SNC เผยหุ้น PO 100 ล้านหุ้นเข้าเทรดวันแรก, คาดรายได้แตะหมื่นลบ.ในปี 52

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday December 12, 2007 10:30 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายสมชัย ไทยสงวนวรกุล ประธานกรรมการบริหาร บมจ. เอส เอ็น ซี ฟอร์เมอร์ (SNC) กล่าวว่า บริษัทฯ ได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนขายให้กับประชาชนทั่วไป (PO) จำนวน 100 ล้านหุ้นในราคาหุ้นละ 12.30 บาท ซึ่งถือเป็นราคาที่มีส่วนลดให้กับนักลงทุน 5.4% โดยพิจารณาจากราคาปิด ณ วันที่ 29 พ.ย. 2550 ซึ่งราคาอยู่ที่ 13.00 บาท
"หุ้น SNC จำนวน 100 ล้านหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันที่ 12 ธันวาคม 2550" นายสมชัย กล่าว
ทั้งนี้ SNC ได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 100 ล้านหุ้นให้กับบริษัทเอเชีย อินเวสเม้นท์ พาร์ทเนอร์สจำนวน 40 ล้านหุ้น เพื่อการลงทุนโดยมีกองทุน ลอมบาร์ค เอเชีย(Lombard Asia) เป็นผู้ถือครองหุ้นทั้งหมดของบริษัท และกองทุนนี้มีขนาดประมาณ 230 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมีนโยบายการลงทุนในระยะยาวในบริษัทที่มีการเจริญเติบโตและบรรษัทภิบาลที่ดี
ส่วนที่เหลือจำนวน 50 ล้านหุ้น จัดสรรหุ้นให้กับกองทุนในและต่างประเทศ และอีก 10 ล้านหุ้นให้กับนักลงทุนรายย่อย
สำหรับเม็ดเงินที่ได้จากการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้ ประมาณ 1,230 ล้านบาทนั้น บริษัทจะนำไปใช้ในการขยายกำลังการผลิตประมาณ 500 ล้านบาท เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อใช้ในการขยายธุรกิจในอนาคต 450 ล้านบาท และที่เหลือบริษัทจะนำไปใช้ในการชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน โดยการลงทุนเพิ่มและการขยายการผลิตนั้นจะทำให้โครงสร้างทางการเงินของบริษัทดีขึ้น ความสามารถในการสร้างรายได้ในอนาคตปรับเพิ่มขึ้น
นายสมชัย กล่าวว่า หลังจากบริษัทได้รับเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุน 100 ล้านหุ้น แล้วจะนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้หนี้ ซึ่งทำให้ D/E ลดลงมาอยู่ที่ 0.5 เท่าจากปัจจุบันอยู่ที่ 2 เท่า ช่วยเพิ่มความแข็งแกร่งทางการเงิน ส่วนผลการดำเนินงานของบริษัทในปีหน้านั้นได้วางเป้าเติบโต 100% หรือที่ 7,000 ล้านบาท และจะขยายตัวอย่างต่อเนื่องอีก
ส่วนในปี 2552 คาดว่าจะทำได้ประมาณ 10,000 ล้านบาท และหากในอนาคตบริษัทยังคงมีอัตราการเติบโตที่ต่อเนื่องจะใช้การกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงิน เนื่องจากตอนนี้มี D/E ที่ต่ำเพื่อให้สอดคล้องกับฐานรายได้ที่ขยายตัวมากขึ้น ทั้งจากธุรกิจผลิตชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศรวมถึงการรับจ้างผลิตแบบOEM
นอกจากนี้บริษัทยังมีเป้าหมายในการรักษา Net Profit Margin ให้ได้ในระดับ 6-7% ในปีนี้และต่อเนื่องไปในปีหน้าด้วย จากการควบคุมต้นทุนบริหารจัดการการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้ง การที่บริษัทสามารถผลิตสินคาได้จำนวนมาก ทำให้มีอำนาจในการต่อรองกับซับพลายเออร์เพิ่มขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