นายศิระ คล่องวิชา ประธานเจ้าหน้าที่กลุ่มการลงทุน บลจ.กรุงศรี เปิดเผยว่า ภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2565 มีแนวโนมฟื้นตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า โดยเฉพาะในตลาดพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ และยุโรป ด้านความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่อาจมีน้อยลงจากอัตราการฉีดวัคซีนทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่การพัฒนาวัคซีนและยารักษาโควิด-19 ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่อาจไม่เท่ากัน คาดว่าเศรษฐกิจในกลุ่มตลาดเกิดใหม่จะทยอยปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยเฉพาะในเอเซียอย่างประเทศจีน เนื่องจากแนวโน้มการออกมาตรการควบคุมอุตสาหกรรมของทางการจีนจะมีน้อยลง และรัฐบาลจีนได้ส่งสัญญาณว่าจะกลับมาสนับสนุนสภาพคล่องให้กับเศรษฐกิจอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ตลาดโลกอาจมีความผันผวนมากขึ้น โดยปัจจัยที่ต้องจับตามองคืออัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น และการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกที่จะมีความตึงตัวมากขึ้น นำโดยประเทศสหรัฐที่เตรียมยกเลิกโครงการ QE ในเดือนมีนาคมเพื่อเตรียมขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในลำดับถัดไป ตลาดมองว่าเฟดอาจมีการขึ้นนโยบายการเงินได้ถึง 4 ครั้งในปี 2565 โดยอาจจะเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป
"สำหรับภาพรวมของการลงทุนในตลาดหุ้นโลกนั้น บลจ.กรุงศรี มีมุมมองว่าความผันผวนของตลาดหุ้นอาจมีมากขึ้น ตามแรงกดดันเรื่องเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของทางธนาคารกลางทั่วโลก ขณะที่การฟื้นตัวของแต่ละภูมิภาคจะแตกต่างกัน โดยเราอาจเห็นกลุ่มหุ้นที่มีราคาสูงอย่างกลุ่มเทคโนโลยีถูกกดดัน ในขณะที่ตลาดที่เป็น laggards ทยอยฟื้นตัวโดยเฉพาะในตลาดเอเซีย เช่น ญี่ปุ่น และจีน ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดมีความเสี่ยงมากขึ้นการเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่ม defensive จะช่วยลดความผันผวนให้กับพอร์ตการลงทุนได้"
สำหรับธีมการลงทุนในหุ้นต่างประเทศที่น่าสนใจได้แก่ การลงทุนในกลุ่ม Clean energy เนื่องจากปัจจุบันนโยบายเกี่ยวกับการรักษาสิ่งแวดล้อมได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นยุโรป สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และจีน โดยทั้งหมดได้ตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนให้สำเร็จ และคาดว่าจะเห็นนโยบายสนับสนุนด้าน Clean energy ทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การลงทุนในธีม ESG ก็ได้รับความสนใจมากขึ้นจากนักลงทุน อีกทั้งธีมการลงทุนในส่วนของ cyber securities ที่มีความจำเป็นมากขึ้นในปัจจุบันหลังจากเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้นก็เป็นธีมการลงทุนที่น่าสนใจเช่นกัน
ขณะที่การลงทุนในตลาดจีนก็กลับมาน่าสนใจอีกครั้งหลังท่าทีของรัฐบาลจีนที่มีต่อการออกกฎหมายควบคุมในหลายอุตสาหกรรมเริ่มลดลง โดยทางธนาคารกลางจีนได้กลับมาให้ความสำคัญกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และสนับสนุนสภาพคล่องให้กับตลาดอีกครั้ง นอกจากนั้นการลงทุนในกลุ่มตลาดที่เป็น laggards อย่างตลาดญี่ปุ่นและตลาดเอเซียก็ยังคงมีความน่าสนใจเช่นกัน เนื่องจากราคาหุ้นอยู่ในระดับที่ไม่สูงจนเกินไปและมีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ด้านเศรษฐกิจไทยคาดว่าจะกลับมาขยายตัวได้ดีในปี 2565 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และจากอัตราการฉีดวัคซีนเพิ่มสูงขึ้นจนสามารถกลับมาเปิดเศรษฐกิจได้เป็นปกติ โดยภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะทยอยเริ่มกลับมาหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้มากขึ้น ส่วนการส่งออกจะยังคงเติบโตได้ต่อเนื่องแต่ในอัตราที่ชะลอลงเนื่องจากผลของฐานต่ำหมดไป ในขณะที่ภาคบริการจะเติบโตในอัตราสูงจากผลของฐานต่ำในปี 2564 ด้านการบริโภคคาดว่าจะกลับมาขยายตัวดีขึ้นแต่อาจไม่ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
สำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวของไทยมีแนวโน้มผันผวนตามตัวเลขเศรษฐกิจและกระแสเงินลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศเป็นหลัก ทั้งนี้คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลงตลอดปี 2565 เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ในขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ส่วนอัตราผลตอบแทนระยะกลางถึงยาวอาจมีความผันผวนตามตลาดต่างประเทศที่คาดว่าจะถูกกดดันจากการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐเป็นหลัก
ในส่วนของตลาดหุ้นไทยนั้น บลจ.กรุงศรี มีมุมมองเชิงบวกต่อการลงทุนในหุ้นไทยในปี 2565 โดยคาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียนฯ จะสามารถเติบโตได้ในอัตราร้อยละ 11.5 จากการกลับมาเปิดประเทศ โดยคาดว่าการลงทุนในหุ้นไทยจะให้ผลตอบแทนในอัตราร้อยละ 12.5 อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามเรื่องโอมิครอนว่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหรือไม่ รวมถึงนโยบายการเงินธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ว่าจะส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในตลาดมากเพียงใด
สำหรับการจัดพอร์ตการลงทุนในปี 2565 นั้นนักลงทุนควรให้ความสำคัญกับการกระจายการลงทุนในหลากหลายสินทรัพย์เพื่อลดความผันผวนและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ สำหรับผู้ที่รับความเสี่ยงได้ปานกลาง แนะนำจัดสรรเงินลงทุนในตราสารหนี้ 35% หุ้นไทย 16.5% และหุ้นต่างประเทศ 48.5% ตัวอย่างกองทุนตราสารหนี้แนะนำ เช่น กองทุน KFSMART กองทุน KFAFIX-A กองทุนหุ้นไทยแนะนำ เช่น กองทุนKFTSTAR เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงโดยกองทุนมีการถือครองหลักทรัพย์กว่า 50 หลักทรัพย์ กองทุนKFDYNAMIC เหมาะสำหรับผู้ที่รับความผันผวนได้สูง โดยกองทุนถือครองหลักทรัพย์ประมาณ 20 -25 หลักทรัพย์ และกองทุนหุ้นต่างประเทศแนะนำ เช่น กองทุนKFCLIMA กองทุนKFESG ที่มาในธีม Climate Change และ ESG ที่ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐและความร่วมมือจากภาคเอกชนทั่วโลก
ทั้งนี้ การกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลายและลงทุนตามธีมที่โดดเด่นจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างการเติบโตที่ดีของพอร์ตการลงทุนในระยะยาว