นางสาวมินตรา มนต์เสรีนุสรณ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.เกียรติธนาขนส่ง (KIAT) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ลงนามในสัญญางานขนส่งก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG (Liquefied Natural Gas) สำหรับภาคอุตสาหกรรม ร่วมกับ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) ซึ่งเป็นงานขนส่ง LNG จาก PTT LNG Terminal ไปยัง ลูกค้าภาคอุตสาหกรรมทั่วประเทศ เป็นระยะเวลาสัญญา 5 ปี มูลค่ากว่า 270 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งก้าวของความสำเร็จ ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากการขนส่ง LNG รวมทั้งมาตรฐานในการควบคุมคุณภาพการบริการควบคู่กับความปลอดภัยในการขนส่ง เพื่อปิดความเสี่ยงทางธุรกิจต่างๆ ให้กับคู่ค้าของ KIAT โดยจะเริ่มการขนส่งดังกล่าวในเดือนต.ค.65 และรับรู้รายได้เข้ามาทันที
ทั้งนี้ บริษัทฯ เตรียมงบลงทุนกว่า 140 ล้านบาท เพื่อต่อรถบรรทุกใหม่รับการเติบโต และเพิ่มจำนวนรถบรรทุกระหว่างสัญญาอีกกว่า 20% ซึ่งจะนับเป็นฟลีทขนส่ง LNG ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ
"ประเทศไทยได้มีการนำเข้า LNG มาใช้ตั้งแต่ปี 54 โดยข้อมูลจาก PTT Trading พบว่าปัจจุบันมีปริมาณการนำเข้า LNG ถึงประมาณ 6 ล้านตันต่อปี และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในการขนส่งต้องมีการบริหารจัดการขนส่งที่ปลอดภัยตามมาตรฐานสากล นอกเหนือจากประสบการณ์ในการขนส่งวัตถุอันตรายและสินค้าพิเศษมากว่า 20 ปีแล้ว เกียรติธนาขนส่ง ยังมีความพร้อม ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ในการขนส่ง LNG มากว่า 5 ปี จากการเซ็นสัญญาร่วมกับ OR ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำที่ให้ความสำคัญด้านความปลอดภัยสูงสุด ต้องใช้รถขนส่งที่ออกแบบและสร้างตามมาตรฐานสากล ผ่านการตรวจสอบจากกรมธุรกิจพลังงานและกรมการขนส่งทางบก รวมทั้งใช้พนักงานขับรถบรรทุกขนส่งที่มีใบอนุญาตขับขี่ประเภทที่ 4 และการอบรมด้านความปลอดภัยเฉพาะทาง ทำให้เกียรติธนาขนส่งได้รับความไว้วางใจอย่างต่อเนื่อง โดยนอกจากการขนส่ง LNG แล้วเรายังมีงานขนส่งน้ำมันดิบและน้ำมันเตาให้กับบริษัทในเครือปตท.อีกเช่นกัน" นางสาวมินตรา กล่าว
อนึ่ง ก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG นับเป็นหนึ่งในพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ปัจจุบันได้รับความนิยมในการใช้งานเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยนำไปใช้ประโยชน์ด้านพลังงาน เช่น ใช้ในการผลิตไฟฟ้า เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นเชื้อเพลิงในยานพาหนะ ซึ่งตลาดโลกต่างให้การยอมรับว่า LNG จะเป็นอีกทางเลือกใหม่ของพลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรมและการขนส่งของประเทศ สำหรับในประเทศไทยสัดส่วนการใช้งานจากกระทรวงพลังงานล่าสุด ก๊าซธรรมชาติถูกนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้ามากที่สุด กว่า 57% และรองลงมาคือนำไปแยกส่วนประกอบเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นของปิโตรเคมี 23% นอกจากนี้ยังนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานอุตสาหกรรม และภาคขนส่ง (NGV) 17% และ 3% ตามลำดับ