TUF คาดยอดขายปี 51 โตกว่า 10%,เล็งหนีเข้าลงทุนเวียดนามหากบาทยังแข็งต่อ

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 12, 2007 12:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          บมจ.ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ (TUF)คาดปี 51 ยอดขายในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ โตไม่ต่ำกว่า 10% จากปี 50 ที่คาดจะเพิ่มขึ้น 8% จากปี 49 ที่มียอดขาย  1,457 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำไรสุทธิปี 50 สูงกว่าปี 49 ที่มี 1.96 พันล้านบาท 
พร้อมมองแนวโน้มปีหน้าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นจะกดดันมาร์จิ้น ขณะที่ราคาขายไม่สามารถปรับราคาได้ยาก เพราะค่าเงินของประเทศคู่แข่งไม่แข็งค่าเท่ากับเงินบาท ขณะเดียวกันก็หาช่องใช้โอกาสบาทแข็ง ขยายฐานผลิตที่เวียดนามในปีหน้า เพื่อกระจายความเสี่ยง
"ในปี 51 ยอดขายในรูปเงินบาท ต้องขึ้นอยู่ค่าเงิน แต่ยอดขายในรูปเงินบาท ผมไม่ได้สนใจ เพราะว่าธุรกิจเราเป็นเงินดอลลาร์ทั้งนั้น ตราบใดค่าดอลลาร์เติบโตเราก็พอใจ คือเงินบาทเกินความสามารถที่เราควบคุม ถ้าบาทแข็งค่าขึ้นแน่นอนต้องกดดันในเรื่องมาริ์จิ้น"นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร TUF กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ทั้งนี้ ยอดขายในปี 50 ในรูปเงินบาทแทบไม่เติบโต โดยคาดว่าจะมียอดขายใกล้เคียงกับปี 49 ที่มียอดขาย 55,038.5 ล้านบาท
นายธีรพงศ์ กล่าวว่า ในปีนี้เงินบาทแข็งค่าประมาณกว่า 10% และ ตั้งแต่ปีก่อนจนถึงปีนี้ โดย 2 ปีนี้แข็งค่าขึ้นมาแล้วประมาณ 20% ในขณะที่คู่แข่งไทยมีค่าเงินแข็งไม่เกิน 10% เป็นปัจจัยที่บริษัทไม่สามารถจัดการ และทำให้เราแข่งขันลำบาก เพราะเสียเปรียบ ซึ่งเราเองก็พยายามปรับตัว แต่การลงทุนยังดำเนินการไปตามปกติ และเรายังหาโอกาสอยู่ตลอดเวลา
"จริงแล้วธุรกิจของบริษัทไม่ได้แย่อะไรเลย แต่อาจจะไม่โตมากกว่าที่ควร กำไรไม่ได้มากขึ้นเท่าที่ควร แต่ก็เรายังเป็นบริษัทที่มีกำไรอยู่สม่ำเสมอ และก็มีผลตอบแทนที่ดีพอสมควร ยังมีการจ่ายเงินปันผลตลอด"นายธีรพงศ์ กล่าว
*มองโอกาสบาทยังแข็งต่อเล็งหนีลงทุนที่เวียดนาม
นายธีรพงศ์ กล่าวว่า ในปี 51 เห็นว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเรื่อย ๆ จึงมองว่าก็น่าเป็นห่วง เพราะเมื่อเทียบกับคู่แข่งของเรา ในภูมิภาคนี้ ได้แก่ เวียดนาม จีน อินเดีย ประเทศเหล่านี้ มีค่าเงินเทียบกับเงินดอลลาร์ไม่แข็งค่าเท่ากับเงินบาท
"เราไม่ได้ห่วงว่าบาทแข็งไม่แข็ง แต่เราห่วงว่าคู่แข่งเราแข็งด้วยหรือเปล่า ถ้าคู่แข่งแข็งไปกับเราก็ไม่มีปัญหา ...ใครๆก็บอกว่าดอลลาร์อ่อน ถ้าดอลลาร์อ่อนจริง ทำไมค่าเงินของเราแข็งค่ามากกว่าประเทศอื่น ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาหลักในปีนี้อยู่แล้ว" นายธีรพงศ์กล่าว
อย่างไรก็ดี TUF พยายามเพิ่มผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ เพิ่มคุณภาพสินค้า เพื่อเพิ่มรายได้ ขณะเดียวกันก็เร่งปรับลดค่าใช้จ่าย รวมทั้งกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมต่อไป ทั้งในการขยายฐานการผลิตต่างๆ โดยขณะนี้อยุ่ระหว่างการพิจารณาลงทุนในเวียดนาม จากปัจจุบันมีโรงงานที่อินโดนีเซีย ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ภาคเอกชนออกไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น
