(เพิ่มเติม) NWR คาดปี 50 ขาดทุนกว่า 600 ลบ./ลุ้นปี 51 เริ่มกำไรหากต้นทุนไม่ผันผวน

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday December 7, 2007 16:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายวัชรพัธ วัชราภัย ผู้จัดการทั่วไปแผนกธุรกิจใหม่และวางแผนกลยุทธ์ฝ่ายการเงิน บมจ.เนาวรัตน์พัฒนาการ(NWR)คาดปี 50 จะมีผลขาดทุนมากกว่า 600 ล้านบาท หลังจากงวด 9 เดือน ขาดทุนไปแล้ว 626 ล้านบาท แต่คาดว่าไตรมาส 4/50 ผลประกอบการจะไม่ขาดทุน 
ทั้งนี้ ในปี 49 บริษัทขาดทุน 113 ล้านบาท ปัจจุบัน บริษัทมีขาดทุนสะสมประมาณ 1 พันล้านบาท ซึ่งคงต้องใช้เวลาในการล้างขาดทุนสะสม
อย่างไรก็ตาม ในปี 51 บริษัทเชื่อว่าจะไม่ขาดทุน หากราคาเหล็กและราคาน้ำมันไม่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างผันผวนเหมือนในปีนี้ที่ราคาเหล็กปรับเพิ่มขึ้นมา 10% ทำให้บริษัทต้องแบกรับภาระต้นทุนจากโครงการที่ทำสัญญาไว้ในปี 49-50
"สัญญาใหม่ที่ทำไว้ในปีนี้ บริษัทได้บวกเพิ่มต้นทุนใหม่ไปแล้วในระดับหนึ่ง ซึ่งถ้าราคาเหล็กและน้ำมันไม่โตกว่าที่เราบวกเพิ่มค่าวัสดุ ก็น่าจะเห็นอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีของบริษัท"นาวัชรพัธ กล่าว
สำหรับงานในมือ(backlog)ขณะนี้มีอยู่ 1.6 หมื่นล้านบาท โดยจะทยอยรับรู้ส่วนหนึ่งประมาณ 4 พันล้านบาทในปี 51 ใกล้เคียงกับปีนี้ เนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ เช่น เหมืองแม่เมาะ ยังมีการรับรู้รายได้ไม่มากนัก โดยจะมีสัดส่วนรับรู้รายได้สูงในปี 52
นายวัชรพัธ กล่าวว่า ในปีหน้าบริษัทเตรียมเข้าประมูลงานภาครัฐและเอกชน รวมถึงงานในต่างประเทศ มูลค่ารวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยตั้งเป้าว่าจะชนะประมูลราว 10% ของมูลค่างานที่เข้าร่วมประมูล หรือประมาณ 4 พันล้านบาท
สำหรับงานจ้างเหมาขุด-ขนดิน และถ่านหินที่เหมืองแม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง สัญญาที่ 6 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) มูลค่างานประมาณ 19,000 ล้านบาทนั้น กิจการร่วมค้า "NWR-SBCC Joint Venture" ซึ่ง NWR ร่วมลงทุนในสัดส่วน 50%
กิจการร่วมค้าจะกู้เงินประมาณ 2 พันล้านบาทในปี 51 เพื่อดำเนินโครงการดังกล่าว และจะเริ่มรับรู้รายได้ทันที โดยทยอยรับรู้เป็นเวลา 9 ปี
"โครงการนี้เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่บริษัทประมูลได้ในปี 50 และเชื่อว่างานแบบนี้เป็นโครงการที่ไม่ยุ่งยาก และจะมีมาร์จิ้นมาก กว่า 3% ซึ่งเป็นที่พอใจสำหรับธุรกิจรับเหมา" นายวัชรพัธ กล่าว
นายวัชรพัธ กล่าวว่า ในปี 51 ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังคงมีการแข่งขันสูงและยังคงมีการตัดราคากัน เนื่องจากปริมาณงานจากภาครัฐปรับตัวลดลง รวมทั้งงานภาคเอกชนก็ชะลอตัว แต่บริษัทจะไม่เข้าประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง(ช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชัน) เพราะเห็นว่าเงื่อนไขการประมูลกำหนดให้บริษัทผู้รับเหมาเป็นผู้เวนคืนที่ดินเอง ซึ่งเป็นเรื่องยุ่งยาก และจะต้องแบกรับต้นทุนสูง ไม่คุ้มกับการลงทุน
บริษัทยังจะขยายการลงทุนไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในปีหน้า ได้แก่ สหรัฐอาหรับอิมิเรตส์ (ยูเออี) กาตาร์ แองโกลา โดยจะเป็นรูปแบบจัดตั้งบริษัทใหม่ร่วมทุนกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างในท้องถิ่น ในปีหน้าจะจัดตั้งบริษัทใหม่ที่ ยูเออี และ กาตาร์ ส่วนในแองโกลาเป็นงานหล่อเสาเข็ม บริษัทตั้งเป้าหมายว่าสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศจะอยู่ที่ 10% ในปี 51

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