะผลิตได้อยู่เล็กน้อยเนื่องจากกระแสลมมักมีกำลังอ่อนตามฤดูกาลในช่วงไตรมาสที่ 2 และไตรมาสที่ 3 ของปี โดยปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้น่าจะเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายเพราะเป็นช่วงที่กระแสลมมีกำลังแรงตามฤดูกาล ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเยอรมนีแห่งนี้ยังจำเป็นต้องได้รับการพิสูจน์ในระยะยาวเนื่องจากพลังงานลมโดยธรรมชาตินั้นมีความผันผวน
บริษัทยังมีแนวโน้มที่จะขยายธุรกิจในต่างประเทศต่อไปเพื่อสร้างโอกาสเติบโต บริษัทมีเป้าหมายจะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% จากกำลังการผลิตทั้งหมดในปี 2573 จากประมาณ 8% ในปัจจุบัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นบริษัทจะต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีก 5,000-6,000 เมกะวัตต์จากโครงการพลังงานหมุนเวียนใหม่ ๆ ในประเทศและต่างประเทศ ทั้งนี้ เงินลงทุนในต่างประเทศคาดว่าจะคิดเป็นสัดส่วน 10%-20% ของการลงทุนทั้งหมดของบริษัท
- ความเสี่ยงจากการขยายธุรกิจในต่างประเทศ โครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศมักมีความเสี่ยงที่สูงกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในตลาดเกิดใหม่ที่เติบโตเร็วอย่างประเทศเวียดนาม ความเสี่ยงที่เห็นได้ชัดนั้นประกอบด้วยการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบต่าง ๆ การบังคับใช้สัญญา และโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เพียงพอ ทริสเรทติ้งยังเห็นว่าสถานะเครดิตของ EVN ที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้นนั้นยังไม่แข็งแรงเท่ากับผู้รับซื้อไฟฟ้าในประเทศไทยที่รัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้น นอกจากนี้ ระบบสายส่งไฟฟ้าของประเทศเวียดนามในบางจังหวัดนั้นยังต้องได้รับการปรับปรุงเพื่อป้องกันปัญหาการรับซื้อไฟฟ้าไม่ครบตามสัญญาอีกด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อโครงการโรงไฟฟ้าทุกแห่งเปิดดำเนินงานแล้วทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนในประเทศเวียดนามจะคิดเป็นสัดส่วนต่ำกว่า 10% ของพอร์ตการลงทุนในโรงไฟฟ้าทั้งหมดของบริษัท
ในขณะที่ความเสี่ยงจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในประเทศเยอรมนีนั้นอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ โดยพันธมิตรธุรกิจของโครงการนี้คือ rsted A/S ซึ่งเป็นหนึ่งในบริษัทพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในประเทศเดนมาร์กและเป็นผู้มีประสบการณ์สูงในการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในหลายประเทศ นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศเยอรมนียังให้การรับประกันราคารับซื้อไฟฟ้าในช่วง 9.5 ปีแรกของการดำเนินงานโรงไฟฟ้าและรับประกันราคาขั้นต่ำหลังจากนั้นจนถึงปีที่ 20 อีกด้วย
- การขยายธุรกิจไปสู่การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและดิจิทัล บริษัทกำลังขยายกิจการไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ โดยบริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 ภายใต้สัญญาร่วมลงทุนระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership - PPP) กับ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) โดยมี บริษัท กัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล จำกัด เป็นผู้ดำเนินงาน
ทั้งนี้ บริษัทกัลฟ์ เอ็มทีพี แอลเอ็นจี เทอร์มินอล เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างบริษัทและ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด โครงการซึ่งมีมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาทนี้ประกอบด้วยงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน (งานขุดลอกและถมทะเล) และงานก่อสร้างท่าเทียบเรือและสถานีรับจ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว บริษัทร่วมทุนดังกล่าวจะได้รับผลตอบแทนปีละประมาณ 1 พันล้านบาทจาก กนอ. เป็นเวลา 30 ปีหลังจากงานออกแบบและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานแล้วเสร็จซึ่งกำหนดไว้ในปี 2567
นอกจากโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 แล้ว บริษัทยังกำลังพัฒนาโครงการท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 โดยมีกิจการร่วมค้าจีพีซี (GPC) เป็นผู้ดำเนินการอีกด้วย โครงการดังกล่าวมีมูลค่าประมาณ 3 หมื่นล้านบาท และกิจการร่วมค้า GPC ซึ่งประกอบด้วยบริษัท รวมทั้ง บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล และ China Harbour Engineering Co., Ltd. (CHEC) มีหน้าที่ในการออกแบบ ก่อสร้าง และดำเนินการในส่วนของท่าเรือ F1 และ F2 โครงการดังกล่าวนี้มีความเสี่ยงด้านการตลาดเนื่องจากผลการดำเนินงานจะขึ้นอยู่กับอุปสงค์ในการขนส่งสินค้า ในฐานะผู้ร่วมทุนบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะพยายามลดความเสี่ยงด้านอุปสงค์ลงให้มากที่สุดเมื่อพิจารณาจากนโยบายของบริษัทที่เน้นการลงทุนในโครงการที่สร้างผลกำไรคงที่และสร้างกระแสเงินสดที่คาดการณ์ได้
บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการมอเตอร์เวย์ 2 สาย (M6 และ M81) โดยมีกิจการร่วมค้าบีจีเอสอาร์ (BGSR) ซึ่งประกอบด้วย บริษัท ร่วมกับ บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ.ราช กรุ๊ป (RATCH) เป็นผู้ดำเนินการ โครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนรวมกันประมาณ 1.26 หมื่นล้านบาทเพื่อออกแบบและติดตั้งระบบเก็บค่าผ่านทาง ระบบจัดการจราจร และสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ (ระยะที่ 1) รวมถึงดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (ระยะที่ 2) ทั้งนี้ กิจการร่วมค้า BGSR จะไม่มีความเสี่ยงด้านอุปสงค์การจราจร เนื่องจากจะได้รับผลตอบแทนการลงทุนที่คงที่หลังจากโครงการเปิดดำเนินงานในปี 2567 และบริษัทจะรับรู้ส่วนแบ่งกำไรและเงินปันผลจากกิจการร่วมค้าดังกล่าว
นอกจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานแล้ว การซื้อหุ้นจำนวน 42.25% ใน บมจ. อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ยังเปิดทางไปสู่โอกาสใหม่ ๆ ในธุรกิจด้านโทรคมนาคมและดิจิทัล โดยการซื้อ INTUCH นั้นไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มรายได้จากเงินปันผลเพียงอย่างเดียวแต่ยังเปิดโอกาสให้บริษัทได้ใช้ประโยช์จากดิจิทัลแพลตฟอร์มที่มีอยู่ของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) และ บมจ. ไทยคม (THCOM) อีกด้วย ซึ่งดิจิทัลแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจช่วยสนับสนุนการซื้อขายไฟฟ้าได้หากภาครัฐมีการอนุญาตให้ผู้ผลิตไฟฟ้าสามารถขายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าได้โดยตรงในอนาคต
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจหรือ MOU ร่วมกับ Singapore Telecommunications Limited (SINGTEL) เพื่อร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) และร่วมกับกลุ่ม Binance (BINANCE) เพื่อร่วมมือกันศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทย ทั้งนี้ การร่วมมือกันดังกล่าวน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โดยทริสเรทติ้งยังไม่ได้รวมการประสานพลังทางธุรกิจดังกล่าวไว้ในประมาณการ
- รายได้และกระแสเงินสดคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่ารายได้และกระแสเงินสดของบริษัทจะเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วง 3 ปีข้างหน้าจากแรงหนุนของโรงไฟฟ้า IPP ขนาดใหญ่ทั้ง 2 แห่งในประเทศไทยที่มีกำหนดการเปิดดำเนินงานในช่วงปี 2564-2567 โดยทริสเรทติ้งคาดว่ากำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าที่คิดตามสัดส่วนการลงทุนและเปิดดำเนินงานแล้วของบริษัทจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,700 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยให้รายได้จากการดำเนินงานรวมของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 1.11 แสนล้านบาทในปี 2567 จากประมาณ 4.6 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ในขณะที่กำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 หมื่นล้านบาทในปี 2567 จากประมาณ 1.9 หมื่นล้านบาทในปี 2564 ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะได้รับเงินปันผลจำนวน 3-4 พันล้านบาทต่อปีจาก INTUCH ในช่วงปี 2565-2567
ทริสเรทติ้งคาดว่าผลการดำเนินงานโรงไฟฟ้าของบริษัทจะยังคงอยู่ในระดับที่น่าพอใจเมื่อพิจารณาจากประวัติผลงาน เนื่องจากกระแสเงินสดที่ได้จากโรงไฟฟ้า IPP และ SPP สามารถคาดการณ์ได้ ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
