บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เปิดเผยว่า บริษัทคาดการณ์ปริมาณการขายเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 1/65 และทั้งปี 65 ที่ประมาณ 4.36 แสนบาร์เรล/วัน และ 4.67 แสนบาร์เรล/วัน ตามลำดับ เติบโตจากปี 64 ที่มีปริมาณขาย 4.16 แสนบาร์เรล/วัน จากการรับรู้ยอดขายเต็มปีเป็นปีแรกของโครงการมาเลเซียแปลงเอชและโครงการโอมานแปลง 61 รวมถึงการเริ่มผลิตปิโตรเลียมของโครงการจี 1/61 และโครงการ แอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ซึ่งคาดว่าจะเริ่มผลิตในช่วงต้นปี 65 ด้วย
ส่วนราคาขายน้ำมันดิบจะผันแปรตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่ราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์หลักของบริษัทนั้นมีโครงสร้างราคาส่วนหนึ่งผูกกับราคาน้ำมันย้อนหลังประมาณ 6-24 เดือน บริษัทคาดว่าราคาขายก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยสำหรับไตรมาส 1/65 และทั้งปี 65 จะอยู่ที่ประมาณ 6.0 และ 5.9 ดอลลาร์ สรอ./ล้านบีทียู ตามลำดับ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าเป็นผลจากการปรับราคาย้อนหลังของราคาก๊าซธรรมชาติซึ่งได้สะท้อนช่วงที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก
สำหรับไตรมาส 1/65 และทั้งปี 65 บริษัทคาดว่าจะสามารถรักษาต้นทุนต่อหน่วยได้ที่ประมาณ 27-28 ดอลลาร์สรอ./บาร์เรลลดลงจากปีก่อนหน้าจากการบริหารจัดการต้นทุน และการรับรู้ยอดขายเต็มปีเป็นปีแรกของโครงการมาเลเซีย แปลงเอช และโครงการโอมาน แปลง 61 รวมถึงการเริ่มผลิตของโครงการจี 1/61 และ จี 2/61 ในปี 65 ซึ่งโครงการทั้งหมดดังกล่าวมีต้นทุนต่อหน่วยที่ ค่อนข้างต่ำ
นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยผลการดำเนินงานในปี 64 ว่า บริษัทประสบความสำเร็จในการเข้าร่วมทุนในโครงการโอมาน แปลง 61 ซึ่งเป็นแหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ของประเทศโอมาน รวมถึงการเริ่มผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการมาเลเซีย แปลงเอช ซึ่งช่วยเพิ่มปริมาณขายให้กับบริษัทได้อย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้ปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 416,141 บาร์เรล/วัน หรือเพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับ 354,052 บาร์เรล/วันของปี 63
ประกอบกับราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในปี 54 ปรับตัวสูงขึ้นจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ในปี 64 บริษัทมีรายได้รวม 7,314 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 234,631 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 37% จากปี 63 ซึ่งมีรายได้รวม 5,357 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 167,418 ล้านบาท)
อย่างไรก็ตาม บริษัทมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากรายการที่ไม่ใช่การดำเนินงานปกติ (Non-recurring items) โดยหลักมาจากการตั้งด้อยค่าของสินทรัพย์ (Impairment) ในโครงการโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 จากการปรับแผนการพัฒนา เนื่องจากความไม่สงบภายในประเทศโมซัมบิก รวมถึง ผลขาดทุนจากการประกันความเสี่ยงราคาน้ำมัน
จากปัจจัยดังกล่าว ส่งผลให้ PTTEP มีกำไรสุทธิในปี 64 ที่ 1,211 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 38,864 ล้านบาท) เพิ่มขึ้น 68% จากปี 63 ซึ่งมีกำไรสุทธิ 720 ล้านดอลลาร์ สรอ. (เทียบเท่า 22,664 ล้านบาท) ทั้งนี้ บริษัทยังคงสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) ที่ 28.52 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล และมีอัตรากำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา ที่ 73% ซึ่งเป็นไปตามที่เป้าหมายที่วางไว้
"ความสำเร็จในการดำเนินงานของ ปตท.สผ. ปี 64 ส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการขยายการลงทุนในต่างประเทศ ทั้งในมาเลเซีย และภูมิภาคตะวันออกกลาง ซึ่งส่งผลให้การดำเนินงานเติบโตตามเป้าหมาย และยังคงส่งผลต่อเนื่องมาถึงปีนี้ด้วย"นายมนตรี กล่าว
สำหรับแผนงานหลักในปี 65 บริษัทนี้จะให้ความสำคัญกับกระบวนการเปลี่ยนผ่านการดำเนินการในแปลงจี 1/61 หรือแหล่งเอราวัณ ซึ่งบริษัทจะเข้าเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) ในเดือนเมษายนนี้ เพื่อให้การผลิตก๊าซฯ ให้กับประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น โดยเมื่อเข้าไปเป็นผู้ดำเนินการแล้ว บริษัทจะพยายามอย่างเต็มความสามารถเพื่อทำให้อัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่องในขณะนี้เพิ่มสูงขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศไทย
สำหรับแผนงานในต่างประเทศ ปตท.สผ.คาดว่าจะเริ่มการผลิตครั้งแรกในโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ได้ในเร็ว ๆ นี้ รวมทั้ง จะเร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมต่าง ๆ ที่บริษัทสำรวจพบในประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโครงการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำไปกักเก็บในอ่าวไทย (Carbon Capture Storage ? CCS) ตามนโยบายที่มุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต" นายมนตรี กล่าว