"เราก็คงต้องดูและกระจายความเสี่ยง...เราก็ดูเวียดนาม อย่างใกล้ชิด เพราะเวียดนามมีศักยภาพในการแข่งขันสูงมาก โดยเฉพาะเรื่องค่าเงิน เรายังไม่ชัดเจนในการลงทุนเวียดนาม ซึ่งเรายังดูอยู่ ยังตอบตอนนี้ไม่ได้ ถ้าเงินบาทยังแข็งขึ้นเรื่อยๆ ผมคิดว่าคงจะได้เห็นปีหน้า" นายธีรพงศ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปีหน้าบริษัทก็ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องจำนวนเงินลงทุนประมาณ 1.0-1.2 พันล้านบาท เพื่อขยายกำลังการผลิต และปรับปรุงการผลิต ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ยังให้คำตอบไม่ได้ เพราะว่า ยังไม่มีโอกาส และยังไม่รู้มูลค่าการลงทุน แต่ถ้าดูฐานะการเงินของบริษัทก็พร้อมในเรื่องการลงทุน โดยปัจจุบันมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน(D/E)อยู่ที่ 0.7 เท่า และมีกระแสเงินสด ประมาณ 1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามบริษัทพยายามหาช่องทางลงทุนใหม่ๆ
*ผลประกอบการ Q4/50 โตกว่า Q3/50
นายธีรพงศ์ คาดว่า รายได้และกำไรในไตรมาส 4/50 จะสูงกว่าในไตรมาส 3/50 ตามฤดูกาลขายปกติของทุกปี และราคาปลาทูน่า ซึ่งเป็นวัตถุดิบลดลงจากไตรมาส 3/50 ที่ราคาปลาทูน่าปรับตัวขึ้นสูงสุดถึงตันละ 1,600 เหรียญ/ตัน แต่ขณะนี้ได้ปรับลงมาที่ประมาณ 1,450 เหรียญ/ตันแล้ว เชื่อว่าจะมีอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้น
"ไตรมาส 4 มียอดขายที่แข็งแกร่ง เชื่อว่าไตรมาส 4 ต้องดีกว่าไตรมาส 3 ทั้งรายได้และกำไร"นายธีรพงศ์ กล่าว
ในไตรมาส 3/50 มียอดขาย 13,723.6 ล้านบาท(อัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ย 34.08 บาท/ดอลลาร์)กำไรสุทธิ 422.4 ล้านบาท อัตรากำไรขั้นต้น 13.4%
นายธีรพงศ์ คาดว่า ทั้งปี 50 กำไรสุทธิจะดีกว่าปีที่แล้ว และอัตรากำไรขั้นต้นน่าจะอยู่ที่ประมาณ 14% เป็นผลจากการลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอย่างมีนัยสำคัญ แต่ยังต่ำกว่าปีก่อนที่มีอัตรากำไรขั้นต้น 15.30%
ส่วนยอดขายในปี 50 ในรูปเงินดอลลาร์ ยังคงเป้าหมายเดิมที่โต 8% จากปีก่อน แต่ในรูปเงินบาทคงจะใกล้เคียงกับปีก่อน 55,038.5 ล้านบาท
งวด 9 เดือนแรกของปี 50 ยอดขายในรูปเงินบาทอยู่ที่ 40,254 ล้านบาท ลดลง 3.10% จากปีก่อนในงวดเดียวกัน กำไรสุทธิ 1,380 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 0.79% จากปีก่อน โดยอัตราแลกเปลี่ยนเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น 9.16% จาก 38.2 บาท/ดอลลาร์ในปี 49 มาอยู่ที่ 34.7 บาท/ดอลลาร์
ทั้งนี้ ตลาดส่งออก ได้แก่ ตลาดสหรัฐยังคงเป็นตลาดหลัก นอกจากนั้นเป็นญี่ปุ่น ยุโรป แอฟริกา เอเชีย(ยกเว้นญี่ปุ่น) โดยสินค้าหลักของบริษัทได้แก่ ทูน่า 50% กู้งแช่แข็ง 20% ที่เหลือเป็นอาหารทะเลกระป๋อง และอาหารเลี้ยงกุ้ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