- แรงกดดันจากภาระหนี้จะลดลง หนี้สินที่มีดอกเบี้ยของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการโรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและการลงทุนซื้อหุ้น INTUCH ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 9.9 เท่า ณ เดือนกันยายน 2564 จากประมาณ 6 เท่าในปี 2562
อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทจะลดลงกลับไปอยู่ที่ประมาณ 6 เท่าในปี 2567 อันเนื่องมาจากกระแสเงินสดของโครงการโรงไฟฟ้า IPP ทั้ง 2 แห่งในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้บริษัทสามารถขยายการลงทุนใหม่ ๆ ได้เพิ่มเติม ทั้งนี้ งบลงทุนรวมของบริษัทคาดว่าจะอยู่ในช่วง 2.5-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปีในระยะ 3 ปีข้างหน้า โครงสร้างหนี้
ณ เดือนกันยายน 2564 หนี้เงินกู้รวมของบริษัทมีจำนวนทั้งสิ้น 2.19 แสนล้านบาทซึ่งจำนวน 1.64 แสนล้านบาทถือเป็นหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อน (Priority Debt) ซึ่งประกอบด้วยหนี้เงินกู้ที่มีหลักประกันของบริษัทและหนี้เงินกู้ทั้งหมดของบริษัทย่อย ทำให้อัตราส่วนหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนต่อหนี้สินรวมของบริษัทอยู่ที่ระดับ 75% ส่งผลให้เจ้าหนี้ที่ไม่มีหลักประกันของบริษัทมีความด้อยสิทธิ์กว่าเจ้าหนี้ที่มีลำดับในการได้รับชำระคืนก่อนอย่างมีนัยสำคัญเมื่อพิจารณาจากลำดับสิทธิ์เรียกร้องในสินทรัพย์ของบริษัท
- สภาพคล่องจะยังคงบริหารจัดการได้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะสามารถจัดการกับสภาพคล่องทางการเงินได้อย่างเหมาะสม โดยในช่วง 12 เดือนข้างหน้า เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาทในขณะที่บริษัทต้องชำระคืนเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้รวมกันจำนวน 8.2 พันล้านบาท ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2564 บริษัทมีวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้รวมทั้งเงินสดและหลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดรวมกันอีกประมาณ 4.2 หมื่นล้านบาทสำหรับเป็นแหล่งสภาพคล่องเพิ่มเติม
บริษัทต้องดำรงอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อทุนไม่ให้เกิน 3.5 เท่าตามข้อกำหนดทางการเงินของหุ้นกู้ โดยอัตราส่วนดังกล่าวของบริษัท ณ เดือนกันยายน 2564 อยู่ที่ 1.9 เท่า ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะยังคงสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้ตลอดระยะเวลาประมาณการ
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
- กำลังการผลิตติดตั้งรวมของโรงไฟฟ้าที่คิดตามสัดส่วนการลงทุนและเปิดดำเนินงานแล้วจะเพิ่มขึ้นเป็น 7,700 เมกะวัตต์ในอีก 3 ปีข้างหน้า
- รายได้จากการดำเนินงานรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.11 แสนล้านบาทในปี 2567
- อัตรากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จะทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่า 30% ในช่วงปี 2565-2567
- เงินลงทุนรวมจะอยู่ในช่วง 2.5-3.5 หมื่นล้านบาทต่อปี
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าโรงไฟฟ้าของบริษัทที่เปิดดำเนินงานแล้วจะเดินเครื่องอย่างราบรื่นและสร้างกระแสเงินสดได้ตามแผน ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างนั้นคาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินงานได้ตามกำหนดการ อีกทั้งแผนการเติบโตของบริษัทจะไม่ทำให้สถานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบัน
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตอาจเพิ่มขึ้นได้หากอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายของบริษัทปรับตัวดีขึ้นและทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า 8 เท่าได้อย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อันดับเครดิตอาจลดลงหากการพัฒนาโรงไฟฟ้าใหม่ ๆ ของบริษัทล่าช้าไปจากกำหนดการอย่างมีนัยสำคัญจนกระทบต่อกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้ นอกจากนี้ การลงทุนขนาดใหญ่โดยการก่อหนี้จนทำให้โครงสร้างเงินทุนของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญก็อาจเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะส่งผลกดดันต่ออันดับเครดิตได้