ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และกระทรวงการคลัง (กค.) ได้หารือร่วมกันถึงประโยชน์และความเสี่ยงของสินทรัพย์ดิจิทัล และเห็นความจำเป็นในการกำกับดูแลและควบคุมการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลได้ขยายขอบเขตการประกอบธุรกิจในลักษณะให้บริการ ชักชวนหรือแสดงตน ว่าพร้อมจะให้บริการแก่ร้านค้าและผู้ประกอบการในธุรกิจต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกในการรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล เช่น จัดทำระบบและโฆษณาเชิญชวนร้านค้า ซึ่งการที่ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในลักษณะดังกล่าว อาจส่งผลให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์เพื่อการลงทุน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม รวมถึงเป็นความเสี่ยงต่อประชาชนและธุรกิจ อาทิ ความเสี่ยงจากการสูญมูลค่าที่เกิดจากความผันผวนของราคา ความเสี่ยงจากการถูกโจรกรรมทางไซเบอร์ ความเสี่ยงข้อมูลส่วนบุคคลรั่วไหล หรือการถูกใช้เป็นเครื่องมือของการฟอกเงิน
หน่วยงานกำกับดูแลต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลกระทบดังกล่าว จึงพิจารณาใช้อำนาจตามกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าหรือบริการในวงกว้าง และจะมีแนวทางกำกับดูแลที่เหมาะสมสำหรับบริการที่เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภท ที่เป็นประโยชน์ต่อนวัตกรรมทางการเงินและไม่สร้างความเสี่ยงเชิงระบบที่กล่าวถึงข้างต้น โดยคำนึงถึงทั้งการเพิ่มศักยภาพของระบบการเงินของประเทศ และประโยชน์ของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแล จะรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องและประชาชนต่อไป โดยจะเปิดรับฟังความเห็นตั้งแต่วันนี้ - 8 ก.พ. 65 จากนั้นจะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อออกเป็นประกาศต่อไป
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ขณะนี้การนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการอย่างแพร่หลายจะทำให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ จึงควรมีการกำกับดูแลที่ชัดเจน ขณะที่เทคโนโลยีและสินทรัพย์ดิจิทัลบางประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าวก็ควรได้รับการสนับสนุนโดยมีกลไกดูแลที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดนวัตกรรมและประโยชน์ต่อประชาชน
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล เลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีนโยบายส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ซื้อขายอย่างเหมาะสม และให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จึงได้เปิดรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้บริการสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อใช้ชำระค่าสินค้าและบริการ เพื่อประกอบการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์ต่อไป
ด้าน น.ส.สิริธิดา พนมวัน ณ อยุธยา ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายระบบการชำระเงินและเทคโนโลยีทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ย้ำว่า ในขณะนี้ยังไม่มีการอนุญาตให้ใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการได้ ซึ่ง ธปท. และ ก.ล.ต. กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาประเภทของสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีประโยชน์ หรือที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง ที่ในอนาคตอาจจะพิจารณาให้ใช้ต่อได้ เพียงแต่ขณะนี้ยังไม่อนุญาต
โดยในระหว่างนี้ ยังอยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นไปจนถึงวันที่ 8 ก.พ. 65 เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ ก่อนที่จะออกเป็นประกาศบังคับใช้ต่อไป ซึ่งเมื่อออกเป็นประกาศหลักเกณฑ์แล้ว ผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลจะต้องปฏิบัติตามหลักเกฎฑ์ที่กำหนด และทยอยลดกาดำเนินการที่เป็นข้อห้ามต่างๆ เพื่อค่อยๆ ปรับเข้าสู่หลักเกณฑ์ที่กำหนดต่อไป
