นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีวิลเอนจีเนียริง (CIVIL) เปิดเผยว่า ล่าสุดบริษัทเซ็นสัญญาเข้ารับงานบริหารโครงการก่อสร้างกับหน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบท รวมจำนวน 3 โครงการ มูลค่างานรวมกันกว่า 2 พันล้านบาท
โดยงานใหม่ดังกล่าว ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 82 สายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บางแพ้ว ตอน 8 ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการทางหลวงพิเศษ สายบางขุนเทียน-ปากท่อ ภายใต้แผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี ในปี 60-79 ของกรมทางหลวง มีแนวเชื่อมต่อกับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 ? ดาวคะนอง ? วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก บริเวณด่านบางขุนเทียนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)
บริษัทได้เข้าบริหารโครงการก่อสร้างสายทางยกระดับบางขุนเทียน-บ้านแพ้ว ช่วงเอกชัย-บ้านแพ้ว ตอน 8 ช่วง กม.31+207-33 ระยะทาง 2.159 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 1,080 วัน มูลค่า 1.91 พันล้านบาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับบนทางหลวงหมายเลข 35 ขนาด 6 ช่องจราจร และก่อสร้างปรับปรุง ขยายผิวจราจรเดิมรวมถึงงานระบบระบายน้ำและบ่อพัก งานไฟฟ้าแสงสว่าง งานป้ายจราจรและอุปกรณ์อำนวยความสะดวกด้านความปลอดภัย เติมเต็มโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระหว่างกรุงเทพฯและปริมณฑลเพิ่มศักยภาพด้านคมนาคมในการขนส่งทางถนนและการเดินทางเชื่อมต่อไปภาคใต้ รองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจ สังคมและการท่องเที่ยว
ขณะเดียวกันบริษัทได้เข้าบริหารโครงการก่อสร้างทางหลวงชนบทเพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยว ถนนสาย บ.หาดสำราญ-ตะเสะ (ตอนที่2) อ.หาดสำราญ จังหวัดตรัง ระยะทาง 5.92 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค.-21 ส.ค. 65 มูลค่างานก่อสร้าง 34.5 ล้านบาท เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมสายหลักที่สำคัญของจังหวัด เชื่อมโยงการเดินทางไปแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและสนับสนุนการเติบโตอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดตรัง ที่มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ
นอกจากนี้ยั งเข้าบริหารโครงการก่อสร้างถนนยางแอสฟัลติกคอนกรีต สาย อย.4055 แยกทางหลวงหมายเลข 3267-บ้านตาลเอน อ.มหาราช จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ระยะทาง 4.075 กิโลเมตร ระยะเวลาก่อสร้าง 210 วัน มูลค่างาน 45 ล้านบาท เพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมเดินทางของประชาชนในพื้นและจังหวัดใกล้เคียงให้ได้รับความสะดวกสบายจากการใช้เส้นทางดังกล่าว
CIVIL ได้นำเทคโนโลยีก่อสร้าง ทีมบุคลากรที่มีความชำนาญในวิศวกรรมโยธา เครื่องจักรอุปกรณ์สมัยใหม่และโรงงานผลิตชิ้นส่วนวัสดุก่อสร้าง เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการทั้ง 3 โครงการให้มีประสิทธิภาพสูงสุด ช่วยให้ประชาชนสามารถใช้เป็นเส้นทางคมนาคมเชื่อมต่อการเดินทางและขนส่งสินค้าได้อย่างสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และการเข้ารับงานครั้งนี้ทำให้บริษัทมีมูลค่าสัญญางานก่อสร้างที่รอส่งมอบ (Backlog) เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 64 ที่มีอยู่ 1.68 หมื่นล้านบาท ซึ่งบางส่วนจะเริ่มทยอยส่งมอบงานโครงการก่อสร้างภายในปี 65 ที่จะช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานเติบโตอย่างต่อเนื่อง
"บริษัทมุ่งนำข้อได้เปรียบเชิงการแข่งขันในฐานะผู้นำด้านงานก่อสร้างและวิศวกรรมโยธาที่ครบวงจร ใช้เทคโนโลยีช่วยเพิ่มศักยภาพการดำเนินธุรกิจ เพิ่มโอกาสเข้ารับงานบริหารโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมภาครัฐ เชื่อมโยงโครงข่ายด้านคมนาคมและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืน"นายปิยะดิษฐ์ กล่าว