การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย (KTB) และบมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) พัฒนาระบบชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบไร้การสัมผัส หรือระบบ "EMV Contactless" เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทยก้าวสู่สังคมไร้เงินสด โดยมีกำหนดจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการในวันที่ 29 มกราคม 2565
นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า ตามที่ รฟม. ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลและกระทรวงคมนาคม ให้ดำเนินการพัฒนาระบบตั๋วร่วมให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม มีประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน นั้น รฟม. ได้ร่วมกับ ธนาคารกรุงไทย และ BEM ในการนำเทคโนโลยีแบบไร้การสัมผัส หรือ EMV Contactless มาใช้กับระบบตั๋วร่วม ในรูปแบบการชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงและสายสีน้ำเงิน โดยธนาคารกรุงไทยดำเนินการพัฒนาระบบชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้า และ BEM ดำเนินการปรับปรุงและติดตั้งระบบที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติภายในสถานีรถไฟฟ้า MRT ทั้งสองสาย
รฟม. ได้ติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานดังกล่าวให้มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องและมีความพร้อมในการเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการระบบในวันที่ 29 มกราคม 2565 นี้ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้า MRT ทำให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่อการเดินทางสาธารณะหรือบริการอื่นๆ ได้ด้วยบัตรเพียงใบเดียว ตอบสนองนโยบายรัฐบาลในการไปสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society / Smart City) และการเตรียมความพร้อมประเทศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต ตลอดจนทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้ง่ายและทั่วถึง เพื่อให้ใช้บริการต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น รวมถึงเป็นการรองรับสถานการณ์และการปรับตัวให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตในรูปแบบ New Normal ช่วยลดการสัมผัสในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19
นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ KTB เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทย ในฐานะธนาคารพาณิชย์ของรัฐ พร้อมพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนนโยบายของภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยตระหนักถึงความสำคัญของระบบคมนาคมขนส่งของประเทศที่เป็นกิจกรรมสำคัญทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงทุกวิถีการใช้ชีวิต นำมาสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ธนาคารจึงได้วางยุทธศาสตร์โดยกำหนดให้การคมนาคมขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งมวลชนเป็น 1 ใน 5 ระบบนิเวศหลัก(Ecosystems) ที่ธนาคารมุ่งเน้นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนายกระดับการบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่ประชาชน และในอนาคตมีแผนเชื่อมต่อไปยังระบบขนส่งมวลชนอื่น เพื่อการบูรณาการตั๋วร่วมอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า เพื่อขานรับนโยบายรัฐบาล BEM จึงได้เร่งดำเนินการปรับปรุงและติดตั้งระบบที่ประตูจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติภายในสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและสายสีม่วงเพื่อรองรับการชำระค่าโดยสารผ่านบัตร EMV Contactless ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความ สะดวก รวดเร็วให้กับผู้โดยสาร โดย BEM ได้มีการจัดหาระบบและติดตั้งหัวอ่านบริเวณประตูอัตโนมัติ พร้อมทั้งปรับปรุงอุปกรณ์ และระบบ network เพื่อให้รองรับการใช้บัตร EMV Contactless รวมทั้งสิ้น 53 สถานี และจัดให้มีการฝึกอบรมพนักงานที่เกี่ยวข้อง โดยระบบพร้อมเปิดให้ทดลองใช้ EMV Contactless ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2565 ซึ่งผู้โดยสารสามารถเดินทางโดยใช้บัตรเครดิตวีซ่าหรือมาสเตอร์การ์ดของธนาคารทุกธนาคาร โดยไม่ต้องลงทะเบียน และสามารถตรวจสอบรายการเดินทาง ผ่านทางเว็บไซต์ www.mangmoomemv.com หรือ เว็บไซต์ www.bemplc.com ซึ่งภายในปลายปี 2565 BEM จะขยายการบริการให้ครอบคลุมโดยสามารถรองรับการใช้บัตรเดบิตและบัตรประเภทอื่นๆ เป็นการเพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้โดยสาร ให้ได้รับความสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีผู้โดยสารกว่า 2 แสนคนต่อวัน และรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีผู้โดยสารกว่า 3.7 หมื่นคนต่อวัน
ทั้งนี้ Europay Mastercard and Visa หรือ EMV คือ มาตรฐานทางการชำระเงินที่ปลอดภัยและใช้กันทั่วโลกมากกว่า 80 ประเทศ บัตร EMV เป็นบัตรชำระเงินอัจฉริยะ (บัตรชิป หรือ บัตร IC) ที่เก็บรักษาข้อมูลไว้ในแผงวงจร (Integrated Circuits - IC) แทนแถบแม่เหล็ก ซึ่งจะสร้างข้อมูลที่มีการเปลี่ยนแปลงทุกครั้งที่ทำธุรกรรม การคัดลอกหรือปลอมแปลงบัตร จึงเป็นไปได้ยาก การทำธุรกรรมด้วยระบบชิปจึงมีความปลอดภัยสูงสุด พร้อมลดความเสี่ยงด้านการทุจริตปลอมแปลงบัตร