"หลักเกณฑ์มีผลบังคับใช้ตามที่ประกาศกำหนด จากนี้จะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็น ถึงวันที่ 8 ก.พ. เพื่อพิจารณาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดหรือไม่ สำหรับสัญญาและข้อตกลงที่ทำไว้ก่อนวันประกาศกำหนด ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามที่กำหนดภายใน 15 วันนับจากวันที่มีผลบังคับใช้ หากไม่ดำเนินการตามถือว่ามีความผิด ตามมาตรา 67 พ.ร.บ.สินทรัพย์ดิจิทัล กำหนดโทษปรับวันละ 1 หมื่นบาท และ 3 แสนบาทต่อครั้ง ส่วนผู้ประกอบธุรกิจ ก็ได้มีการกำกับดูแล ถ้าไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ ก็มีความผิดในส่วนกรรมการผู้บริหารด้วย" น.ส.สิริธิดา ระบุ
นายณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธปท. กล่าวว่า สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีความเป็นไปได้ที่จะอนุญาตให้ใช้ในอนาคต ได้แก่ Stablecoin ที่มีการ back มูลค่าด้วยเงินบาท เพื่อให้มั่นใจว่าสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นมีมูลค่าจริงๆ ซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับที่หลายประเทศพิจารณา เพื่อลดความผันผวนของมูลค่าสินทรัพย์ดิจิทัล และให้ในการใช้งานมีความใกล้เคียงกับ e money
ทั้งนี้ ในกรณีของ Stablecoin จะมีหลายประเภท เมื่อมีหลักเกณฑ์ออกมาแล้วก็จะชัดเจนขึ้นว่า Stablecoin ตัวไหนสามารถใช้ได้ และตัวไหนจะต้องมีการกำกับดูแล
นางจารุพรรณ อินทรรุ่ง ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. สายธุรกิจตัวกลางและตลาด กล่าวว่า หลังจากปิดการรับฟังความคิดเห็นในการออกเกณฑ์การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ จาหผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ในวันที่ 8 ก.พ.แล้ว จะได้มีการประมวลข้อเสนอแนะและความเห็นต่างๆ ไปพิจารณาว่ามีผลกระทบต่อหลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้หรือไม่ ถ้ามีผลกระทบอย่างเป็นนัยสำคัญ ก็จะต้องนำเสนอประเด็นความเห็นดังกล่าวต่อ ก.ล.ต.อีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้ต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าที่จะออกประกาศได้ แต่หากความเห็นไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงหลักการอย่างมีนัยสำคัญ ก.ล.ต.ก็สามารถลงนามในประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลได้ต่อไป
การพิจารณาการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการในครั้งนี้ จะเน้นไปที่การควบคุมการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในกลุ่มที่เป็น Cryptocurrency และ Utilility Token พร้อมใช้เป็นหลัก ซึ่งอาจจะมีผลการทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางระบบการเงินในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการได้ ทำให้ ก.ล.ต.และ ธปท. ได้เข้ามากำกับดูแล เพราะปัจจุบันเริ่มมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลที่ส่วนใหญ่เป็น Cryptocurrency มาใช้รับชำระสินค้าและบริการมากขึ้นในวงกว้าง ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงเกิดขึ้นต่อระบบการเงินของประเทศ ซึ่งจะต้องมีกฎเกณฑ์ที่เหมาะสมออกมาจำกัดและควบคุมการใช้อย่างเป็นระบบ
อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ไม่ได้ปิดกั้นให้มีการใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการรับชำระสินค้าและบริการ โดยในส่วนโทเคนที่ได้มีการออก ICO และได้รับการอนุญาตจากก.ล.ต.แล้วนั้น สามารถนำมาใช้ในการรับชำระสินค้าและบริการได้ เช่น กลุ่ม Investment Token ที่มีสินทรัพย์ค้ำประกัน และ Utility Token ไม่พร้อมใช้ ซึ่งเป็นกลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัลที่ก.ล.ต.มีการสนับสนุนและส่งเสริม เพราะเป็นกลุ่มสินทรัพย์ดิจิทัลที่สร้างประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของประเทศ และเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ที่สามารถเป็นหนึ่งในช่องทางการระดมทุน เพื่อนำไปต่อยอดโอกาสการขยายธุรกิจ และให้ผลตอบแทนกลับคืนมากับผู้ถือเหรียญผ่านการออก ICO
นอกจากนี้ หากกลุ่มผู้ค้ารายย่อยทั่วไปที่มีการเปิดรับชำระค่าสินค้าและบริการด้วย Cryptocurrency ถือว่ายังสามารถทำได้ แต่จะต้องไม่เป็นการใช้ในวงกว้าง ซึ่งมีการใช้ในกลุ่มเล็กๆ แบบวงจำกัดเท่านั้น โดยที่ร้านค้ารายย่อยจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นของการรับชำระด้วย Cryptocurrency และความผันผวนของราคา Cryptocurrency ที่เกิดขึ้นเอง แต่หากมีการใช้ในวงกว้าง โดยเฉพาะภาคธุรกิจต่างๆ จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมตามกฎเกณฑ์ที่ก.ล.ต. และธปท.กำหนด
ส่วนกรณีเหรียญ JFin ซึ่งเป็นเหรียญที่ผู้ประกอบการเป็นคนออกเอง และมีการใช้ในกลุ่มของผู้ประกอบการที่เป็นผู้ออกเหรียญ ถือว่าไม่อยู่ในการกำกับดูแลในเกณฑ์การใช้สินทรัพย์ดิจิทัลในการชำระค่าสินค้าและบริการ เพราะยังถือว่าเหรียญดังกล่าวมีการใช้ในวงจำกัด แต่หากเริ่มมีการนำไปใช้ในวงกว้าง จะต้องมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่จะออกมาควบคุม
อย่างไรก็ดี สำหรับร่างหลักเกณฑ์ที่ห้ามมิให้ผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ (Means of Payment) มีดังนี้
1. หลักเกณฑ์ที่ได้รับมติเห็นชอบจากบอร์ด ก.ล.ต. ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องไม่ดำเนินการสนับสนุน หรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมามาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ ซึ่งรวมถึงการดำเนินการดังต่อไปนี้
- ไม่โฆษณาเชิญชวน หรือแสดงตนว่าพร้อมให้บริการแก่ร้านค้า เพื่อให้ร้านค้าสามารถรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัลได้
- ไม่จัดทำระบบ หรือเครื่องมือที่อำนวยความสะดวกใดๆ แก่ร้านค้าในการรับชำระด้วยสินทรัพย์ดิจทัล
- ไม่ให้บริการเปิดกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (wallet) แก่ร้านค้า เพื่อรับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
- ในกรณีที่ผู้ซื้อขายทำการขายสินทรัพย์ดิจทัลเพื่อเป็นเงินบาท ผู้ประกอบการต้องโอนเงินบาทเข้าบัญชีผู้ซื้อขายเท่านั้น
- ไม่ให้บริการที่มีลักษณะเป็นการโอนสินทรัพย์ดิจทัล/เงิน จากบัญชีของผู้ซื้อขาย ไปยังบัญชีของรายอื่นหรือบุคคลอื่น เพื่อวัตถุประสงค์ของการรับชำระค่าสินค้าหรือบริการ
- ไม่ดำเนินการในลักษณะอื่นใดนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น ที่เป็นการสนับสนุนหรือส่งเสริมให้เกิดการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้เป็นสื่อกลางในการชำระค่าสินค้าและบริการ
อย่างไรก็ดี ในกรณีพบว่าผู้ซื้อขายนำบัญชีสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ในการชำระค่าสินค้าและบริการ ผู้ประกอบการต้องแจ้งเตือน/พิจารณาดำเนินการกับผู้ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการให้บริการ เช่น ยกเลิกการให้บริการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือระงับบัญชี เป็นต้น
2. ขอบเขตและการบังคับใช้
- ขอบเขต ใช้กับผู้ประกอบการสินทรัพย์ดิจิทัลที่ได้รับอนุญาตทุกประเภท (ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า ผู้ค้า ที่ปรึกษา และผู้จัดการเงินทุน)
- การบังคับใช้ หลักเกณฑ์จะมีผลใช้บังคับตามที่ประกาศกำหนด ส่วนสัญญาหรือข้อตกลงที่ทำอยู่ก่อนวันที่ประกาศมีผลใช้บังคับนั้น ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ภายใน 15 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้